Loading...

เศรษฐศาสตร์ จัด “ECON Symposium 2019” เปิดเวทีแนะทางออกนวัตกรรมพลิกโลก

เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2562 “ECON Symposium 2019” หัวข้อ “นวัตกรรมพลิกโลก: การเปลี่ยนผ่านและความท้าทายของประเทศไทย”

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ.2562

          คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2562 “ECON Symposium 2019” ในหัวข้อ “นวัตกรรมพลิกโลก: การเปลี่ยนผ่านและความท้าทายของประเทศไทย” เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7 อาคาร B ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ โดยภายในงาน รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาธรรมศาสตร์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และได้รับเกียรติจาก ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมแสดงปาฐกถาพิเศษในโอกาสนี้ด้วย ซึ่งภายในงานจะมีการนำเสนอบทความวิจัยจากคณาจารย์ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ พลิกโลก (disruptive technology) เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แก่สังคมเพื่อเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งร่วมกำหนดทิศทางในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ

          นอกจากนี้ในช่วงท้ายของการสัมมนามีวงเสวนา “นวัตกรรมพลิกโลก: การเปลี่ยนผ่านและความท้าทายของประเทศไทย” โดย รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต กรรมการ และ Head of Innovation and Research Development Institute กลุ่มมิตรผล รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ดำเนินการเสวนา โดย รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมกันถกและ ร่วมหาข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์กับผู้เข้าฟังและผู้กำหนดนโยบายอีกด้วย

          รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เชื่อว่าทุกท่านในที่นี้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบ ต่อทุก ๆ ภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาครัฐ ประชาชนทั่วไป รวมไปถึงภาคการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัย สิ่งที่ยังเป็นประเด็นถกเถียงและคิดว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะได้ข้อยุติ ในเร็ววัน คือ เราจะอยู่กับเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างไร อะไรคือสิ่งที่เราควรทำ เรื่องใดที่ควรเรียนรู้เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และอะไรคือสิ่งที่เราต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้

          ดังนั้นประเด็นการสัมมนาที่คณะเศรษฐศาสตร์กำหนดขึ้นสำหรับงานวันนี้จึงเป็นเรื่องที่อยู่ ในความสนใจ เป็นคุณูปการทางวิชาการและสังคมในวงกว้าง ทั้งยังสอดคล้องกับทิศทางของมหาวิทยาลัยที่ต้องการให้ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย ซึ่งมีการบูรณาการ การทำวิจัยเพื่อขยายพรมแดนความรู้กับการนำเอาองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ในการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากองค์ความรู้ล่าสุด สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน

          วันนี้เรากำลังเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (industry 4.0) ที่ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร หรือ ICT การเข้ามาของอินเทอร์เน็ตในทุกอย่าง หรือ Internet of things ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ระบบอัตโนมัติ (Automation) และระบบ Cloud Computing สิ่งเหล่านี้แม้ทำให้ชีวิตเราได้รับความสะดวกสบาย ช่วยลดต้นทุนการเข้าถึงข้อมูลอย่างมหาศาล และเปิดโอกาสให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ แต่ในอีกด้านหนึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีหลายมิติที่เราต้องให้ความระมัดระวัง อาทิ ประเด็นความพร้อมที่จะรับมือกับการตักตวงผลประโยชน์ที่ไม่เท่ากันของคนแต่ละกลุ่ม การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ก้าวไปข้างหน้าทิ้งคนจำนวนไม่น้อยอยู่ข้างหลังหรือตกขบวนจากการพัฒนา เรื่องดังกล่าวถ้าไม่ได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบอาจนำไปสู่ปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจได้ การเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Commerce รวมไปถึงการซื้อขายสินค้าที่จับ ต้องไม่ได้ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งความท้าทายที่เราจำเป็นต้องระมัดระวัง เพราะการเข้าถึงข้อมูล เป็นเรื่องที่ยากลำบากมากขึ้นกว่าเดิมที่สินค้ามีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ชัดเจนและการติดตาม ตรวจสอบง่ายกว่าโดยเปรียบเทียบ วิธีการปฏิบัติที่เหมาะสม เป็นธรรมและเป็นสากลกับทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภคเป็นความท้าทายที่สำคัญ

          นอกจากนั้น ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีดังกล่าว มหาวิทยาลัยก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับ ผลกระทบเช่นกัน ทำให้ต้องปรับตัวทั้งวิธีการเรียนการสอน การแสวงหาองค์ความรู้ และภาย ให้บริการวิชาการแก่สังคม เพื่อให้คนของเรามีความพร้อม รู้เท่าทัน และอยู่ได้อย่างเหมาะสม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการขับเคลื่อนประเทศชาติไปสู่ยุค 4.0

          ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ จึงไม่จำกัดอยู่แค่การเตรียมระบบสาธารณูปโภค พื้นฐาน เช่น ถนน รถไฟความเร็วสูง ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่ยังรวมถึงการเตรียมความ พร้อมในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสังคม เช่น ระบบการศึกษา ระบบประกันสุขภาพ ระบบสวัสดิการกับผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และความพร้อม ทางด้านกฎหมายให้มีความเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก สิ่งเหล่านี้เป็นความความท้าทายที่ เราต้องบริหารจัดการเพื่อให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนในยุคของเทคโนโลยีพลิกโลกอย่างในปัจจุบัน การวิจัยเชิงลึกที่มีมิติของนโยบายสาธารณะอย่างที่ทางคณะเศรษฐศาสตร์ดำเนินการอยู่ จะเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ให้แก่สังคม ที่สามารถนำไปแลกเปลี่ยน ต่อยอด และช่วยให้สังคมมีความพร้อมกับการก้าวไปข้างหน้าด้วยกันมากขึ้น รศ.เกศินี กล่าวทิ้งท้าย

           รศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า งานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2562 หรือ Symposium ของ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 41 แล้ว ซึ่งทางคณะมีความภูมิใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นคณะเศรษฐศาสตร์ แห่งเดียวในประเทศไทยที่มีการจัดงานสัมมนาวิชาการอย่างยาวนานและต่อเนื่องมาถึง 41 ปี โดยการจัดงานสัมมนามีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อนำเสนอบทความวิจัยของคณาจารย์ในคณะฯ ในหัวข้อที่มีความสำคัญ และมีส่วนในการกำหนดทิศทางในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ

           หัวข้อของการจัดงานในวันนี้ คือ นวัตกรรมพลิกโลก: การเปลี่ยนผ่านและความท้าทาย ของประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวทุกคน เนื่องจากทุกวันนี้เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านขนาด ความเร็ว และขอบเขต จนเราทั้งหลายเชื่อว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ พลิกโลก (disruptive technology) ด้วยเหตุนี้ ทางคณะฯ จึงเลือกประเด็นนี้มาเป็นหัวข้อในงานสัมมนาวิชาการครั้งนี้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แก่สังคมเพื่อเตรียมตัวทั้งการแสวงหาประโยชน์จากโอกาสที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว การเตรียมตัวรับมือกับ ผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้น และที่สำคัญก็คือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของภาครัฐและ เอกชนที่เหมาะสม ภายใต้การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็วเช่นนี้

          งานสัมมนาในวันนี้ประกอบไปด้วย 5 บทความ บทความแรก การเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีและการเพิ่มผลิตภาพของเศรษฐกิจไทย โดย ศ.ดร.ศุภวัจน์ รุ่งสุริยะวิบูลย์และ อ.ดร.รุ่งนภา โอภาสปัญญาสาร เพื่อให้ภาพเชิงลึกว่าการเติบโตผลิตภาพของไทยที่ผ่านมาในช่วงกว่า 20 ปีถูกขับเคลื่อนด้วยอะไร และวันนี้ภาคเกษตรของไทยตักตวงประโยชน์จากเทคโนโลยีพลิก โลกได้มากน้อยเพียงโต

          บทความถัดมา คือ นโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์และการเปลี่ยนผ่าน สู่ New S-Curve โดย รศ.ดร.เกรียงไกร เตชกานนท์ ที่มองย้อนประสบการณ์การพัฒนาของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยทั้งมิติทางด้านนโยบาย มิติทางด้านพื้นที่ และมิติทางด้านเทคโนโลยีเพื่อประเมินทิศทางของนโยบายที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC 

           บทความที่สาม การส่งเสริมนวัตกรรมในภาคบริการ โดย รศ.ดร.พีระ เจริญพร บทความนี้เจาะลึกว่าการใช้นวัตกรรมของภาคบริการไทยที่หลาย ๆ ฝ่ายคาดหวังให้เป็นกลจักรใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย วันนี้ภาคบริการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมมากน้อยเพียงใด และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในภาคบริการมีความเหมือนหรือต่างจากภาคอุตสาหกรรม

           บทความที่สี่ การแข่งขันในแพลตฟอร์มหลายมิติในประเทศไทย: E-commerce โดย ผศ.ดร.ภูรี สิรสุนทร วันนี้ e-Commerce ซึ่งเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นผลโดยตรงจากเทคโนโลยีพลิกโลก กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว บทความนี้เจาะลึกถึงโครงสร้างตลาดและการแข่งขันในธุรกิจนี้ และ วิเคราะห์เชิงลึกว่าการแข่งขันในธุรกิจนี้จะเป็นในลักษณะผู้ชนะได้ทุกสิ่ง หรือ Winner takes all และไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ จริงหรือไม่ จากการที่ธุรกิจ E-Commerce มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วสิ่งที่ยังคงเป็นคำถามใหญ่ในระดับนโยบาย คือ เราจะกำกับดูแลธุรกรรม E-Commerce อย่างไรเพื่อให้เราไม่เสียโอกาสที่จะ เข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจดังกล่าวในขณะที่ผู้บริโภคไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

          บทความสุดท้าย ความท้าทายของกรรมสิทธิ์และสัญญาในห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โดย ดร.ศุพฤฒิ ถาวรยุติการต์ จะหยิบยกความท้าทายทางด้านกฎหมายที่เกิดจากเทคโนโลยีพลิกโลกในธุรกิจ E-Commerce ทั้งในส่วนของปัญหาที่เกิดจากสินค้าและบริการที่จับต้องได้และสินค้าไม่มีตัวตน หรือสินค้าเสมือน

          ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถรับชมการถ่ายทอดสดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2562 “ECON Symposium 2019” ในหัวข้อ “นวัตกรรมพลิกโลก: การเปลี่ยนผ่านและความท้าทายของประเทศไทย” ได้ที่
          YouTube Channel : EconTU Official
          นวัตกรรมพลิกโลก : การเปลี่ยนผ่านและความท้าทายของประเทศไทย #1 [ช่วงเช้า] : https://youtu.be/UNUATf9soh8
          นวัตกรรมพลิกโลก : การเปลี่ยนผ่านและความท้าทายของประเทศไทย #2 [ช่วงบ่าย] : https://youtu.be/sGeCQCSMf0U
          และสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการสัมมนาได้ที่ http://www.symposium.econ.tu.ac.th/