Loading...

5 นวัตกรรมเพื่อสังคมโลกที่นักวิจัยธรรมศาสตร์ไม่เคยหยุดคิดค้น

นักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนในแต่ละพื้นที่ที่มีปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกันไป ตามความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยที่แท้จริง

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2561

           หากพูดถึงความแตกต่างในด้านภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ชาติพันธุ์ของประชากร วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ส่งผลให้ปัญหาที่เกิดขึ้นและความต้องการของประชากรในแต่ละพื้นที่ย่อมแตกต่างกันออกไป หรืออาจกล่าวได้ว่าคนในอาเซียนย่อมพบเจอปัญหาและมีความต้องการที่แตกต่างไปจากคนในยุโรป โจทย์เหล่านี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เหล่า นักวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” คิดค้นพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการของผู้คนในแต่ละพื้นที่ให้มากที่สุด

  • นวัตกรรมยกระดับการคมนาคม

“สมาร์ท ไบค์ มิเตอร์ นวัตกรรมยกระดับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง”

ภาควิชาวิศวกรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์

          “สมาร์ท ไบค์ มิเตอร์” นวัตกรรมคำนวณค่าโดยสาร พร้อมระบบติดตาม (GPS) และตรวจจับลักษณะการขับขี่เพื่อแจ้งเตือนการเกิดอุบัติเหตุสำหรับจักรยานยนต์รับจ้าง เพียงแค่ผู้โดยสารใช้มือถือสมาร์ทโฟนสแกน QR Code หรือแตะ NFC ที่ติดอยู่ด้านหลังเสื้อวินจักรยานยนต์รับจ้าง จะปรากฏข้อมูล ชื่อ อายุ หมายเลขวิน เขตการให้บริการของวินนั้น ๆ ตำแหน่งเส้นทางการขับขี่ และราคาค่าโดยสาร บนโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการในทันที นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ มิเตอร์ติดอยู่ที่แฮนด์จักรยานยนต์ด้านขวาของผู้ขับขี่ ซึ่งจะแสดงค่าโดยสาร และส่งข้อความขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบอัตโนมัติ หากเกิดอุบัติเหตุในการสัญจร

          โดยนวัตกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับบริบทของภูมิภาคอาเซียนเป็นอย่างมาก จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม มีผู้ใช้รถจักรยานยนต์ติดอันดับต้น ๆ ของโลก อีกทั้งปี 2560 ประเทศไทยก็ยังคงเป็นประเทศที่พบอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงที่สุดในโลก และส่วนมากเกิดจากรถจักรยานยนต์ ดังนั้นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับการคมนาคม โดยเฉพาะจักรยานยนต์ จึงมีความจำเป็นอย่างมากในอาเซียน

  • นวัตกรรมพัฒนาสุขภาพ

“นมข้าวข้นหวาน นวัตกรรมแสนอร่อย สำหรับคนรักสุขภาพ”

จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

          จากสถิติขององค์การสหประชาติปีล่าสุด เผยว่าประเทศในภูมิภาคอาเซียน อาทิ มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ มีประชากรที่มีน้ำหนักเกินค่ามาตรฐาน จากพฤติกรรมการกินของมันและของหวาน โดยเฉพาะมาเลเซียที่มีตัวเลขประชากรน้ำหนักเกินค่ามาตรฐานสูงถึง 44.2% รองลงมาคือประเทศไทยที่พบราว 32.2% ส่งผลต่อปัญหาด้านสุขภาพโดยตรง “นมข้าวข้นหวาน” จึงเป็นนวัตกรรมที่สามารถลดปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นนมข้นหวานที่ผลิตจากธัญพืช ปราศจากไขมันทรานส์ มีส่วนผสมของน้ำนมข้าวหอมมะลิร่วมกับน้ำเชื่อมพรีไบโอติกจากแก่นตะวัน อินูลิน และน้ำมันรำข้าว โดยมีคุณสมบัติ 3 แอล (3L) ได้แก่ 1. Less Sugar – น้ำตาลน้อย จากส่วนผสมของน้ำตาลที่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์นมข้นหวานทั่วไปถึง 6 เท่า 2. Less Fat - ไขมันต่ำ ด้วยส่วนผสมของน้ำมันปาล์ม 0% และ 3. Less Calories - แคลอรีต่ำ จากส่วนผสมของน้ำเชื่อมแก่นตะวันและอินูลินที่มีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก ใยอาหารและให้พลังงานน้อยเพียง 30 กิโลแคลอรี ต่อ 20 กรัมเท่านั้น

“เครื่องตรวจครรภ์เรียลไทม์ นวัตกรรมเพื่อคุณแม่มือใหม่ อุ้มท้องไร้กังวล”

จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์

          “เครื่องตรวจครรภ์เรียลไทม์” นวัตกรรมสื่อกลางการสื่อสารที่สะดวกและรวดเร็วระหว่างสูตินรีแพทย์กับมารดามีครรภ์ ในการส่งข้อมูลทางกายภาพของมารดาที่จำเป็นต่อการวินิจฉัยและการเฝ้าติดตามสภาวะครรภ์ ได้แก่ การหดตัวของมดลูก ความดันโลหิตของมารดาและอัตราการเต้นหัวใจของทารกในครรภ์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกบันทึกและส่งผ่านจากเครื่องมือเข้าสู่แอปพลิเคชัน และถูกส่งต่อไปยังสูตินรีแพทย์แบบเรียลไทม์ เพื่อประกอบการวินิจฉัยถึงความสมบูรณ์ของครรภ์มารดา หากสุขภาพครรภ์หรือมารดาเกิดความผิดปกติ แพทย์จะสามารถแจ้งเตือนและเรียกมารดาเข้ามาพบแพทย์ได้ในทันที เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์จากการพบแพทย์ช้าเกินไป

          จากข้อมูลพบว่า ประเทศลาวมีอัตราการเสียชีวิตของมารดาจากโรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์และการคลอดบุตรสูงถึง 182 คน ต่อมารดา 100,000 คน ซึ่งมากที่สุดในอาเซียน รวมทั้งเป็นการลดความกังวลและลดค่าใช้จ่ายในการไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็นของคุณแม่มือใหม่ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในอาเซียน โดยพบคุณแม่มือใหม่วัย 15-19 ปี เฉลี่ยสูงถึง 44 คนต่อประชากรวัยรุ่น 1,000 คน

  • นวัตกรรมต้อนรับสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society)

“ซิท ทู สแตนด์ นวัตกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ”

จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์

          “ซิท ทู สแตนด์” นวัตกรรมเครื่องออกกำลังกาย ลุก-นั่ง ที่ผู้สูงอายุสามารถใช้ออกกำลังกายได้ด้วยตนเอง สำหรับพัฒนาสุขภาพของผู้สูงอายุ รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ ซึ่งกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ได้คาดการณ์ไว้ว่ากลุ่มประเทศอาเซียนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุราว 2 เท่า ใน 15 ปีข้างหน้า โดยนวัตกรรมดังกล่าวใช้ง่ายเหมาะกับผู้สูงอายุทุกคน เพียงปรับระดับเก้าอี้ และแรงเสริมให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน จากนั้นจึงทำการฝึกลุก - นั่งอย่างสม่ำเสมอประมาณ 10 - 15 ครั้งต่อวัน

          พร้อมการทำงาน 3 ระบบ เพื่อรองรับกายภาพของผู้สูงอายุ ได้แก่ 1. ระบบพยุงน้ำหนัก ด้วยการเสริมแรงบริเวณเบาะนั่งเพื่อลดการออกแรงของผู้สูงอายุ ประกอบกับการดันลำตัวผู้สูงอายุให้สามารถลุกยืนได้ง่ายขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุสามารถปรับแรงเสริมได้ตั้งแต่ 20 – 80% ต่อน้ำหนักตัว แล้วแต่ความแข็งแรง และความพร้อมของผู้ใช้งาน 2. ระบบป้องกันเข่าทรุด ผ่านการติดตั้งสปริงเพื่อลดแรงกระแทกบริเวณข้อและเข่า ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถลุก - นั่งได้อย่างปลอดภัย และ 3. ระบบวิเคราะห์สมดุลการทรงตัว ใช้ระบบการประเมินผลการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุเพื่อให้สามารถลุก - นั่งได้ถูกต้องตามหลักชีวกลศาสตร์ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและอาการบาดเจ็บ

  • นวัตกรรมตอบโจทย์อีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) สถิติ

“แอปฯ แบคเทคเตอร์ นวัตกรรมเพื่อขาช้อปออนไลน์ ไม่เสี่ยงของปลอม”

จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์

          การพัฒนา “แอปฯ แบคเทคเตอร์” เครื่องมือตรวจสอบกระเป๋าแบรนด์เนมว่าเป็นของแท้หรือปลอม ด้วยการนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาใช้ในการตรวจความแท้และไม่แท้ของกระเป๋าได้อย่างง่ายดาย พร้อมแสดงผลผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน โดยมีขั้นตอนการใช้งานเพียง ถ่ายภาพโลโก้กระเป๋าที่ต้องการตรวจสอบ และกดประมวลผล ในแอปพลิเคชัน จากนั้นภาพจะถูกส่งเข้าสู่ระบบประมวลผลยังฐานข้อมูล เพื่อทำการตรวจจับความแตกต่างของรายละเอียดโลโก้ แรงบีบอัดและริ้วรอยของโลโก้บนกระเป๋า รวมไปถึงวัสดุที่ใช้ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวใช้เวลาไม่เกิน 30 วินาที ระบบก็จะแสดงผลผ่านแอปพลิเคชันว่ากระเป๋าต้องสงสัยเป็นของแท้หรือไม่ 

          โดย 5 นวัตกรรม ข้างต้นนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนวัตกรรมจำนวนมากที่ถูกคิดค้นและพัฒนาโดยนักวิจัย คณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นไปตามความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตรอบด้าน บนพื้นฐานของความเข้าใจความต้องการ และยังคงย้ำจุดยืนในการเป็น “มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน” ที่แท้จริง