Loading...

ธรรมศาสตร์ จับมือ โซลาร์ตรอน เปิด ‘ศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานสะอาด’

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมมือ บมจ.โซลาร์ตรอน ตั้งศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานสะอาดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนความยั่งยืน

วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2567

     เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) จัดพิธีเปิด “ศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานสะอาดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยได้ปรับปรุงห้อง บริเวณชั้น 1 อาคารโดมบริหาร เพื่อเป็นห้องสำหรับดำเนินโครงการส่งเสริมการศึกษาและการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานสะอาดแก่ประชาคมธรรมศาสตร์ ประชาชนทั่วไป และผู้ที่สนใจ ได้มีโอกาสศึกษาเพิ่มความเข้าใจในองค์ความรู้และความสำคัญของการขับเคลื่อนความยั่งยืน การปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงในสภาวะโลกร้อน ด้วยการลดการปลดปล่อยคาร์บอน ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานสะอาด

     โดยได้รับเกียรติจาก คุณปัทมา วงศ์ถ้วยทอง รองประธานกรรมการบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานสะอาดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ รศ.โรจน์ คุณเอนก รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา และ รศ.ดร.พวงผกา คงวัฒนานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ เข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งมั่นพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนตาม SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย โดยมีการดำเนินการในทุกมิติเพื่อก่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม ‘หนึ่งในภารกิจ’ ที่ธรรมศาสตร์ตระหนักและให้ความสำคัญ คือ การดำเนินงานและกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถลดการเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ภายในชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และภาวะโลกร้อน (Global Warming) เพื่อเป็นต้นแบบของแนวทางการพัฒนาสู่การเป็น 'เมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืน"

     ซึ่งที่ผ่านมานั้น สามารถลดปริมาณการเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 21,000 ตันต่อปี สำหรับการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เพื่อลดสัดส่วนการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล โดยปัจจุบัน ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จากการติดตั้งระบบ SOLAR ROOFTOR ENERGY บนหลังคาอาคาร ซึ่งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้คิดเป็น 10% ของปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้ารวมของมหาวิทยาลัย และเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นในทุกปี รวมถึงการให้บริการรถบริการภายในพื้นทีมหาวิทยาลัยสำหรับประชาคมและรถสวัสดิการรับ - ส่งบุคลากร ได้เปลี่ยนจากรถที่ขับเคลื่อนโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (NGV) มาเป็น EV Shuttle Bus และ EV Bus ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100%

     ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับประกาศ (Letter of Recognition: LOR) โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme: LESS) โดย องค์การบริหารจัดการก๊าชเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจากการจัดอันดับความสำเร็จของสถาบันอุดมศึกษาในการดำเนินการตามเป้าหมายของ UN's SDGS ในปีที่ผ่านมา โดย The Times Higher Education (THE) Impact Rankings มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการจัดอันดับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยคะแนนรวม 87.2 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 101 - 200 จาก 1,591 สถาบันทั่วโลก

     “เป็นความสำเร็จที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยากบอกเล่าให้ทุกท่านได้ร่วมกันภาคภูมิใจ เพราะสิ่งเหล่านี้มิอาจจะเกิดขึ้นได้หากขาดความตั้งใจที่ดีความร่วมมือที่เข้มแข็ง และการสนับสนุนด้วยศักยภาพที่เต็มเปี่ยมของทุกฝ่ายในมหาวิทยาลัย” รศ.เกศินี กล่าว