Loading...

เปิดมุมมองการทำงานวิจัยเชิงสังคมศาสตร์กับ 3 นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติจากรั้วธรรมศาสตร์

 

เปิดมุมมองการทำงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ กับนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และประเทศไทย ที่ได้รับรางวัลจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เนื่องในวันนักประดิษฐ์ ครั้งที่ 21 ประจำปี 2562

วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562

  

          เมื่อเอ่ยถึง “งานวิจัย” หลายต่อหลายครั้งที่เราปิดและหลีกหนีออกมา เพราะมองว่ามันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เข้าถึงยาก แต่งานวิจัยหลาย ๆ ผลงานนั้น เหล่าคณาจารย์นักวิจัยผู้มากฝีมือในศาสตร์ด้านต่าง ๆ ก็ช่วยให้เราค้นพบและคลายสงสัยในเรื่องบางเรื่องมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตประจำวัน เป็นประโยชน์และช่วยขับเคลื่อนสังคม ช่วยให้เราเข้าใจโลกมากยิ่งขึ้นด้วย

          ผู้คร่ำหวอดในวงการงานวิจัยสายสังคมศาสตร์มาอย่างยาวนาน 3 นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และประเทศไทย ซึ่งได้รับรางวัลจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เนื่องในวันนักประดิษฐ์ ครั้งที่ 21 ประจำปี 2562 ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ คณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา ผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล คณะนิติศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลนักวิจจัยดีเด่น สาขานิติศาสตร์ และศาสตราจารย์ ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา คณะเศรษฐศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา

  • กำลังใจในการทำงานที่นอกเหนือจากผลงานที่เป็นประโยชน์ทางวิชาการ

          การได้รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาตินั้น สำหรับผมถือเป็นกำลังใจสำหรับการทำงานที่นอกเหนือจากผลงานที่งอกเงยเป็นประโยชน์ในทางวิชาการ โดยผมมีความสนใจงานวิจัยในหลายด้านทั้งด้านพันธุศาสตร์และวิวัฒนาการ งานศึกษามนุษยวิทยา พันธุศาสตร์ ประวัติการตั้งถิ่นฐาน การเคลื่อนย้ายของผู้คนในสมัยโบราณ โดยดูจากหลักฐาน DNA ด้านพันธุ์วิทยา ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ รวมถึงด้านประวัติศาสตร์ศิลปะในการหาความหมายทางวัฒนธรรมของจิตกรรมทางพุทธศาสนาสมัยพุกาม ซึ่งถือเป็นงานสำคัญที่สร้างความภาคภูมิใจ ในการใช้ความพยายามศึกษาจิตรกรรมพุกามเป็นข้อมูลทำความเข้าใจวัฒนธรรมที่มีความสลับซับซ้อนทางพุทธศาสนายุคโบราณของพุกาม และเอเซียอาคาเนย์ในภาพรวม

  • การศึกษาอย่างลุ่มลึกมีประโยชน์ทั้งสิ้น เพราะเป็นพื้นฐานความรู้

          สิ่งสำคัญของการทำวิจัย คือ เราต้องมีใจรัก จึงจะค้นคว้าเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้อย่างมีความสุข เพราะความรู้ทุกประเภทเมื่อมีการศึกษาอย่างลุ่มลึกแล้วมีประโยชน์ทั้งสิ้น แม้จะไม่ได้สามารถใช้งานได้ในทันที แต่อย่างน้อยก็เป็นพื้นฐานความรู้ สร้างประโยชน์สำหรับการใช้งานต่อไปในอนาคต ไม่ควรเอาประเด็นภาระหน้าที่มาเป็นอุปสรรคสำหรับการทำวิจัย ผู้สอนสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตัวเอง และถ่ายทอดความรู้ได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่น เรียนรู้ว่าเรามาถึงปัจจุบันได้อย่างไร ทบทวนจากประสบการณ์ในอดีต ต้องพัฒนาทักษะ พัฒนาความรักชอบขึ้นมาด้วยตัวเอง และจะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของวงการวิชาการ การวิจัยไม่ควรเน้นการใช้ประโยชน์เฉพาะหน้า หรือคิดว่าวิจัยเพื่อความจำเป็น หรือเพื่อความเติบโตในหน้าที่การงาน มักจะเป็นงานวิจัยที่แข็งกระด้าง

  • มุมมองงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์

          งานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ อาจไม่ใช่เรื่องของการมีผลเฉพาะหน้า กินได้ หายได้ทันทีทันใด ตรงไปตรงมา เหมือนทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่งานวิจัยด้านสังคมศาสตร์จะช่วยให้เกิดการเข้าใจสังคม เข้าใจมนุษย์ในฐานะสัตว์โลกที่มีวัฒนธรรมอันซับซ้อน ให้ข้อมูลและความรู้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาส่วนต่าง ๆ และบางทีก็สามารถอำนวยประโยชน์เฉพาะหน้าได้ด้วย 

ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รางวัลนักวิจัยดีเด่น สาขานิติศาสตร์

  • งานวิจัยด้านกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา ที่ถูกนำไปใช้จริง

