Loading...

เมียนมากับพลวัตรทางเศรษฐกิจภายหลังการเลือกตั้งใหญ่

"รู้จักแนวทางการวิจัยเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมเมียนมากับอาจารย์ ดร. ศศินันท์ เครือชัยพินิต"

 

 

          ในปัจจุบันแนวโน้มการพัฒนาของโลกมุ่งเน้นและส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้มากยิ่งขึ้น และต่อยอดองค์ความรู้เหล่านั้นสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม สถาบันการศึกษาจึงมีบทบาทและความสำคัญมากยิ่งขึ้นในฐานะองค์กรที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพด้านการเรียนรู้ของประชากร ในขณะเดียวกันสถาบันการศึกษายังมีอีกหนึ่งบทบาทสำคัญคือการศึกษาวิจัยเพื่อตอบโจทย์แนวโน้มการพัฒนาที่กล่าวมาข้างต้น ในหลายครั้งเมื่อพูดถึงการวิจัยหลายคนอาจมุ่งเน้นไปที่การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมที่เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อสังคมและเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริงงานศึกษาวิจัยด้านสังคมศาสตร์ก็ถือเป็นกลุ่มงานศึกษาที่ผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมเช่นเดียวกัน ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้มุ่งเน้นตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม รวมถึงการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ รวมถึงเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น งานวิจัยในเชิงสังคมศาสตร์ในบางครั้งจึงดูเหมือนจับต้องได้ยาก แต่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเข้าใจการตอบสนองของสังคมต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงแต่ละสมัย สิ่งเหล่านี้ทำให้งานวิจัยในสายสังคมศาสตร์ยังคงเป็นเรื่องจำเป็นและได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศเพราะในบางประเด็นงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ไม่สามารถตอบโจทย์ได้

          อาจารย์ ดร. ศศินันท์ เครือชัยพินิต หนึ่งใน YPIN Ambassador ถือเป็นอีกหนึ่งนักวิจัยรุ่นใหม่คนสำคัญของโครงการวิเทศคดีศึกษา (อาเซียน-จีน) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งสนใจทำงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐศาสตร์การเมืองในประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างประเทศเมียนมา โดยงานศึกษาวิจัยของอาจารย์พยายามทำความเข้าใจและวิเคราะห์โครงสร้างทางเศรษฐกิจของเมียนมาที่เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองครั้งสำคัญของประเทศในระหว่างปี 2554-2555 อันจะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเมียนมาเอง และยังส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในฐานะที่มีแรงงานชาวเมียนมาเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก ในโอกาสนี้โครงการปีแห่งการตีพิมพ์และสร้างสรรค์นวัตกรรมจึงได้ถือโอกาสชวนอาจารย์มาพูดคุยในหลากหลายประเด็นที่อาจารย์กำลังสนใจศึกษา และการศึกษาเรื่องภายนอกประเทศจะมีส่วนสำคัญอย่างไรต่อโจทย์การพัฒนาประเทศไทย ทำไมการศึกษาเรื่องเมียนมาจะช่วยให้เราทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเรื่องแรงงานของประเทศไทยในอนาคต การพัฒนาในเมียนมาร์ส่งผลมากน้อยแค่ไหนต่อประเทศไทย งานวิจัยที่อาจารย์กำลังทำอยู่มีอะไรบ้าง รวมถึงแง่มุม แง่คิดสำหรับนักวิจัยเพื่อให้ฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายไปได้โดยเฉพาะในงานกลุ่มสังคมศาสตร์

