Loading...

Thammasat Transformation 2020: สู่บทบาทใหม่ของมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน

Thammasat Gen Next Education 2018: การปรับตัวของมหาวิทยาลัยไม่เพียงแต่การเรียนการสอนเท่านั้น แต่รวมถึงการผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้นำรุ่นใหม่ และตรงตามความต้องการขององค์กรในอนาคตด้วย

วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ.2561

          การปรับตัวของมหาวิทยาลัยและอุดมศึกษามีความจำเป็นและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สืบเนื่องจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่เกิดขึ้นมากมาย เช่น จำนวนประชากรเกิดใหม่มีแนวโน้มลดลง สังคมก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การแข่งขันในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น สภาพแวดล้อมการทำงานที่ต้องเน้นประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้ทำให้กระบวนการผลิตกำลังคนของมหาวิทยาลัยจึงต้องปรับตัวตามไปด้วย

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงปรับเป้าหมายการผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้นำยุคใหม่ ที่มีทัศนคติแบบผู้ประกอบการ มีความรู้เรื่องทางการเงินและมีสมรรถนะดิจิทัล โดยปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เข้ากับรูปแบบชีวิตของคนรุ่นใหม่ เช่น การเรียนแบบออนไลน์ การเรียนแบบเน้นประสบการณ์ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมุ่งสร้างความเชื่อมั่นในระดับนานาชาติกับสถานศึกษาและนายจ้างผู้ใช้บัณฑิตต่าง ๆ ด้วยการหารือถึงความต้องการและคุณลักษณะของกำลังคนในอนาคต จุดเด่นของบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือมีความรอบรู้ มีทักษะหลากหลาย กล้าแสดงออกและสามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้อย่างตรงไปตรงมา

          การกำหนดคุณลักษณะของกำลังคนในอนาคตอาจต้องเริ่มจากการค้นหาความต้องการของลูกค้าในอนาคตก่อน ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เพื่อจะย้อนภาพกลับมาสู่การสร้างกำลังคน ซึ่งจะมีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มธุรกิจ เพราะปัจจัยแรงกดดันที่ไม่เท่ากัน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมี ซึ่งแนวโน้มจะแตกต่างจากกลุ่มตลาดผู้บริโภคอื่น ๆ เป็นอย่างมาก ประเทศไทยมักมีการรับรู้และปรับใช้เทคโนโลยีที่ช้ากว่าต่างประเทศ ส่งผลให้ภาพความต้องการกำลังคนในประเทศแตกต่างจากความต้องการในตลาดโลก ซึ่งในโลกธุรกิจทุกวันนี้ ความว่องไว (Agility) มีบทบาทมากในทุกวงการที่มีความต้องการที่หลากหลายสูง ทำให้การเตรียมกำลังคนของบริษัทต่าง ๆ จึงต้องรับบัณฑิตจากหลากหลายศาสตร์เข้าทำงาน เพื่อร่วมกันทำงานตอบสนองความต้องการของลูกค้า การทำงานในองค์กรธุรกิจต้องมีความท้าทายใหม่มอบหมายให้คนในองค์กรเพื่อรักษากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะสูง (Talent Workforce) ในขณะเดียวกันก็ต้องปรับมุมมองและเพิ่มทักษะใหม่ให้กับกลุ่มที่ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วด้วย

          องค์กรที่ประสบความสำเร็จสูง มักมีปัญหาในเรื่องการปรับเปลี่ยนตัวเอง เพราะเชื่อมั่นและยึดติดในแนวทางที่นำมาสู่ความสำเร็จปัจจุบัน จึงไม่ยอมเสี่ยงที่จะก้าวออกจากแนวทางเดิมที่ดูเหมือนจะปลอดภัย ตัวอย่างที่ชัดคือบริษัทดังระดับโลกอย่างบริษัทโกดัก และบริษัทโนเกีย ที่สอบตกในเรื่องการปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็ว การพัฒนานักศึกษาในยุคนี้จึงไม่ใช่การมุ่งให้ความรู้ แต่ต้องมุ่งให้ความสามารถในการคิดใน 3 ด้าน ได้แก่ การวิเคราะห์ การค้นคว้า และการมีจินตนาการที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และสุนทรียะ เพราะโลกอนาคตจะให้ความสำคัญกับกำลังคนที่ความสามารถดังกล่าว

