Loading...

9 มีนาคม 2563 รำลึก 104 ปีชาตกาล “ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์”

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานวันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระลึกถึงคุณความดีของท่าน พร้อมกิจกรรมปาฐกถา ในหัวข้อ “นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย”

วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2563

  

          9 มีนาคม 2459 คือวันเกิดของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และในปี 2563 นี้ถือว่าครบ 104 ปีชาตกาลของท่านด้วย ชวนอ่านประวัติของท่านไปพร้อมกัน

          “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” เกิดและเติบโตมาในครอบครัวเชื้อสายจีน เข้าเรียนเป็นนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในปี 2477 ต่อมาได้ทุนศึกษาต่อปริญญาตรี ที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน มหาวิทยาลัยลอนดอน ต่อมาได้รับทุนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่ในระหว่างนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านจึงร่วมตั้งคณะเสรีไทยในประเทศอังกฤษ และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในช่วงเวลานั้น

          ในช่วงปี พ.ศ. 2496 ท่านเข้ารับตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และมีส่วนในการกู้เสถียรภาพให้แก่เศรษฐกิจไทยอย่างมาก แม้รับตำแหน่งอยู่ได้ไม่นาน แต่ก็แสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมให้ปรากฏอย่างน่านับถือ จนทำให้ต้องออกไปรับราชการอยู่ต่างประเทศอยู่ถึง 3 ปี กระทั่งในปี พ.ศ. 2502 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการธนาคารไทย การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และผลักดันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จนกลายเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศมาจนถึงทุกวันนี้

          ในด้านการศึกษา ปี พ.ศ. 2507 ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย เข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมุ่งพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาจนคณะเติบโตขึ้นอย่างยิ่ง ท่านได้รับการเสนอให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเสมอ แต่ก็ปฏิเสธเรื่อยมาเพราะไม่ใช่ความตั้งใจหลักในชีวิต ในปี พ.ศ. 2508 ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาการทำงานในภาครัฐ พร้อมคำประกาศเกียรติคุณว่า “เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางที่มีความสามารถดีเด่นคนหนึ่งของโลก... การกระทำของนายป๋วยยังเป็นแรงบันดาลใจ สำหรับข้าราชการผู้ขยันขันแข็ง นายป๋วยผู้ถือได้ว่า ความเรียบง่าย คือความงาม และความชื่อสัตย์สุจริต คือคุณความดีสูงสุดของชีวิตข้าราชการ...”

          นอกจากนี้ ท่านยังสนใจงานพัฒนาชนบท เช่น ร่วมก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในปี 2510 และก่อตั้งโครงการบัณฑิตอาสาสมัครในปี 2512 ซึ่งยกระดับเป็นวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในปัจจุบัน

          กระทั่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ท่านได้เข้าดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับว่าเป็นศิษย์ธรรมศาสตร์คนแรกที่มาเป็นอธิการบดี และเป็นผู้ริเริ่มให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขยายไปยังรังสิต ขยายการเรียนการสอนไปในทางวิทยาศาสตร์ และเริ่มโครงการรับนักเรียนเรียนดีจากชนบท หรือโครงการช้างเผือก พร้อมให้คณะต่าง ๆ จัดทำโครงการที่สร้างประโยชน์แก่สังคม

          ในปี พ.ศ. 2519 ที่ความขัดแย้งในประเทศไทยนั้นรุนแรงขึ้น ท่านจำเป็นต้องเดินทางออกจากประเทศไทยเนื่องจากคนบางกลุ่มกำลังไล่ล่าท่าน แต่ถึงกระนั้นยามอยู่ที่อื่น ท่านก็ยังพยายามทำทุกวิถีทาง และยืนหยัด ด้วยความหวังจะให้ประเทศไทยได้เกิดประชาธิปไตยโดยสันติวิธี ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ท่านก็ล้มป่วยลงด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก ทำให้พูดไม่ได้ และใช้มือขวาไม่ได้อีก ต้องอยู่ในความเงียบถึง 22 ปี

          ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถึงแก่อนิจกรรมที่บ้าน ณ ชานกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เนื่องจากเส้นโลหิตใหญ่ในช่องท้องโป่งแตก รวมอายุได้ 83 ปี

          เนื่องในโอกาสพิเศษในปีนี้ครบรอบ 104 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงได้จัดงานเพื่อระลึกถึงคุณความดีของท่านขึ้น ณ อาคารอุทยานเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี โดยมีพิธีทำบุญตักบาตร และกิจกรรมปาฐกถา ในหัวข้อ “นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย” โดย ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการผู้มีบทบาทด้านประวัติศาสตร์และการเมืองของไทย และศาสตราภิชานภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซินแมดิสัน สหรัฐอเมริกา โดยมีสาระสำคัญจากปาฐกถาครั้งนี้ใจความตอนหนึ่งว่า “...ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นามนี้หมายถึงความซื่อสัตย์ เรามักเข้าใจว่าความซื่อสัตย์ของท่านหมายถึงการไม่โกงกิน แต่ความซื่อสัตย์ของท่านที่เราไม่ค่อยพูดถึงกันนักคือ การไม่ทรยศหลักการที่ท่านยึดถือ ท่านยอมงอไม่ได้ ขอ “อยู่ไม่เป็น” ดีกว่า ถึงแม้ว่าจะทำให้ท่านอยู่ไม่ได้ก็ตาม ความสัตย์ประเภทนี้ต้องมีศรัทธาและมีความกล้าหาญที่จะรับผลของการไม่ยอมงอ ท่านคงปฏิเสธคำวิจารณ์ในหลายเรื่องไม่ได้เพราะท่านเป็นมนุษย์ปกติที่มีข้อดีข้ออ่อน แต่คงไม่มีสงสัยในความกล้าหาญของท่านที่จะไม่ยอมงอในยามวิกฤต...”