Loading...

YPIN Factsheet no.6 รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นและนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นระดับคณะ

“เผยแหล่งทุนรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นและนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นระดับคณะของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

 

 

          หนึ่งในเป้าหมายใหญ่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างปี 2561-62 คือการยกระดับการศึกษา การวิจัย และการพัฒนาเพื่อเป็นมหาวิทยาลัยในระดับสากลในอนาคต เพื่อตอบเป้าหมายนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงริเริ่มโครงการปีแห่งการตีพิมพ์และสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้น โดยมุ่งหวังให้เกิดการประสานความร่วมมือและสร้างชุมชนทางวิชาการระหว่างนักวิชาการ อาจารย์ และบุคลากรด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันผลิตผลงานทางด้านวิชาการ งานวิจัย และงานนวัตกรรม อันจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของมหาวิทยาลัยในด้านการศึกษาวิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้มหาวิทยาลัยจัดให้มีแหล่งทุนมากมายเพื่อสนุบสนุนบุคลากรของมหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมความสามารถอย่างเต็มที่ และเพื่อสร้างขวัญกำลังใจและส่งเสริมการผลิตผลงานวิจัยที่มีคถณภาพเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ปัจจุบันมหาวทิยาลัยมีทุนรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นและนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นระดับคณะเพื่อผลักดันให้นักวิชาการ อาจารย์ และบุคลากรด้านการวิจัยผลิตผลงานอย่างต่อเนื่อง

ทุนรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นเพื่อส่งเสริมผลงานคุณภาพในระดับชาติและสากล

          ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งทุนสำคัญที่ให้การสนับสนุนโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อต้องการส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรทางการศึกษาและด้านวิจัยของมหาวิทยาลัยได้พัฒนางานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ทั้งยังเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรของมหาวทิยาลัยสร้างสรรค์และเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพในระดับชาติและนานาชาติ สิ่งเหล่านี้ย่อมช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถผลิตงานวิจัยที่มีความทันสมัยและตอบสนองสังคมในวงกว้างได้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยให้มหาวิทยาลัยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ตอบสนองเป้าหมายการเป็นมหาวิทยาลัยในระดับสากลที่สามารถก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก

          ทั้งนี้รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น แบ่งออกเป็น 4 สาขา สาขาละ 1 รางวัล รางวัลละ 100,000 บาท 1.สาขาสังคมศาสตร์ 2.สาขามนุษยศาสตร์ 3.สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และ 4.สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยผู้ที่จะได้รับรางวัลนี้จะต้องมีคุณสมบัติสำคัญคือ 1. เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ที่มีส่วนทำงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 และต้องนำเสนอชิ้นงานเพื่อพิจารณาเพียง 1 เรื่องเท่านั้น 2. ต้องไม่มีผลงานวิจัยหรือการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ค้างส่ง หรือเกินกำหนดระยะเวลาที่ได้รับทุนสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดินหรืองบของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 3. หากเป็นผู้เคยได้รับรางวัลดังกล่าวแล้ว ต้องเว้นระยะ 2 ปี จึงจะมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาอีกครั้ง

          ทั้งนี้สำหรับผลงานที่จะเสนอขอรับรางวัลต้องมีคุณลักษณ์สำคัญดังนี้ 1. เป้นผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ ภายใน 2 ปีนับตั้งแต่ดำเนินการแล้วเสร็จ โดยตีพิมพ์ในสำนักพิมพ์ที่ได้มาตรฐานวิชาการ หรือเป็นวารสารทางวิชาการที่เป็นฐานข้อมูลสากลอย่าง Scopus หรือ ISI Web of Science 2. เป็นผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดี มีคุณสมบัติเป็นงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นการแสดงถึงการริเริ่มทางวิชาการ สะท้อนการพัฒนาองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่ หรือสร้างประโยชน์ต่อการบริหารและพัฒนามหาวิทยาลัย 3. เป้นผลงานภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4. ไม่เป็นผลงานที่เป้นส่วนหนึ่งของการจบการศึกษา และ 5. หากเป็นงานวิจัยร่วมต้องได้รับคำยินยอมจากผู้ร่วมวิจัยทุกคน

รางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นระดับคณะประตูสู่การเป็นมืออาชีพ

          เนื่องจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยของมหาวิทยาลัยให้มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ และสนับสนุนการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ จึงกำหนดให้มีรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ระดับคณะขึ้น เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติคุณนักวิจัยรุ่นใหม่ของมหาวิทยาลัยที่ได้ผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสู่วงวิชาการและสาธารณชน ตลอดจนเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

          ทั้งนี้รางวัลแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. นักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นระดับคณะ ประเภทอาจารย์ และ 2. นักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นระดับคณะ ประเภทนักวิจัยหรือผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ในการนี้นักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นระดับคณะ จะได้รับโล่เชิดชูเกียรติและเงินรางวัลจำนวน 20,000 บาท โดยผู้ขอรับรางวัลต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 1.ต้องไม่เคยรับรางวัลมาก่อน และมีอายุไม่เกิน 35 ปี และ 2. เป็นงานวิจัยใหม่ที่ทำขึ้นระหว่างทำงานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          ในการนี้คุณลักษณะของผลงานประกอบการตัดสินนั้นต้องเป็นงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับในวงวิชาการ สำหรับในสาขาสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ นั้น ผู้วิจัยต้องเป็นผู้วิจัยหลักในผลงานที่ได้เผยแพร่สู่สาธารณชนเรียบร้อยแล้ว เช่น บทความวิจัยที่ได้รับการตีพิพิมพ์ในวารสารระดับชาติที่มีชื่อปรากฎในฐานข้อมูล TCI หรือวารสารวิชาการระดับชาติตามประกาศของ สมศ. รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ผลงาน หรือเป็นผู้วิจัยผลงานสร้างสรรค์ อันหมายถึงงานศิลปะหรือสิ่งประดิษฐ์ประเภทต่าง ๆ ที่มีความเป็นนวัตกรรม สำหรับในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและเทคโนโลยีนั้น ผลงานต้องได้รับตีพิมพ์ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ อาทิ วารสาร SJR หรือ ฐานข้อมูล ISI Web of Science หรือฐานข้อมูล Scopus หรือวารสารวิชาการระดับนานาชาติตามประกาศของ สมศ. จำนวนไม่น้อยกว่า 2 ผลงาน หรือสามารถผลิตสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร หรือลิขสิทธิ์จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ผลงาน