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมีเป้าหมายการปรับเปลี่ยน (Transformation Goal) เช่น การทำให้ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างสำหรับคนทุกวัยที่ต้องการพัฒนาตนเองไปเป็นกำลังคนแห่งอนาคต จากนั้นจึงนำไปสู่การดำเนินการเชิงยุทธศาสตร์ เช่น หากต้องการปรับเปลี่ยนประสิทธิภาพการสอนและการวิจัย อาจเริ่มต้นจากการปรับลดหลักสูตรที่มีความซ้ำซ้อนภายในหลักสูตร กล่าวคือสำรวจและปรับลดรายวิชาที่ซ้ำซ้อน อีกประเด็นคือการปรับระบบสารสนเทศพื้นฐานของมหาวิทยาลัย ให้สามารถสนับสนุนการเรียนการสอนและการให้บริการแก่นักศึกษาได้อย่างเต็มที่ในยุคดิจิทัล ประเด็นสุดท้ายคือการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน แม้ว่าการเรียนการสอนได้ถูกปรับเป็น Active Learning ให้มากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็นับว่ายังไม่สำเร็จและยังไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างที่ควรเป็น

          ปัญหาของการปรับเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นในทุกองค์กร คือการจัดการการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ที่ผิดพลาด เช่น ไม่ได้ทำให้คนในองค์กรเห็นร่วมกันว่าเราควรจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยกันเพราะเหตุผลที่ทุกคนเข้าใจตรงกัน หัวใจสำคัญของการจัดการความเปลี่ยนแปลงที่ดี ต้องเริ่มจากการสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อการเปลี่ยนแปลงองค์กรของทุกคนในองค์กร จากนั้นจึงตามด้วยการเพิ่มทักษะและความเชี่ยวชาญที่จำเป็นให้คนในองค์กร โดยจะต้องร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกในการอบรมสร้างทักษะใหม่ ที่ต้องทำในลักษณะใหม่ที่ต่างไปจากเดิมอย่างอิสระ ไม่ยึดกรอบเดิมจนเกินไป ขั้นสุดท้ายคือการวางแผนงานในส่วนที่สำคัญเพื่อดำเนินการไปตามกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบคอบ

          ข้อมูลสำคัญประการหนึ่งคือมุมมองของบัณฑิตและคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก เช่นมีความต้องการเป็นผู้ประกอบการของคนไทยรุ่นใหม่ สูงถึงร้อยละ 80 แต่มีเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่เดินหน้าตามความฝันของตนเองอย่างจริงจัง อีกทั้งโลกธุรกิจปัจจุบันสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องมีแม้กระทั่งเงินทุนหรือเครือข่าย เพราะสามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยได้ ด้วยข้อมูลนี้จึงทำให้การจัดการเรียนการสอนจึงต้องเพิ่มความรู้เท่าทันทางการเงิน (Financial Literacy) ทักษะการจัดการ (Management Skill) มุมมองผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) การสื่อสารที่ทรงพลัง (Eloquence) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ให้แก่นักศึกษาในยุคนี้ด้วย

          สุดท้ายผู้บริหารองค์กรควรทำให้บุคลากรเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ เป็นสัจธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตและไม่ควรยึดติดกับการทำงานในรูปแบบเดิม นอกจากนี้ต้องแสดงให้เห็นภาพเส้นทางการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม และสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานที่หนักขึ้น จูงใจให้บุคลากรยอมออกจากขอบเขตความสบายของตนเองบ้าง เพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่าและสามารถตอบสนองสังคมให้เห็นคุณค่าของการมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในสังคมไทยและสังคมโลกนั่นเอง

  • วิทยากรเสวนาในงาน Thammasat Gen Next Education 2018 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561 

     1. รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     2. คุณวินิจ ศิลามงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KPMG ประเทศไทย เมียนมา และ ลาว

     3. รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้ดำเนินรายการ: รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์