Loading...

หมอธรรมศาสตร์ แนะวิธีฟื้นฟูจิตใจ 13 ชีวิตทีมฟุตบอลหมูป่า

จิตแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะวิธีดูแลฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กๆ และโค้ช ทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย ที่เข้าไปติดอยู่ภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย

วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2561

          จากกรณีข่าวใหญ่ที่คนไทยและคนทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมากกับภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิต ทีมฟุตบอลหมูป่าที่เข้าไปติดอยู่ภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยทั้งหมดเข้าไปติดอยู่ในถ้ำลึกเป็นเวลากว่า 9 วัน โดยมีกำลังจากเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย ทั้งทหาร หน่วยกู้ภัย นักดำน้ำ ทีมขุดเจาะ ทีมไฟฟ้าและอีกหลาย ๆ ทีมของทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาช่วยกันค้นหาจนกระทั่งพบทั้ง 13 ชีวิตในสภาพที่ปลอดภัย และนำตัวออกมาได้ครบทุกคนแล้วนั้น แต่ที่ยังน่าเป็นห่วงนอกเหนือจากสภาพร่างกายแล้ว สภาพจิตใจก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน

          เมื่อออกจากถ้ำได้แล้ว เด็กและโค้ชทั้ง 13 ชีวิตจะต้องรับมืออย่างไรเมื่อกลายเป็นคนดัง เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากเหตุการณ์ติดถ้ำในครั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงศุภรา เชาว์ปรีชา อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้คำแนะนำว่า “ประเด็นที่สำคัญในการปรับตัว คือ สำหรับตัวเด็กเมื่อออกจากถ้ำแล้ว เขาน่าจะตกใจกับภาพข่าวการที่คนรู้จักเขาไปทั่วโลก และการที่จะมีคนมารุมถามข้อมูลทั้งจากสื่อมวลชนหรือครอบครัว เครือญาติเอง จะเกิดการซักถาม อยากทราบข้อมูล อยากให้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในถ้ำ ซึ่งการที่เด็กและโค้ชที่เคยเป็นคนธรรมดา กลายเป็นที่จับตามองนั้น สามารถมองได้ 2 แง่ คือ แง่หนึ่งเขาอาจจะรู้สึกดี ขอบคุณที่ทุกคนเป็นห่วง แต่อีกแง่ที่น่าเป็นห่วงคือ คนที่รู้จักเขาแล้วอาจจะไปซักถามเขาเกี่ยวกับประสบการณ์ หรือปรากฏการณ์ที่เขาเจอในถ้ำ ซึ่งตรงนี้เราต้องระมัดระวังมากว่าเด็กจะต้องปรับตัว ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าเด็กแต่ละคนมีประสบการณ์อย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเขาออกมาแล้วเจอคนที่ตั้งคำถามซึ่งมันอาจจะไปกระตุ้นให้กลับไปคิดถึงประสบการณ์ความยากลำบากในถ้ำ แล้วเขารู้สึกไม่ดี ก็อาจจะทำให้เขารู้สึกเครียดได้ ซึ่งหากร้ายแรงก็อาจจะเกิดเป็นโรคเครียดภายหลังเกิดภยันอันตรายหรือ Post-traumatic stress disorder  (PTSD) ได้ ”

          ผศ.พญ.ศุภรา กล่าวเพิ่มเติมว่า “โรคเครียดภายหลังเกิดภยันอันตราย เกิดจากการที่เราไปเจอเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะคุกคามถึงชีวิต แม้เวลาจะผ่านไป แต่ผู้ประสบภัยก็ยังคงคิดถึงเหตุการณ์นั้นอยู่ ซึ่งจะมีอาการ เช่น ตกใจ เหงื่อแตก หวาดผวา ฝันร้าย หรือเห็นเป็นภาพ flashback (รำลึกถึงภาพเหตุการณ์ในขณะนั้น) แต่มันไม่ได้เกิดกับทุกคนที่เผชิญเหตุการณ์ ขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของแต่ละคน แต่สำหรับคนที่สภาพจิตใจเข้มแข็งดี การให้เขาได้เล่า ก็อาจจะช่วยทำให้เขาได้เรียบเรียงเรื่องราว ซึ่งจะทำให้เขาเข้าใจประสบการณ์ชีวิตของตัวเองมากขึ้น ในกรณีนี้ก็จะไม่เป็นอันตราย แต่ทางที่ดีคือ เราควรประเมินจากตัวเด็กเป็นหลักว่า เขามีความพร้อมแค่ไหน มากกว่าที่จะเอาคำถามไปถามเขา หรือพยายามให้เขาเล่า โดยที่ไม่ได้ประเมินสภาพจิตใจของเขาก่อน ควรพิจารณาเป็นรายบุคคลไป เพราะประสบการณ์แต่ละคนไม่เท่ากัน การรับรู้มันแตกต่างกันแม้ว่าจะเผชิญสถานการณ์เดียวกันก็ตาม

          “ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็ก คือ พ่อแม่ ผู้ปกครองและคนใกล้ชิด โดยมีขั้นตอนคือ ปลอบขวัญเด็กๆ เมื่อออกจากถ้ำได้แล้ว หลังจากนั้นเริ่มต้นด้วย การใช้ชีวิตแบบ Here and Now (ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน) พยายามทำให้เด็ก ๆ กลับมาใช้ชีวิตประจำวันแบบปกติ แต่ถ้าหากเขามีความพร้อม หรืออยากจะเล่าถึงเหตุการณ์ที่ประสบมา พ่อแม่จึงค่อย ๆ พยายามใส่เนื้อหาที่มันเป็นเชิงบวกเข้าไป แบบนี้จะเป็นการช่วยเขาได้ดีที่สุดในช่วงแรก แล้วจากนั้นจึงคอยสังเกตอาการ เช่น ซึมเศร้า นอนไม่หลับ หากมีอาการผิดปกติเช่นนี้ถึงค่อยมาประเมินรายละเอียดแล้วค่อยรับการรักษาต่อไป” ผศ.พญ.ศุภรา กล่าวทิ้งท้าย