ความเปลี่ยนแปลงในเมียนมากับความเสี่ยงด้านแรงงานของไทยในอนาคต

          ในที่นี้ต้องแจ้งก่อนว่าอาจารย์เข้ามาทำงานที่โครงการวิเทศคดีศึกษา (อาเซียน-จีน) คณะศิลปศาสตร์เข้าปีที่ 3 โดยความสนใจตอนนี้ของตนเองเป็นเรื่องต่อยอดมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ทำที่ไต้หวัน ตอนนั้นเราศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่รัฐบาลทหารของเมียนมาต้องเผชิญหลังจากที่สหรัฐอเมริกาออกนโยบายคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับเมียนมา ตอนนี้งานวิจัยที่กำลังทำอยู่เลยเป็นช่วงต่อเนื่องกันคือการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศเมียนมาภายหลังจากมีการเลือกตั้งและเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยคำถามหลัก ๆ คือเมียนมามีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจในด้านใดบ้าง โดยงานวิจัยที่ทำอยู่ในปัจจุบันเน้นศึกษาด้านการปฏิรูปอุตสาหกรรมในเมียนมา มีอุปสรรคและความท้าทายมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรกับประเทศไทยบ้าง ทั้งนี้งานชิ้นนี้พึ่งเริ่มทำได้ไม่ถึงปีดี ตอนนี้เลยเน้นที่การศึกษาโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเมียนมาในปัจจุบันเป็นสำคัญ แต่ถ้าถามว่างานปริญญาเอกเราศึกษาเรื่องอะไรและจะมีส่วนอย่างไรต่องานวิจัยที่กำลังทำอยู่

          ต้องบอกว่างานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก อาจารย์เน้นศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่มีผลต่อเมียนมา ซึ่งตัวหัวใจสำคัญของข้อค้นพบในงานชิ้นนั้นก็คือว่า เอาเข้าจริงแล้วการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีผลเท่าใดนักต่อรัฐบาลทหารเมียนมา เพราะสินค้าที่สหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรล้วนเป็นสินค้าเศรษฐกิจหลักของประชาชน โดยเฉพาะข้าว และผ้า ในขณะที่อุตสาหกรรมน้ำมัน ป่าไม้ และเหมืองแร่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอำนาจการผูกขาดจากกองทัพกลับได้รับการยกเว้น ที่สำคัญคือเมียนมาเองยังได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจากประเทศจีนอีกด้วย พูดได้ว่าคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ จากนโยบายคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาก็คือประชาชนธรรมดา มากกว่าที่จะเป็นตัวกองทัพที่ถือครองอำนาจ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการอพยพเข้ามาของแรงงานเมียนมาในไทยด้วย

          ทีนี้ในส่วนต่อมาเราเลยเริ่มมาศึกษาเกี่ยวกับการปฏิรูปในปัจจุบัน น่าสนใจว่าตอนนี้รัฐบาลเมียนมาพยายามอยากมากในการปฏิรูปกฎหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งจากในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มการจ้างงานภายในประเทศ และลดการอพยพย้ายถิ่นออก แต่ปัญหาคือแรงงานฝีมือจำนวนมากของเมียนมาทำงานอยู่ในประเทศไทย และส่วนใหญ่ก็เต็มใจเข้ามาทำงานในไทยเนื่องจากสวัสดิการและสิทธิด้านแรงงานดีกว่าในเมียนมา ฉะนั้นประเด็นเรื่องการขาดแคลนแรงงานฝีมือในการพัฒนาประเทศยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศเมียนมาอยู่ ซึ่งถ้าในอนาคตเมียนมาสามารถปฏิรูปเรื่องสิทธิแรงงานได้สำเร็จ อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาคการผลิต และอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่ยังคงต้องพึ่งพาแรงงานชาวเมียนมาอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก

ทุนวิจัยระดับคณะและความยืดหยุ่นในการศึกษาวิจัย

          เป็นความโชคดีมากว่าสำหรับคณะศิลปศาสตร์นั้น มีทุนวิจัยของตัวเองเพื่อส่งเสริมการศึกษาวิจัยของคณาจารย์ภายในคณะ ทำให้คณาจารย์และนักวิจัยไม่ต้องไปขอทุนกับทางมหาวิทยาลัยโดยตรง ซึ่งมีการแข่งขันมาก และที่สำคัญคือหัวข้อวิจัยที่ต้องเสนอก็ต้องสอดคล้องกับเป้าประสงค์ของทางมหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งนี่ถือเป็นข้อดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ระดับคณะมีการมอบทุนการวิจัยด้วย ซึ่งทำให้การขอทุนวิจัยมีความยืดหยุ่นและตอบสนองความสนใจเฉพาะของคณาจารย์และนักวิจัยแต่ละคน นอกจากนี้แล้วมหาวิทยาลัยเองก็มีความพยายามส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยและคณาจารย์อย่างต่อเนื่องผ่านการอบรมและจัดสัมมนาให้กับนักวิจัย เพื่อให้ตามทันความเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบใหม่ ๆ ที่จะเป็นตัวชี้วัดในการทำงานวิจัยในอนาคต

