Loading...

นักศึกษาธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ปี 2561 สาขาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม

นักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศและเกียรติบัตรเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติและผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน ประจำปี 2561

วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ.2561

          การเป็นเยาวชนที่ดีทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการตั้งใจเรียน การรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเยาวชนรุ่นใหม่ ที่ได้รับรางวัลในงานวันเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2561 นางสาวอรวรรณ บุตรจินดา นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ซึ่งได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศและเกียรติบัตรเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติและผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน ประจำปี 2561 ในสาขาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม จากการสร้างชื่อในผลงานนวัตกรรม "ชุดพลิกล็อค" (Safety Flip & Lock Wear)

         นางสาวอรวรรณ บุตรจินดา กล่าวหลังได้รับรางวัลว่า “รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ภูมิใจที่สุด ขอบคุณความอดทนและความมั่นคงในสิ่งที่รักและพยายามทำให้ดีกับทุกโอกาสที่ได้รับมา รางวัลนี้ไม่เป็นรางวัลที่บอกว่าเราดีหรือเป็นคนที่พร้อมทุกอย่างแต่เป็นสิ่งที่จะคอยเตือนสติให้เราทำตัวให้เหมาะสมกับสิ่งที่เราได้รับมา เพราะการรักษายากกว่าการได้มาเสมอ”

          โดยผลงานนวัตกรรม "ชุดพลิกล็อค" (Safety Flip & Lock Wear) เป็นผลงานเยาวชนโครงการ Move World Together : เพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้เป็น 1 ในตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการจัดงานมหกรรมแสดงนวัตกรรมและประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ “Taipei International Invention Show & Technomart (INST) 2017” และได้คว้ารางวัลเหรียญทองแดงจากงาน INST 2017 ให้กับประเทศไทยด้วย

          หากกล่าวถึงการใช้งาน “ชุดพลิกล็อค” นั้นเป็นการออกแบบชุดผูกยึดผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินที่มีการเคลื่อนไหวรุนแรง และผู้ป่วยติดเตียงที่มีสายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้ได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยใช้งานแบบ “พลิก” ซึ่งปกติแล้วผู้ป่วยติดเตียงที่การรักษาพยาบาลต้องมีการจับพลิกตัวเป็นระยะๆ เพื่อไม่ให้เกิดแผลกดทับ และ “ชุดพลิกล็อค” นี้ จะช่วยให้การจับพลิกตัวผู้ป่วยทำได้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น ส่วนการใช้งานแบบ “ล็อค” สามารถใช้กับผู้ป่วยที่มีการเคลื่อนไหวตัวที่รุนแรงอย่างเช่นผู้ป่วยจิตเวช โดยออกแบบให้สวมใส่ง่ายและคล้ายกับเสื้อผ้าปกติมากที่สุด เพื่อลดความรู้สึกถูกล่วงละเมิด กักขังหน่วงเหนี่ยว รวมถึงใช้งานได้สะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งสร้างนักศึกษาและผลิตบัณฑิตรุ่นใหม่ที่พร้อมจะพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยเพื่อช่วยเหลือสังคมได้อย่างแท้จริง