Loading...

“Film to fly” สารยืดอายุผลไม้จากวัตถุดิบธรรมชาติ การันตีคุณภาพจากเวทีวิจัยระดับโลก

การคิดค้นและการพัฒนาที่ไม่เคยหยุดของนักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผุดไอเดียสารยืดอายุผลผลิตหลังเก็บเกี่ยว และไม่ทิ้งสารเคมีตกค้างในผลผลิต

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พศ.2561

          ปัญหาการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรเน่าเสีย ก่อนวางจำหน่ายไปยังตลาดต่างประเทศ ยังคงเป็นปัญหาหนึ่งที่ผู้ประกอบการประสบ ด้วยข้อจำกัดของผลผลิตบางชนิดที่มีอายุหลังการเก็บเกี่ยวสั้น เกิดโรคพืชขณะทำการขนส่ง ทั้งโรคที่เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรีย

          นักวิจัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้พัฒนาสารชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่ยืดอายุผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวให้นานขึ้น โดยอาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการถนอมอาหาร ผนวกรวมกับวัตถุดิบธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศ และมีต้นทุนต่ำ อย่าง “ใบยี่หร่า” สมุนไพรพื้นถิ่นของไทยที่มีสรรพคุณทางยาหลากชนิด สู่นวัตกรรมสุดสร้างสรรค์ “ฟิล์ม ทู ฟลาย” (Film to fly)

          ฟิล์ม ทู ฟลาย (Film to fly) นวัตกรรมยืดอายุผลกล้วยหอมด้วยวัตถุดิบธรรมชาตินาน 2 เดือน ด้วยเทคนิคการเคลือบแบบบริโภคได้ (Edible Coating) โดยไม่ทิ้งสารเคมีตกค้าง อีกทั้งยังสามารถป้องกันโรคขั้วหวีเน่าในผลผลิตได้ถึง 95% ภายหลังการเก็บเกี่ยว และระหว่างการขนส่ง เพียงนำกล้วยไปชุบสารเคลือบเพียง 1 ครั้ง

          ผศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีการเกษตร และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เล่าว่า นวัตกรรมดังกล่าวเกิดจากการทำงานร่วมกันของ 2 ส่วนสำคัญ คือ “สารสกัดจากใบยี่หร่า” ซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งการเกิดโรคขั้วหวีเน่า และ “เซลลูโลสจากผักตบชวา” ทำหน้าที่เสมือนฟิล์มกักเก็บสารสำคัญจากใบยี่หร่าไม่ให้สลายตัวเร็ว จากนั้นทำการละลายให้เป็นของเหลว เพื่อใช้เคลือบผลกล้วยขณะที่เปลือกยังมีสีเขียวสด (ดิบ) 1 ครั้ง และทิ้งให้แห้งประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งสารดังกล่าว จะทำหน้าที่เสมือนฟิล์มเคลือบผลกล้วยอีกชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้แก๊สเอทิลีน (Ethylene) ออกมากระตุ้นให้กล้วยผลอื่นสุกตาม พร้อมชะลอการสุกของผลกล้วยได้นานถึง 2 เดือน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผลไม้ส่งออกสำคัญของไทยได้หลากหลายชนิด ทั้งมะละกอ มะม่วงน้ำดอกไม้

          นวัตกรรมดังกล่าว ใช้ระยะเวลาในการพัฒนาประมาณ 2 ปี มีต้นทุนโดยเฉลี่ยประมาณ 100 - 150 บาทต่อสารครึ่งกิโลกรัม โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานเอกชนในการสนับสนุนเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการพัฒนางานวิจัย ทั้งนี้ ผลงานวิจัยดังกล่าว อยู่ระหว่างการยื่นจดอนุสิทธิบัตร ล่าสุดสามารถคว้ารางวัลเหรียญทอง ประเภทสิ่งประดิษฐ์ การันตีคุณภาพจากเวทีประกวดงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก ครั้งที่ 46 (46th International Exhibition of Inventions of Geneva) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

          นอกจาก “ฟิล์ม ทู ฟลาย” แล้ว “สารยืดอายุผลไม้จากกากรำข้าว” สามารถยืดอายุผลไม้สดจากกากรำข้าวมากกว่า 14 วัน พร้อมรักษาคงสภาพของผลไม้ได้เป็นอย่างดี ใช้ได้ทั้งในรูปแบบการทา ชุบ หรือสเปรย์ 1 ครั้ง และทิ้งให้แห้ง 1 ชั่วโมง โดยไม่ทิ้งสารตกค้างในผลผลิต สามารถนำไปใช้ยืดอายุผลไม้ชนิดอื่น ๆ ได้ อาทิ มังคุด มะม่วง และมะละกอ จากผลงานของ นางสาวพรรณวดี จันทร์ทอง และนางสารธมนวรรณ อังกุรทิพากร นักศึกษาสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งอยู่ระหว่างการยื่นจดอนุสิทธิบัตร และเตรียมวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์

          “สารยืดอายุผลไม้จากกากรำข้าว” ไม่เพียงเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจ แต่ยังคว้ารางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ประเภทผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีงานวิจัยรองรับ นวัตกรรมจากข้าวที่ไม่ใช่อาหาร การันตีคุณภาพจากเวทีประกวดสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่าสินค้าข้าวส่งออกเชิงพาณิชย์ “RICE PLUS AWARD 2018 : ข้าว...ก้าวใหม่” จัดโดยกรมการค้าต่างประเทศ อีกด้วย