Loading...

‘นักวิจัยธรรมศาสตร์’ กวาดรางวัลประกวด ‘สิ่งประดิษฐ์ วิจัย และนวัตกรรม’ ระดับโลกจากกรุงเจนีวา

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างชื่อคว้า 12 รางวัล จากเวทีประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 49 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2567

     ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้า 12 รางวัล จากการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ในงาน “The 49th International Exhibition of Inventions Geneva” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17-21 เมษายน 2567 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย เผยแพร่ผลงานวิจัยได้รับการยอมรับจากทั่วโลก มุ่งหวังนำองค์ความรู้ช่วยส่งเสริมพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม การเกษตร และด้านการแพทย์ เป็นต้น

     โดยในปีนี้ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างผลงานโดดเด่นและได้รับรางวัลระดับโลกถึง 12 รางวัล ประกอบด้วย เหรียญทองเกียรติยศ (Gold Medal with the Congratulations of the Jury)  จำนวน 1 รางวัล, เหรียญทอง (Gold Medal) จำนวน 3 รางวัล, เหรียญเงิน (Silver Medal) จำนวน  1 รางวัล, เหรียญทองแดง (Bronze Medal) จำนวน 3 รางวัล และรางวัลพิเศษ (Special Prize) จำนวน 4 รางวัล ตอกย้ำความสำเร็จนโยบายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัย

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า ขอแสดงความยินดีกับนักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นำผลงานวิจัยนวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ ไปร่วมแข่งขันในเวทีระดับโลกและสามารถคว้ารางวัลมาได้ถึง 12 รางวัล ทำให้เห็นถึงศักยภาพทางวิชาการของนักวิจัยธรรมศาสตร์ ที่นำองค์ความรู้มาพัฒนาเป็นแนวคิดและผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศ พร้อมทั้งควบคู่ไปกับนโยบายที่ส่งเสริมสนับสนุนและขับเคลื่อนการทำงานวิจัยในทุกมิติ

     รางวัลที่ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับจากการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 49 (The 49th International Exhibition of Inventions Geneva) จำนวน 12 รางวัล ประกอบด้วย

รางวัลเหรียญทองเกียรติยศ (Gold Medal with the Congratulations of the Jury) 

     1. ผลงาน “ความยั่งยืนในการเก็บเกี่ยว: แนวทางที่เป็นนวัตกรรมสำหรับผลพลอยได้จากถั่วแมคคาเดเมียและโซลูชั่นด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์สะอาด” โดย รศ.ดร.สุภกร บุญยืน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะผู้วิจัย ได้แก่ Dr. Shanmugam Paramasivam, Dr. Alvin Lim Teik Zheng, Prof. Dr. Joon Ching Juan, คุณชูวิน พนาวัลย์สมบัติ, รศ.ดร.ศิวพร มีจู สมิธ และ ม.ร.ว.พริมา ยุคล

พร้อมกับคว้ารางวัล Special Prizes จาก NRCT Special Award 2024

รางวัลเหรียญทอง (Gold Medal)

     1. ผลงาน “แพลตฟอร์มตรวจจับการเกิดแผลผิวหนังอักเสบในผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง” โดย ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะผู้วิจัย ได้แก่ รศ.ดร.จิณพิชญ์ชา สาธิยมาส, ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ และ คุณชวกร ศรีเงินยวง

     2. ผลงาน “สารเรืองแสงจากธรรมชาติ: การใช้จุดคาร์บอนเจือ N จากรังนกเพื่อการตรวจจับไอออนโลหะขั้นสูงในการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม” โดย ผศ.ดร.ปาริยา ณ นคร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะผู้วิจัย ได้แก่ Dr.Shanmugam Paramasivam, รศ.ดร.สุภกร บุญยืน, รศ.ดร.ศิวพร มีจู สมิธ, คุณธีรภัทร ปรัชญานิพนธ์ และ คุณวีระภัทร์ ประภาสมณเฑียร

     3. ผลงาน “เทคโนโลยีการสกัดขมิ้นชันแบบลดขยะเป็นศูนย์ สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” โดย รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะผู้วิจัย ได้แก่ คุณศศิธร ศรีคราม, คุณอภิสิทธิ์ นิลมาต, คุณกฤติเดช อนันต์ และ ดร.วรรณพร เทพบัณฑิต พร้อมกับคว้ารางวัล Special Prizes จาก NRCT Special Award 2024

รางวัลเหรียญเงิน  (Silver Medal)

     1. ผลงาน “ลาเวนทอล (ลาเวนเดอร์-เมนทอล) นวัตกรรมสุคนธบำบัดเพื่อช่วยลดความวิตกกังวลและความเจ็บปวดในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดต้อกระจก” โดย รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะผู้วิจัย ได้แก่ ศ.ดร.ภกญ.อรุณพร อิฐรัตน์, พญ.สิริพรรณ เจษฎาวิโรจน์, นพ.ภาสวุฒิ ท่อแก้ว, คุณภาคิน จรัสเสถียร และ คุณรัญชน์ เหตระกูล พร้อมกับคว้ารางวัล Special prize จาก The Polish Inventors and Rationalizers Association สาธารณรัฐโปแลนด์

รางวัลเหรียญทองแดง  (Bronze Medal) 

     1. ผลงาน “ฟอร์ริโฟคัส มัตติฟังก์ชั่นเทคโนโลยีแผ่นไมโครนีดเดิลนำแสงสำหรับการปลูกผม” โดย รศ.ดร.พญ.จิตรลดา มีพันแสน และ รศ.พญ.ปุณยพัศฐิช์ ศิริธนบดีกุล วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์

     2. ผลงาน “การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสารกำจัดศัตรูพืชทางชีวภาพประสิทธิภาพสูงสำหรับการดูดซับและการกักเก็บคาร์บอน” โดย รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะผู้วิจัย ได้แก่ คุณศศิธร ศรีคราม, คุณอภิสิทธิ์ นิลมาต, คุณกฤติเดช อนันต์ และ ดร.วรรณพร เทพบัณฑิต

     3. ผลงาน “ผลิตภัณฑ์น้ำกุหลาบออร์แกนิคป้องกันการเกิดริ้วรอย รักษาสิวและผิวหนังอักเสบ” โดย รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะผู้วิจัย ได้แก่ คุณศศิธร ศรีคราม, คุณอภิสิทธิ์ นิลมาต, คุณกฤติเดช อนันต์ และ ดร.วรรณพร เทพบัณฑิต พร้อมคว้ารางวัล Special prize จาก South Korea

     สำหรับความสำเร็จในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีนานาชาติ ผลักดันให้นักวิจัยธรรมศาสตร์ได้รับการยอมรับ ทั้งด้านวิชาการ นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป สามารถนำไปต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์หลากหลายได้อย่างเป็นรูปธรรม