Loading...

เปิดบ้านธรรมศาสตร์ 2565 ยิ่งใหญ่! ตอกย้ำการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน Thammasat Open House 2022 : Explore the Infinity ย้ำการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน สู่การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาแห่งอนาคต

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2565

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมเปิดบ้าน Thammasat Open House 2022 ในธีม Explore the Infinity ‘เมืองแห่งความยั่งยืน พื้นที่เรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด’ เมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ณ กิติยาคาร และอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ภายในงานมีการจัดบูธกิจกรรมแนะนำข้อมูลของคณะและหน่วยงาน การเปิดบ้านกิจกรรมที่คณะต่าง ๆ กิจกรรม Workshop สุดพิเศษ กิจกรรมเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อที่น่าสนใจ รวมไปถึงกิจกรรมแสงสีเสียง การแสดงโชว์จากชุมนุม-ชมรม

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงานและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน Thammasat Open House 2022 ว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นเสมือนพื้นที่การเรียนรู้สำหรับโลกอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการจัดการหลักสูตรการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ โดยมุ่งเน้นที่จะเสริมสร้างทักษะการทำงานแห่งโลกอนาคตให้แก่นักศึกษา ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเป็นตัวช่วยในการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้ถึงแนวคิดความยั่งยืน รวมถึงมุ่งส่งเสริมการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างรอบด้านในระยะยาวและไร้ขีดจำกัด

     “ธรรมศาสตร์ ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันรวมถึงกระแสแนวโน้มของโลกมาโดยตลอด เพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้และเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาสามารถรับมือ และปลดปล่อยศักยภาพ อีกทั้งปรับตัวตามกระแสความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบันและอนาคตได้” รศ.เกศินี กล่าว

     ในวันแรกมีวงเสวนา Talk Session: จับเข่าเล่าเรื่อง ในหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย จากทั้งรุ่นพี่ศิษย์เก่า คณาจารย์ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญในแวดวงต่าง ๆ เช่น การพูดคุยในหัวข้อ TCAS 66 Tips & Tricks การแบ่งปันเคล็ดลับจากรุ่นพี่เรื่องการเรียนในรั้วธรรมศาสตร์ และวงเสวนาหัวข้อ ‘WHY SDGs ? ‘ความยั่งยืน’ แนวคิดแห่งอนาคต ทางออกของโลกยุคใหม่’

     สำหรับเรื่องการขับเคลื่อน SDGs ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.พิษณุ ตู้จินดา รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านคุณภาพชีวิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน SDGs คือสิ่งที่อยู่ในชีวิตของทุกคน เพราะคนรุ่นใหม่มีความตระหนักในเรื่องนี้ค่อนข้างมากกว่าคนรุ่นก่อน เห็นได้จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิกฤตการณ์ของธุรกิจ วิกฤตการณ์ของโลกร้อนที่เกิดขึ้น ภัยธรรมชาติ วิกฤตการณ์เงินเฟ้อ และโรคระบาด ทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น รวมถึงแนวคิดเรื่องความยั่งยืนของนักศึกษาในธรรมศาสตร์ที่เปลี่ยนไปอย่างมาก โดยนักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วม และริเริ่มโครงการต่าง ๆ ด้วยตัวนักศึกษาเอง ดังนั้นมหาวิทยาลัยในฐานะผู้สร้างบุคลากร จึงต้องเป็นพื้นที่ที่ทำให้นักศึกษาได้ซึมซับกิจกรรมที่นำไปสู่ความยั่งยืน “โครงการต่าง ๆ ในธรรมศาสตร์จะทำให้นักศึกษาสนุกกับ SDGs ไปในตัว รวมถึงมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ Sandbox ที่สามารถลองผิดลองถูกได้ และไม่สร้างผลกระทบในวงกว้าง เพราะฉะนั้นผู้บริหารจะต้องให้พื้นที่กับนักศึกษาเพื่อลองผิดลองถูก และผู้บริหารเองก็ต้องร่วมเรียนรู้ไปกับนักศึกษา เพื่อให้ได้โครงการที่จะสามารถทำได้จริง และเพื่อสร้างบุคลากรที่จะขับเคลื่อนความยั่งยืนสู่สังคมในอนาคต” รศ.ดร.พิษณุ กล่าว

     ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความโดดเด่นในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและทำให้การอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งตรงกับเป้าหมายข้อที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและให้อำนาจผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกคน (Achieve gender equality and empower all women and girls) เช่น ไม่มีการใช้คำนำหน้าในการกำกับเพศ และอีกเรื่องที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยายามผลักดันคือ ‘อารยสถาปัตย์’ หรือการออกแบบที่ทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม

          ส่วนในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 งานเปิดบ้านธรรมศาสตร์ มีวงเสวนาเรื่อง ‘ทิศทางการศึกษาไทย ตอบโจทย์คนยุคใหม่ ตอบโจทย์โลกอนาคต’ ที่ชวนขบคิดแก้ปัญหา-ความท้าทาย ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน มองอนาคต ผ่านการพัฒนาระบบการศึกษา นำพูดคุยโดย รศ.ดร.พิภพ อุดร  รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          รศ.ดร.พิภพ กล่าวว่า การศึกษาควรจะเรียนที่ไหนก็ได้ เรียนเมื่อไหร่ก็ได้ เรียนอะไรก็ได้ที่สนใจ ซึ่งเป็นโมเดลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พยายามพัฒนา รวมถึงได้ออกข้อบังคับใหม่คือหากนักศึกษามีการฝึกงาน สร้างนวัตกรรม ทำวิจัย ฯลฯ กับภายนอกมหาวิทยาลัย สามารถนำประสบการณ์เหล่านั้นมาเทียบโอนหน่วยกิตได้ เพราะธรรมศาสตร์เชื่อว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นทุกที่ ทุกเวลา แม้อยู่นอกห้องเรียน และถนนทุกสายไม่ได้มุ่งสู่มหาวิทยาลัยอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว

          “ทักษะสำคัญกว่าความรู้ความรู้มีเยอะมากและออกมาใหม่ตลอดเวลาต่างกับทักษะซึ่งได้แก่ความสามารถในการทำอะไรให้เก่ง ให้เชี่ยวชาญ ความรู้ล้าสมัยได้ ขณะที่ทักษะนั้นจะติดตัวเราไป ซึ่งมีทั้ง Soft Skills และ Hard Skills ความฝันของผมที่เคยพูดไว้ในหลายที่ หลายโอกาส คือเราอยากจะทำให้การศึกษาเปิดกว้างไปถึงรูปแบบที่ เด็กออกแบบได้ว่าตนเองอยากเรียนอะไร (Design Your Own Degree) และจบแล้วจะเป็นอะไร เพราะคนที่รู้ดีที่สุดควรเป็นตัวเด็กไม่ใช่ตัวเรา (สถานศึกษา)” รศ.ดร.พิภพ กล่าว

          นอกจากกิจกรรมวงเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ ยังมีกิจกรรมเปิดบ้านโต้วาที การแสดง Fashion Show จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ การแสดงจากชุมนุม-ชมรม และคอนเสิร์ตจากศิลปิน ซึ่งบรรยากาศในงานเต็มไปด้วยความชื่นมื่นและสนุกสนาน

          ในปีนี้กิจกรรมเปิดบ้านธรรมศาสตร์เรียกได้ว่าจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ได้รับความสนใจจากทั้งนักเรียน ผู้ปกครองและผู้ร่วมงานอย่างล้นหลาม โดยทั้งสองวัน มียอดผู้เข้าร่วมงานที่ลงทะเบียนกว่า 120,000 คน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอขอบคุณทุกท่าน ที่ให้ความสนใจและเข้าร่วมงานเปิดบ้านฯ ในปีนี้อย่างคับคั่ง แล้วพบกันใหม่ในรั้วแม่โดม