Loading...

30 ปี SIIT ธรรมศาสตร์ ยกระดับสู่ “Education Hub” ตอบโจทย์การศึกษา วิจัย และธุรกิจ

SIIT ธรรมศาสตร์ เปิดเสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ก่อตั้งสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร พร้อมตอกย้ำความเป็นผู้นำในฐานะวิศวะอินเตอร์แห่งแรกของไทย

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2565

 

     สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรม “SIIT 30th Anniversary: Learning for the Future” เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี การก่อตั้งสถาบัน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 โดยมีคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณาจารย์ ผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงนักศึกษาปัจจุบัน และศิษย์เก่า เข้าร่วมงานอย่างเนืองแน่น

     ศ.ดร.พฤทธา ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โจทย์ของภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่คือเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจที่ไม่มีการ Transform ก็จะไม่มีทางชนะ แต่ธุรกิจจำนวนมากกลับยังไม่รู้ว่าจะ Transform อย่างไร หรือ Transform ตรงไหน จึงเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาที่จะเข้าไปชี้ให้เห็นว่าตรงไหนควรพัฒนาหรือปรับปรุง ซึ่งปัจจุบัน SIIT ได้ทำหน้าที่เป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรมในการสร้างบัณฑิต

     “ปัจจุบันโจทย์ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไป SIIT จึงต้องทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมต่อความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเข้ากับการผลิตบัณฑิตยุคใหม่ และเปิดโอกาสให้นักศึกษามีประสบการณ์จริงจากการศึกษา วิจัย และแก้โจทย์ธุรกิจจริง ๆ ซึ่งหากย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ขณะนี้ SIIT ได้ข้ามผ่านเฟส 1 ที่เน้นเรื่องการให้การศึกษา และเฟส 2 ที่ให้ความสำคัญกับงานวิจัยมาแล้ว ปัจจุบันอยู่ในเฟส 3 ที่จะต้องตอบโจทย์ธุรกิจอุตสาหกรรมได้ทั้งในไทยและภูมิภาคให้ได้” ศ.ดร.พฤทธา กล่าว

     ศ.ดร.พฤทธา กล่าวอีกว่า กว่า 90% ของนักศึกษา SIIT ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เป็นชาวต่างชาติ เมื่อเขาเหล่านั้นสำเร็จการศึกษาและกลับไปทำธุรกิจหรือทำงานในภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศตัวเอง ก็จะเป็นโอกาสและช่องทางที่ดีที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้น ดังนั้นเราตั้งเป้าในก้าวต่อไปว่าจะยกระดับ SIIT สู่การเป็น Education Hub ของภูมิภาค ซึ่งนอกจากเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและวิจัยแล้ว จะช่วยเชื่อมต่อประเทศไทยเข้ากับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมนานาชาติด้วย

     รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยในเวทีเสวนาวิชาการภายในงานว่า ยุคทองของมหาวิทยาลัยที่มีคนแย่งกันสอบเพื่อเข้าเรียนนั้นได้หมดไปแล้ว เด็กยุคใหม่มีความศรัทธาในวุฒิการศึกษาน้อยลง ประกอบกับสถานการณ์เด็กเกิดน้อย นั่นทำให้ประเทศไทยเหลือที่ว่างในระดับปริญญาตรีจำนวนมาก จากข้อมูลพบว่าเรามีที่นั่งมากถึง 1.4 แสนที่นั่ง แต่มีเด็กเข้าสู่ระบบเพียง 8 หมื่นที่นั่งเท่านั้น ที่สุดแล้วมหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องลดปริมาณห้องเรียน และลดจำนวนอาจารย์ผู้สอนลง

