Loading...

คิดก่อนโพสต์! สิ่งนั้นอาจเป็น ‘การคุกคามทางเพศออนไลน์’

ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในศตวรรษที่ 21 ทำให้ไม่ว่าเพศใดในสังคม กำลังเผชิญกับการคุกคามทางเพศในรูปแบบออนไลน์ จนยากที่จะหยุดยั้งได้

วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2564

     “การคุกคามทางเพศออนไลน์” ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Online Sexual Harassment หรือ Cyber Sexual Harassment คือ การกระทำใด ๆ ในช่องทางการสื่อสารดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศที่ทำต่อคนอื่นที่เขารับรู้ได้ว่า ละเมิด ไม่ต้องการ ไม่ยินยอม ไม่พร้อม หรือแม้แต่ยินยอมในชั่วขณะนั้น ในสถานการณ์นั้น แต่หากส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้ถูกกระทำถือว่าเป็นการคุกคามทางเพศได้เช่นกัน

     ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในโลกออนไลน์เราจะไม่รู้ว่าใครเป็นใครบ้าง เพราะฉะนั้นการคุกคามทางเพศจะเกิดขึ้นได้ง่าย และหลายคนจะคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาปกติที่เขาคอมเมนต์กัน เขาสื่อสารกัน แต่จริง ๆ ไม่ใช่ เพราะว่าผลกระทบมันจะมากกว่าการคุกคามทั่วไป เพราะว่าเนื่องจากเราไม่เห็นตัวผู้กระทำแล้วเราสื่อสารผ่านภาพ เสียง การพิมพ์ตัวหนังสือ ฉะนั้นผู้ถูกกระทำจะรู้สึกทุกข์ทรมานมาก ไม่รู้จะขอความช่วยเหลือจากใคร ไม่สามารถที่จะหยุดการกระทำเหล่านั้นได้ในทันทีทันใด และไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร

     ผศ.รณภูมิ กล่าวเสริมว่า การคุกคามทางเพศออนไลน์มีหลายรูปแบบ 1. รูปแบบของตัวอักษร เช่น พิมพ์คอมเมนต์สื่อสารโดยตรงกับเราว่า ขอจุดจุดจุดหน่อย อยากกอด อันนั้นใหญ่ อันนั้นเล็ก อันนั้นเท่าไข่ดาว เป็นต้น หรือแม้กระทั่งตอนนี้เราจะเห็นในห้องสื่อสารออนไลน์หลายห้องที่เหมือนเป็นการหยอกล้อ เช่น ขอ S สิงคโปร์ H หน่อย ก็คือของ Sexual Harassment หน่อย อยากจะท้องลูกแฝดด้วยอะไรอย่างนี้ครับ 2. รูปแบบการใช้สัญลักษณ์ หรือ Emoji เช่น เอา Emoji รูปหน้ายิ้มรูปดวงใจไปแปะที่อวัยวะบางส่วนของผู้ถูกกระทำ เช่น หน้าอก อวัยวะเพศ หรือว่าขนตรงนั้นตรงนี้ เป็นต้น 3. รูปแบบการสื่อสารตรงไปที่ผู้รับสารหรือผ่านอีเมล เช่น ส่งสื่อโป๊โดยที่เขาไม่ได้ต้องการ ชวนไปมีเพศสัมพันธ์ หรืออ้างอิงไปบุคคลที่สามในการว่าให้บุคคลที่สามเสียหายในเรื่องเพศ

     และที่สำคัญมีงานวิจัยจำนวนมากที่พบว่า การคุกคามทางเพศออนไลน์กับการคุกคามทางเพศในโลกจริงมีจุดที่จะเชื่อมกัน เช่น การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นในพื้นที่จริงก่อนในห้อง บนเตียง หรือในสถานที่ต่าง ๆ หลังจากนั้นเอาไปเผยแพร่ในสาธารณะในโลกออนไลน์ นี่ก็คือจุดที่เชื่อมกัน หรือบางกรณีเกิดในโลกออนไลน์ก่อน จากนั้นก็กลับไปเกิดในโลกจริงอีก นี่ก็เป็นลักษณะที่อยากจะชวนให้ทุกคนได้รู้และระมัดระวังไว้ครับ

     ผศ.รณภูมิ แนะนำว่า เมื่อเราถูกคุกคามทางเพศออนไลน์ 1. ต้องตั้งสติ แล้วพิจารณาดูว่าสิ่งที่เขาสื่อสารอยู่นี้เรารู้สึกสะดวกสบายใจหรือไม่ หรือว่ามันเป็นการคุกคามเราหรือไม่ 2. เราจะต้องทำการหยุดการสื่อสารนั้นทันที พยายามอย่าไปตอบโต้หรือถ้าจำเป็นต้องตอบโต้ก็ต้องบอกให้ผู้กระทำซึ่งจะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ ทั้งที่เรารู้จักหรือไม่รู้จัก หรือที่เราเรียกว่า Avatar มาก็ต้องบอกผู้กระทำเลยว่าสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่คุกคามเรา 3. เก็บข้อมูลหลักฐานทั้งหมด ถ้าเราตัดสินใจแล้วว่าเราไม่อยากให้เขากระทำต่อคนอื่นอีก และเราต้องการได้รับการเยียวยาบางอย่าง ผู้ถูกกระทำจึงต้องเก็บข้อมูลหลักฐานทุกอย่างไว้ทั้งหมดจากนั้นจึงใช้กระบวนการทางยุติธรรมดำเนินการในขั้นต่อไป ปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการถ่ายรูป แคปเจอร์หน้าจอ หรือว่าส่งไปให้บุคคลที่สามได้รับรู้ไว้ว่าเราเจออะไรอย่างไร และที่สำคัญคืออาจารย์แนะนำว่าควรเขียนไดอารีไว้เหมือนกับบันทึกเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะว่าหลายครั้งเทคโนโลยีเวลาส่งข้อมูลไป พอผู้กระทำรู้ว่าเป็นการคุกคามเขาก็จะทำการ Unsent หรือว่าลบข้อมูล ฉะนั้นต้องบันทึกข้อมูลในไดอารีให้เรียบร้อยว่าเกิดอะไรขึ้น เรารู้สึกอย่างไร เราได้บอกบุคคลที่สามอะไรไว้ เป็นต้น

     สำหรับทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้คำนึงถึงประเด็นนี้ มหาวิทยาลัยโดยการนำของท่านอธิการบดี และรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ที่เรียกว่า “คณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยและความเข้าใจเรื่องเพศ” ซึ่งมีทั้งบุคคลภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ในการป้องกัน ควบคุม ดูแล แก้ไขปัญหา และเยียวยาให้กับผู้ที่กระทำและถูกกระทำด้วยนะครับ สุดท้ายก็อยากจะฝากถึงผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศทั้งในโลกออนไลน์และแบบเผชิญหน้าโดยตรง ก็อย่าไปรู้สึกแย่กับมันมาก เราต้องลุกขึ้นมาแล้วสู้ก้าวผ่านมันไปให้ได้ แล้วเรื่องร้ายทั้งหมดจะผ่านไปครับ ผศ.รณภูมิ กล่าวทิ้งท้าย