          อย่างไรก็ตามการขอทุนวิจัยก็ยังคงมีข้อติดขัดเล็กน้อย ซึ่งอาจารย์มองว่าอาจแก้ได้ไม่ยากนัก นั่นคือเรื่องระยะเวลาในการพิจารณาให้ทุน เพราะบางครั้งต้องใช้เวลานานหลายเดือนในการผ่านกระบวนการพิจารณากลั่นกรองจนโครงร่างวิจัยผ่าน ซึ่งลักษณะเช่นนี้ส่งผลโดยตรงต่อหัวข้อวิจัยที่นำเสนอ เพราะระยะเวลาที่ยืดออกไป อาจทำให้ปัจจัยที่ต้องศึกษาเปลี่ยนด้วย สอดคล้องกัน อาจารย์ยังอยากให้การพิจารณาเรื่องจริยธรรมการวิจัยในคนร่นระยะเวลาลงเช่นกัน เพราะนี่กลายเป็นปัจจัยใหญ่ที่นักวิจัยหลายคนตัดระเบียบวิธีวิจัยที่เกี่ยวกับคนออกไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้ารับพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน แต่โดยภาพรวมก็ต้องยอมรับว่าแนวทางการสนับสนุน และการให้ทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีส่วนผลักดันให้นักวิจัยและคณาจารย์สามารถทำงานได้ตามความสนใจของตนเองและสามารถผลิตงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การวางแผนในการวิจัยมีส่วนสำคัญต่อการศึกษาวิจัยที่ต่อเนื่อง

          ถ้าถามว่าจะแนะนำอะไรแก่นักวิจัยรุ่นใหม่ที่กำลังทำงานวิจัยเช่นเดียวกับเราหรือกำลังจะเริ่มทำงานวิจัย ก็ต้องบอกว่าต้องวางแผนการเขียนผลงานวิจัยให้ดี ควรทำตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะต้องไม่ลืมว่าการทำงานวิจัยแต่ละชิ้นจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรกว่าจะได้ผลการศึกษาออกมา การวางแผนการทำงานวิจัยจะช่วยให้เราสามารถสร้างสมดุลระหว่างการทำงานที่ได้รับมอบหมายในคณะ การสอน การวิจัยและชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คืองานวิจัยที่เราต้องการจะทำต้องเป็นงานที่เราชอบและสนใจจริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เรามีความกระตือรือร้น และสนใจในการศึกษาหาข้อมูลมาทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมในช่วงเวลานั้น ความสนใจจึงถือเป็นความจำเป็นเบื้องต้นในการศึกษาวิจัยของนักวิจัยรุ่นใหม่ อย่างอาจารย์เองก็ใช้การต่อยอดจากงานวิทยานิพนธ์มาทำเป็นงานวิจัย ซึ่งมันเป็นความสนใจของเรา และเราก็มีพื้นฐานความรู้อยู่แล้ว

          อีกเรื่องที่ต้องฝากเอาไว้คือความซื่อสัตย์ต่อการทำงานวิจัย โดยเฉพาะข้อมูลที่นำเสนอออกไป เราต้องไม่ลืมว่าหน้าที่ของนักวิจัยไม่ใช่เพียงนักแสวงหาข้อมูลเท่านั้น แต่ยังเป็นนักสื่อสารข้อมูลสู่สังคมภายนอกด้วย การขาดความซื่อสัตย์ต่อผลลัพธ์และข้อมูลที่ได้มายังเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง และเป็นปัญหาด้านจริยธรรมทางด้านการวิจัยด้วย ความผิดพลาดหรือผลลัพธ์ที่ไม่ตรงสมมติฐานถือเป็นเรื่องปกติและสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะถ้าเรารู้ผลลัพธ์แล้วคงไม่ทำงานวิจัยเรื่องนั้น แต่สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือต้องหาต้นตอว่าทำไมสมมติฐานถึงผิด ถ้าเราอธิบายได้มันก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เราศึกษามามันผิดพลาดทั้งหมด และแน่นอนมันไม่มีอะไรสูญเปล่าในการศึกษาวิจัย ทุกอย่างคือการเรียนรู้ คือประสบการณ์ที่จะช่วยให้นักวิจัยทุกคนทำงานได้อย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น