Loading...

คณะวิทยาการเรียนรู้ฯ ธรรมศาสตร์ จัดนิทรรศการโชว์นวัตกรรมทางสังคม ช่วยพัฒนาชุมชน

ฉีกกรอบหลักสูตรแบบเดิม! คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดนิทรรศการแสดงผลงานนวัตกรรมทางสังคมของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 โดยให้นักศึกษาลงพื้นที่ฝึกประสบการณ์เรียนรู้ในพื้นที่จริง 4 แห่ง และช่วยพัฒนาชุมชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2561

          มุมมองใหม่ของการศึกษาไม่ใช่เพียงการเรียนรู้ภายในห้องสี่เหลี่ยมที่มีเพียงครูและนักเรียนเท่านั้น แต่การได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้ประสบการณ์เรียนรู้ที่แตกต่างจากที่คุ้นเคย และพัฒนาตนเองผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดนิทรรศการและเวทีเสวนาในหัวข้อ “งอกงาม เติบโต ผลิบาน: ชุมชนคือต้นทาง สรรค์สร้างนวัตกรรมแห่งสังคม” เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอผลงานนวัตกรรมทางสังคมจากนักศึกษาชั้นที่ปีที่ 2 ของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ที่ได้เรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานตลอด 1 ปีการศึกษา โดยนักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์เรียนรู้ในพื้นที่จริง 4 แห่งด้วยกัน ได้แก่ ชุมชนบ้านดอนตะโหนด จ.สิงห์บุรี ชุมชนบางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ ชุมชนคลองเตย กรุงเทพฯ และชุมชนตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ทำความเข้าใจและศึกษาประเด็นปัญหาในพื้นที่นั้นๆ จนเกิดการคิดค้นพัฒนาโครงการนวัตกรรมทางสังคมที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง

          รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “สิ่งที่นักศึกษารุ่นแรกได้ลงพื้นที่ทั้ง 4 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนบ้านดอนตะโหนด จ.สิงห์บุรี ชุมชนบางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ ชุมชนคลองเตย กรุงเทพฯ และชุมชนตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ นักศึกษาของเราต้องลงพื้นที่ชุมชนตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 เพราะหลักสูตรของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์นั้น แตกต่างจากหลักสูตรอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยปกติแล้วอาจารย์มักจะสอนทฤษฎีก่อน และตามด้วยการลงพื้นที่ แต่คณะของเราออกแบบการเรียนการสอนให้กลับกัน ซึ่งเราคิดว่าการเรียนรู้โดยไม่มีกรอบมาบล็อกความคิด จำทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ได้อย่างเป็นจริง และกลับมาเรียนแนวคิดและทฤษฎีในช่วงชั้นปีที่ 3 - 4 ซึ่งจะทำให้นักศึกษาสามารถเชื่อมโยงโลกความเป็นจริงกับโลกวิชาการได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น”

          ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกฝนเรื่องการทำงานกับชุมชนและลงพื้นที่ไปปฏิบัติงานจริง โดยสิ่งที่เป็นจุดมุ่งหมายของการทำงานในพื้นที่คือ “การลงไปเรียนรู้และทำความเข้าใจถึงวิถีชีวิตของชุมชนว่าเป็นอย่างไร และอะไรที่จะเป็นการต่อยอดหรือเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยตอบโจทย์ให้กับชุมชนในมุมที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรของคณะ และได้เรียนรู้จากสภาพที่เป็นจริงมากกว่าการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว” รศ.ดร.อนุชาติ กล่าวสรุป