          ส่วนใหญ่ผมทำงานวิจัยด้านกฎหมายอาญา และวิธีพิจารณาความอาญา โดยผลงานวิจัยที่โดดเด่น คือ งานวิจัยที่สำนักงานอัยการสูงสุดให้มีการจัดทำ เป็นเรื่องของความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล ที่มีการศึกษาใน 10 ประเทศอาเซียน ปัจจุบัน มีการมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2561 ให้จัดทำแก้ไขกฎหมายตามข้อเสนอในการวิจัยชุดนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงของกฤษฎีกา นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องของการบันทึกภาพ บันทึกเสียงในห้องพิจารณาความอาญา ซึ่งได้ถูกนำไปทดลองปฏิบัติแล้วใน 6 ศาล อันเป็นตามข้อเสนอของงานวิจัยทุกประการ

  • มุมมองงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์

          สำหรับผม งานวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ อาจจะไม่เห็นผลชัดเจนเหมือนกับทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่เป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางระบบกฎหมาย การปฏิบัติตามกฎหมาย การชักชวนให้คนในวงการยุติธรรมปฏิบัติตามในสิ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ ยึดหลักนิติธรรม เพราะฉะนั้นกฎหมายจะไม่ใช่แค่กำหนดและจัดเป็นพิธีกรรมตามกฎหมาย แต่ต้องให้เข้าใจถึงสารัตถะมีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอย่างไรบ้าง

          สำหรับคณาจารย์มหาวิทยาลัยจะเน้นเรื่องการเรียนการสอนอย่างเดียว โดยไม่ทำการวิจัย เขียนตำรา หรืออย่างอื่นไม่ได้ เพราะการวิจัยเป็นการเสริมการเรียนการสอนให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น และจุดประเด็นในการทำวิจัยในการเขียนตำราต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์

 

ศาสตราจารย์ ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์

  • ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษา และวางแผนนโยบายตั้งแต่ต้น

          งานวิจัยจะมุ่งเน้นด้านความเหลื่อมล้ำ และปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำค่อนข้างเยอะ โดยมีแผนที่ทำงานวิจัยที่เชื่อมโยงกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ให้ประชาชนหลุดพ้นจากภาวะรายได้ปานกลาง ซึ่งแม้จะแก้ปัญหาได้ แต่ความเหลื่อมล้ำก็ยังมีอยู่ ตัวอย่างเช่น ประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ อเมริกา ฝรั่งเศส ล้วนมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษา และวางแผนนโยบายตั้งแต่ต้นเพื่อป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้น เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยน ความเหลื่อมล้ำก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ซับซ้อนมากขึ้นเช่นเดียวกัน

  • งานวิจัยที่ภาคภูมิใจ เป็นการหาทางออกการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจในเขตเมือง

          สำหรับงานวิจัยที่มีความภาคภูมิใจนั้น เป็นงานวิจัยเมื่อหลายปีก่อน เกี่ยวกับกิจกรรมการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจในเขตเมือง ทำให้เกิดปัญหาการอพยพของแรงงานเข้ามาในเขตเมือง ผลงานนี้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นในขณะนั้น และมีผลนัยยะเชิงนโยบาย ในเรื่องของการเก็บภาษีต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเท่ากันในทุก ๆ พื้นที่ โดยพิจารณาจากพื้นที่เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายออกไปจากเขตเมืองมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่แบ่งเป็นเขต การให้สิทธิประโยชน์กับพื้นที่

  • มุมมองงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์

          ผมมองว่า การวิจัยสังคมศาสตร์ มีความสำคัญ และเป็นการวิจัยที่ค่อนข้างยาก เพราะเราไม่สามารถศึกษาในห้องแลปที่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ โดยการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ต้องศึกษาสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เป็นจริง  เป็นห้องแลปที่อยู่ในความเป็นจริง ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ การศึกษาจึงต้องมีกรอบความคิดที่ชัดเจน และทำให้การทดสอบสมมติฐานชัดเจน มีการเก็บข้อมูลอย่างครบถ้วน ผนวกกับกรอบความคิดว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกก็ต้องปรับใหม่ ทดลองใช้นโยบาย ปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ขั้นตอนต่าง ๆ ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก และบางงานวิจัยวิทยาศาสตร์ ก็จำเป็นต้องใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์มาประกอบการวิจัยด้วยว่าสิ่งที่คิดนั้น มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ สามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่ เป็นส่วนของสังคมศาสตร์ที่สามารถเกื้อหนุนกับการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ได้

          การศึกษาวิจัยนั้นเพื่อเป็นการสร้างความรู้ใหม่ในแต่ละสาขา ซึ่งก็อาจจะมีโอกาสล้มเหลวได้ เราต้องเข้าใจ และเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาด ไม่เสียใจกับความล้มเหลวที่เกิดขึ้น แก้ไขในประเด็นที่ผิดพลาด เราจะได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ ขอให้มีตั้งใจทำงานวิจัยด้วยความสนุกสนาน อย่างเคร่งเครียด การวิจัยทำให้เราเข้าใจโลกได้มากขึ้น และเราสามารถนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในด้านการเรียนการสอนได้ด้วย