Loading...

‘ธรรมศาสตร์’ สถาบันแห่งความยั่งยืน ทุกนโยบายชี้วัดได้ด้วย SDGs

แม้อยู่ภายใต้ความกดดันจากโควิด-19 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังคงเดินหน้านโยบายผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยนำ SDGs มาเป็นแนวทางประกอบเข้ากับนโยบายมหาวิทยาลัย

วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ.2564

     การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย ต่างหยุดชะงักด้วยโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งทับถมปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่แต่เดิมให้รุนแรงยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน คุณภาพการศึกษา ไปจนถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบสุขภาพ

     ปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความพยายามของนานาชาติ ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งรับรองโดย 193 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ เพื่อใช้เป็นกรอบการพัฒนาให้สำเร็จภายในปี 2573

     อย่างไรก็ตาม ความท้าทายนี้ก็เผยให้เห็นโอกาสที่ทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันทำงานอย่างจริงจัง ซึ่งนอกจากจะเพื่อให้บรรลุตามตัวชี้วัดใน SDGs แล้ว ยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชากรโลกสามารถต้านทานวิกฤติในครั้งต่อไป 

     แม้อยู่ภายใต้ความกดดันจากโรคระบาด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังคงเดินหน้านโยบายผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยนำ SDGs มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ และประกอบเข้ากับทุก ๆ นโยบายของมหาวิทยาลัย

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า สหประชาชาติได้กำหนด 17 เป้าหมายในการบรรลุ SDGs ซึ่งครอบคลุมทุกมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้ประชากรโลก โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลักดัน SDGs ให้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2558 

     “เราตั้งใจจริงที่สร้างธรรมศาสตร์ ให้เป็นหัวเรือในการผลักดันเป้าหมายพัฒนายั่งยืนของไทย และนานาชาติ เราผนวก SDGs เข้ากับการบริหารงานในทุกคณะ และทุกศูนย์การศึกษา ทั้งยังนำ SDGs รวมเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาความสามารถของนักศึกษา ให้เป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง สามารถนำเสนอทางออกให้กับความท้าทายต่าง ๆ ในระดับโลกและประเทศ” รศ.เกศินี ระบุ 

     ไม่ใช่เพียงคำพูด หากแต่ที่ผ่านมา ธรรมศาสตร์ได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยได้ตั้งคณะกรรมการจัดทำนโยบายด้าน SDGs ซึ่งมี รศ.เกศินี นั่งเป็นประธานด้วยตัวเอง และยังได้จัดตั้งกลุ่มทำงานเป็นกลไกในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านต่าง ๆ โดยให้แนวทางปฏิบัติแก่ทุกคณะ ทั้งยังจัดหางบประมาณและทรัพยากรเพื่อสนับสนุนสการทำนโยบายอีกด้วย

     คณะกรรมการได้กำหนดการขับเคลื่อน SDGs ด้วย 4 พันธกิจ ได้แก่

   1. สร้างมหาวิทยาลัยยั่งยืนในทุกศูนย์การศึกษา ให้นักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี มีพื้นที่สีเขียว ได้รับสารอาหารครบถ้วนในราคาที่สมเหตุสมผล ใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งสร้างพื้นที่การพูดคุยที่ส่งเสริมความหลากหลายทางอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และแนวคิดทางการเมือง

   2. สนับสนุนงานวิจัยที่ให้ผู้วิจัยมีอิสระทางความคิด สร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ พร้อมผลักดันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

   3. ส่งเสริมให้ทุกคณะทำงานร่วมกับรัฐบาลและองค์กรนอกมหาวิทยาลัย เพื่อทำให้การบรรลุ SDGs เป็นจริง

   4. ให้เสรีภาพแก่นักศึกษา ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนามหาวิทยาลัย จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนที่บูรณาการแนวคิดของ SDGs ยกระดับให้นักศึกษาเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในฐานะพลเมืองโลก  

     “เราเชื่อว่า SDGs เป็นแนวทางที่จะทำให้มหาวิทยาลัย นักศึกษา และบุคลากร เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาความท้าทายต่าง ๆ ของประเทศ ตอบโจทย์เป้าหมายของมหาวิทยาลัยและยังเป็นการเตรียมความพร้อมบุคลากรสู่การเป็นประชาคมโลกที่ดี มีอนาคตที่ยั่งยืน” รศ.เกศินี กล่าวทิ้งท้าย