          การเรียนรู้ในชั้นปีที่ 2 จะเน้นให้นักศึกษามีความรู้ และทักษะแบบสหวิทยาการที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการ เรียนรู้ผ่านศาสตร์ 4 แขนง ได้แก่ การใช้สื่อและเทคโนโลยี ศิลปะและละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง การทำงานร่วมกับชุมชน และธรรมชาติการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อเปิดมุมมองใหม่ต่อความเข้าใจในเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดเฉพาะการศึกษาในระบบ แต่เป็นส่วนหนึ่งของทุกกิจกรรมในสังคม ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้และขับเคลื่อนสังคม ผ่านแนวคิดการออกแบบโดยยึดบุคคลเป็นศูนย์กลาง (Human-Centered Design) โดยใช้หลักการคิดเชิงออกแบบเป็นแกน ซึ่งนักศึกษาจะได้มีโอกาสเชื่อมโยง ความเข้าใจประเด็นเกี่ยวกับการศึกษาและการเรียนรู้เข้ากับประเด็นปัญหาในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ขยายกรอบ ความคิดไปสู่การมองภาพรวม การคิดเชิงระบบและได้ทำงานร่วมกับชุมชนอย่างเป็นระบบ เพื่อขับเคลื่อนให้ เกิดแนวทางการจัดการหรือการพัฒนานวัตกรรมทางสังคมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

          การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงจากการทำงานในพื้นที่จริงโดยใช้ชุมชนเป็นพื้นที่ปฏิบัติการนั้น นางสาวชาลิสา พงศ์พันธุ์ หรือ 'น้องบีม' นักศึกษาชั้นที่ปีที่ 2 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ตัวแทนจากกลุ่มนักศึกษาที่ได้ไปลงพื้นที่ “ชุมชนคลองเตย กรุงเทพฯ” เล่าว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความซับซ้อน และมีปัญหามากมายหลายด้าน แต่ทุกปัญหานี้มีความเชื่อมโยงกัน สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาพื้นฐานในชุมชน คือ ปัญหาทางด้านการเงิน รายรับไม่พอรายจ่าย และเป็นหนี้นอกระบบ จึงทำให้สมาชิกในกลุ่มสนใจที่จะแก้ปัญหาด้านระบบการเงินจึงทำเป็นโครงการ “การบริหารจัดการเงิน Financial Literacy” โดยใช้การเล่นบอร์ดเกมที่ชื่อว่า “บอร์ดเกมสร้างสรรค์ บริหารการเงิน” ซึ่งพวกเราได้คิดค้นและออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทของคนในชุมชนและไม่ซับซ้อน นำมาให้เด็กในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการได้ทดลองเล่น นำไปสู่การถอดบทเรียน เข้าใจและเห็นภาพ สามารถเชื่อมโยงกับชีวิตจริงได้ บทสุดท้ายเด็กเหล่านี้ก็ได้เข้าใจการบริหารจัดงานเงินที่ดี และสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้

          “เราได้มองเห็นศักยภาพผ่านการเรียนรู้ของเด็กๆ เห็นหลายความคิดที่สะท้อนออกมาในแบบที่คาดไม่ถึง ทำให้เข้าใจความจริงที่ว่า... “คน” ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ในสภาพแวดล้อมอย่างไร สามารถพัฒนาได้” น้องบีม กล่าวทิ้งท้าย

          ในการเรียนรู้และลงพื้นที่นั้น แต่ละขั้นตอนนักศึกษาจะสะท้อนและจดบันทึกประสบการณ์เรียนรู้ของตนเอง (Learning Portfolio) เพื่อสำรวจความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของตนเอง นำไปสู่การรู้จักตนเองในเชิงลึก และมองเห็นช่องทางการเติบโตทั้งในแง่บุคคลและวิชาชีพ ได้แก่ การค้นพบแรงบันดาลใจในชีวิต การพัฒนาความรู้และทักษะต่างๆ มองเห็นถึงความเป็นไปได้ในการทำงานในฐานะนักขับเคลื่อนการเรียนรู้ ตลอดจนเห็นถึงความเป็นไปได้ในการ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านการสรรค์สร้างและพัฒนานวัตกรรม

          นอกจากนี้ ภายในงานยังมีเวทีเสวนาหัวข้อ “งอกงาม เติบโต ผลิบาน: ชุมชนคือต้นทาง สรรค์สร้างนวัตกรรมแห่งสังคม” จากตัวแทนพื้นที่ 4 ชุมชน ที่นักศึกษาได้ลงพื้นที่ฝึกประสบการณ์เรียนรู้ดังกล่าว เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง และประสบการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน หลังจากนักศึกษาได้เข้าไปสร้างนวัตกรรมทางสังคม