     รศ.ดร.พาสิทธิ์ กล่าวว่า ถึงเวลาที่มหาวิทยาลัยต้องทบทวนและออกแบบวิธีคิดใหม่ เพื่อผลิตบุคลากรที่สอดคล้องความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และความต้องการของผู้เรียนให้มากขึ้น ซึ่งหากมองในมิติทางเศรษฐกิจแล้ว ประเทศที่พัฒนาจะแบ่งผลิตภัณฑ์และบริการออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. สินค้าเกษตรและอาหาร (Agriculture & Foods) 2. กลุ่มสินค้าสร้างสรรค์ (Creative) 3. กลุ่มสินค้ามูลค่าสูง (High Value Technology)

     อย่างไรก็ตาม เมื่อหันกลับมาดูประเทศไทยพบว่าผลิตภัณฑ์และบริการในกลุ่ม High Value Technology มีไม่เพียงพอ ในขณะที่เรากลับมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้นสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยจึงควรเข้ามาสนับสนุนเรื่องนี้ เช่น การให้หน่วยวิจัยศึกษาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าที่มีอยู่เดิม เช่น ข้าว มัน ปาล์ม ยาง ฯลฯ

     นายสุพันธุ์ มงคลสุธี อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤติเงินเฟ้อ น้ำมันแพง การขึ้นดอกเบี้ย ฯลฯ ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตน้อยกว่าอีกหลายประเทศในอาเซียน และดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมก็ลดลง ฉะนั้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเองก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับภาคการศึกษาด้วยเช่นกัน

     “วันนี้ภาคอุตสาหกรรมต้องการในเรื่องของการลดต้นทุน การเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิต การตลาด  การสื่อสาร สิ่งเหล่านี้ต้องการได้บุคลากรเข้ามาช่วย จึงเป็นเรื่องดีหากภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยเข้ามาเชื่อมกัน ออกแบบความต้องการที่ไปด้วยกันได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งต่อไปรูปแบบของการเรียนการสอนก็อาจมีความเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น และไม่ได้เรียนอยู่เฉพาะในห้องเรียน แต่ต้องมาฝึกประยุกต์ใช้กับสถานการณ์จริง    ซึ่งหลักสูตรปริญญาตรีก็อาจเหลือเรียนแค่ 3 ปีก็ได้ พอปี 4 ค่อยกลับมา Upskill ในแต่ละจุด ผนวกกับรูปแบบของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ทุกคนจะสามารถเข้ามาเพิ่มทักษะได้ตลอดเวลา” นายสุพันธุ์ กล่าว

     ด้าน รศ.ดร.วิริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในอดีต ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจะแข่งขันกันเรื่อง QCD ในแง่ของคุณภาพ การพัฒนา ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล แต่ปัจจุบันมีแนวคิดเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โมเดลเศรษฐกิจ BCG ภาษีคาร์บอน ฯลฯ ฉะนั้นถัดจากนี้ ภาคธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อม เพิ่มมากขึ้น

     “วันนี้เรามองว่าเรื่องของการวิจัย เรื่องของเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ทางสถาบันการศึกษาอย่าง SIIT ก็สามารถเข้ามาช่วยได้ ด้วยเรื่องของวิชาการ แนวทางความรู้ ที่สามารถมาช่วยเสริมการทำงานของ กนอ. ให้ขับเคลื่อนเพื่อประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตจะเกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม ที่เข้ามาช่วยกันทำให้ทั้งสองฝ่ายมีความยั่งยืนต่อไปได้” รศ.ดร.วิริศ กล่าว

     อนึ่ง SIIT ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2535 ภายใต้ความร่วมมือของ 3 องค์กรระดับประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น ซึ่งเห็นพ้องร่วมกันที่จะผลิต “กำลังคน” ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และสามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่โลกมีความต้องการวิศวกร นักเทคโนโลยี และนักวิจัย จึงเปิดสอนหลักสูตร “วิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ” หรือ วิศวะอินเตอร์ แห่งแรกของประเทศไทย

     ทั้งนี้ ปัจจุบัน SIIT เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติด้านวิศวกรรมศาสตร์และการจัดการ ในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก