Loading...

Thammasat Hackathon X Pathumthani Case Competition เปิดพื้นที่พัฒนาทักษะนักศึกษาการเป็นผู้นำนวัตกรรม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับจังหวัดปทุมธานี จัดการแข่งขัน Hackathon เปิดพื้นที่ให้นักศึกษาเสนอไอเดียแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในจังหวัดปทุมธานี

วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2564

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยฝ่ายการนักศึกษา และฝ่ายวิชาการ ร่วมกับ จังหวัดปทุมธานี และ เครือข่ายผู้ประกอบการ จัดการแข่งขัน Thammasat Hackathon X Pathumthani Case Competition ขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการและผู้นำด้านนวัตกรรม (Innovation & Entrepreneurial skills) ผ่านการนำเสนอไอเดียในการช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในจังหวัดปทุมธานี ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่เข้าร่วมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านมุมมองและประสบการณ์จริงของผู้ประกอบการที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในแวดวงธุรกิจ

     การดำเนินงานในครั้งนี้ จัดการแข่งขันในรอบแรก (Pitch Day round) เมื่อวันที่ 27 – 29 ตุลาคม 2564 มีทีมที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 84 ทีม และคัดเลือกเหลือ 21 ทีมสุดท้ายเข้าสู่กิจกรรม Mentoring Program เพื่อให้ผู้ที่ผ่านเข้ารอบได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเมนเทอร์มากความสามารถ และจัดการแข่งขันในรอบสุดท้าย (Final Pitch round) เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 ผ่านระบบออนไลน์ด้วยโปรแกรม ZOOM และถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่านทาง Facebook Page : ธรรมศาสตร์สุดสุด ซึ่งคณะกรรมการได้ทำการคัดเลือก 7 ทีมสุดท้าย และจัดพิธีมอบรางวัลเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา

     สำหรับการแข่งขันในรอบแรก (Pitch Day round) นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับโจทย์สำหรับออกแบบไอเดียที่จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในจังหวัดปทุมธานี โดยแบ่งออกเป็น 10  โจทย์ ดังนี้

     1.สวนสาธารณะที่ไม่ใช่แค่...พื้นที่สาธารณะ
พัฒนาพื้นที่สาธารณะธรรมดาให้เกิดประโยชน์ในมิติต่างๆมากขึ้นต่อการใช้งาน

     2. กล้วยหอมทอง กล้วยหอมของเมืองปทุม
ส่งเสริมการขายธุรกิจและการตลาดด้านการปลูกผลไม้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของเมืองปทุม

     3. ก้อนเพาะปลูกมหัศจรรย์
ส่งเสริมการขยายธุรกิจและส่งเสริมวิสาหกิจเกี่ยวกับการเพาะปลูกพืชและต้นไม้ด้วยนวัตกรรม

     4. รพ.สต. บทบาทท้องถิ่นกับการสร้างหลักประกันสุขภาพของคนไทย
หานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนให้โรงพยาบาลสุขภาพตำบล เกิดความเข้มแข็งเชื่อมต่อกับชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ

     5. โอกาสและทางเลือกของข้าวพันธุ์ไทย..ข้าวหอมปทุม
การหานวัตกรรมเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวไทยและมุ่งสู่ Smart Farmer เพื่อนำไปต่อยอด

     6. วิถีชีวิตที่มีรสชาติ
หานวัตกรรมที่ส่งเสริมธุรกิจด้านร้านอาหารและเครื่องดื่มให้เป็นที่รู้จักแบบ Top of mind ของเมืองปทุม

     7. การจัดการพื้นที่สันทนาการและสนามกีฬาในสไตล์ New Normal
หานวัตกรรมช่วยให้สามารถออกกำลังกายในพื้นที่สนามกีฬาได้ โดยปลอดภัยภายใต้สถานการณ์ Covid19

     8. Aged Society สูงวัยใกล้ชิดไม่ใช้ชีวิตเพียงลำพัง
หานวัตกรรมแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงที่หกล้มหรือประสบอุบัติเหตุภายในที่อยู่อาศัยเพียงลำพัง

     9. วิสาหกิจชุมชนสมุนไพร ควรไปทางไหนในยุค New Normal
หานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาวิสาหกิจชุมชนเรื่องสมุนไพรทั้งด้านการวิจัยและการตลาด

     10. สามโคกไม่ได้เป็นแค่ทางผ่าน
สร้างนวัตกรรมส่งเสริมให้เห็นถึงศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนวัฒนธรรมของเมืองปทุมฯ

     โดย 21 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบ ได้เข้าร่วมกิจกรรม Mentoring Program ในการพัฒนาทักษะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเมนเทอร์ผู้เชี่ยวชาญจากแวดวงธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 7 ท่าน ระหว่างวันที่  1 – 6 พฤศจิกายน 2564 เพื่อเตรียมพร้อมสู่การนำเสนอในรอบสุดท้าย ประกอบด้วย

     1. คุณนวลศิริ วรเมธาวิวัฒน์ CMO & Co-founder Accrevo แพลตฟอร์มบัญชีดิจิทัลสำหรับธุรกิจ SME

     2. ดร.วินน์ วรวุฒิชัย CEO and Founder ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Botnoi และผู้เชี่ยวชาญ Data science

     3. คุณสิริชัย ฤทธิปัญญาวงศ์ CEO แบรนด์ผ้าม่าน BIW และเครือข่ายนักธุรกิจ SME HOPE

     4. คุณสมรรถพล วิทวัสกุล CEO บริษัท อิมเมจิน อินโนเวชั่น จำกัด บริษัทด้าน Technology Agency and Solution ขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสร้างโลกที่ดีกว่า

     5. คุณราชิต ไชยรัตน์ ผู้บริหาร CNR Group นักบัญชีควบกฎหมาย ผู้ปั้น Start up ด้านบัญชี Accrevo

     6. คุณธเนศ จิระเสวกดิลก Co-founder Divana สปาไทยระดับโลก และ Dii แบรนด์ด้านสุขภาพและเวลเนส

     7. คุณสุธาสินี สถดประเสริฐ Founder Happy Grocers แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสินค้าเกษตรอินทรีย์

     สำหรับในรอบสุดท้าย (Final Pitch round) ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมากความสามารถในแวดวงธุรกิจทั้ง 5 ท่านในการให้คำแนะนำแก่ทีมนำเสนอและตัดสินการแข่งขัน ประกอบด้วย

     1. คุณพัฒนพงศ์ รานุรักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานบริหาร “ดีวาน่าเวลเนส”

     2. คุณธนพันธ์ วงศ์ชินศรี ผู้ร่วมก่อตั้ง “Penguin Eat Shabu”

     3. คุณสุรนาม พานิชการ ผู้ก่อตั้ง “โทฟุซัง”

     4. คุณภาวรินทร์ รามัญวงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มธรรมศาสตร์และการฝากร้าน

     5. คุณอายุ จือปา ผู้ก่อตั้งแบรนด์กาแฟเพื่อสังคม “อาข่า อาม่า”

     สำหรับพิธีมอบรางวัลจากการแข่งขัน จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ณ อาคารเรียนกลุ่มสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้รับเกียรติจาก รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี, รศ.โรจน์ คุณเอนก รองอธิการบดีฝ่ายการบดีฝ่ายนักศึกษา, คุณพัฒนพงศ์ รานุรักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์, อ.ดร.ธันยพร สุนทรธรรม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา, คุณสิระพงษ์ สิริโพธินันท์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี, คุณธาราธร นิลจรัสวณิช เลขานุการนายกเทศมนตรีนครรังสิต รวมถึงอาจารย์ผู้สอนรายวิชา TU109 เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจัดการแข่งขัน Thammasat Hackaton X Pathumthani Case Competition เป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้นักศึกษาได้ฝึกฝนทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และผู้บริหารที่ดีต่อไปในอนาคต ซึ่งกิจกรรมนี้จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่มีประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาเกิดคุณลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการที่ดีและสามารถประสบความสำเร็จได้ในอนาคต

     คุณสิระพงษ์ สิริโพธินันท์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า องค์การบริหาร       ส่วนจังหวัดปทุมธานี มีนโยบายที่จะผลักดันจังหวัดปทุมธานีสู่การเป็น Smart City ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ร่วมกับคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาท้องถิ่น และมีแนวคิดในการเป็นผู้บริหารและผู้ประกอบการที่ดี ซึ่งผลงานความคิดสร้างสรรค์จากกิจกรรม Thammasat Hackaton X Pathumthani Case Competition ในครั้งนี้จะถูกนำไปบรรจุในการบริหารส่วนท้องถิ่นด้วยเช่นกัน

สำหรับผลการแข่งขันในครั้งนี้ มีทีมที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 7 ทีม ประกอบด้วย

     1. รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาทพร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ ทีม Planter Case กลุ่มก้าวหน้าก้อนเพาะปลูกมหัศจรรย์

     2. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 25,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ ทีม playing with กล้วย Case กล้วยหอมทองปทุมรัตน์

     3. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 25,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ ทีมหญิงเองก็ลำบาก Case กลุ่มก้าวหน้าก้อนเพาะปลูกมหัศจรรย์ และทีม Health Promoting Center Program Case รพ.สต. บทบาทท้องถิ่นกับการสร้างหลักประกันสุขภาพของคนไทย

     4. รางวัลชมเชย ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ ทีมเบื่อแล้วน้ำพริกลงเรือ อยากกินน้ำเกลือ รพ. Case รพ.สต. บทบาทท้องถิ่นกับการสร้างหลักประกันสุขภาพของคนไทย, ทีม PFR Little farmer Case โอกาสและทางเลือกของข้าวพันธุ์ไทย...ข้ามหอมปทุม และทีม Chicka Chick Case สามโคก ไม่ได้เป็นแค่ทางผ่าน