Loading...

Soft Power ที่เป็นมากกว่าการขายของ มุมมองฉบับรัฐศาสตร์

หลังเกิดปรากฏการณ์ข้าวเหนียวมะม่วงฟีเวอร์ เรื่อง Soft Power จึงถูกหยิบขึ้นมาพูดคุยอีกครั้ง แล้ว Soft Power คืออะไรกันแน่?

วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2565

     หลังเกิดปรากฏการณ์ข้าวเหนียวมะม่วงฟีเวอร์ ที่เป็นกระแสจากการที่ศิลปินไทยนำข้าวเหนียวมะม่วงไปรับประทานบนเวทีดนตรี Coachella เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2565 เรื่อง Soft Power จึงถูกหยิบขึ้นมาพูดคุยอีกครั้ง เทียบเคียงกับปรากฏการณ์ ลูกชิ้นยืนกิน ที่ได้รับความนิยมในไทยจากการที่ศิลปินชื่อดังให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าเป็นอาหารจานโปรด  หลายคนมองว่าสิ่งเหล่านี้คือ Soft Power แต่หากอธิบายตามนิยามของ Soft power ด้วยแนวคิดทางรัฐศาสตร์ ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจยังไม่ใช่ Soft Power ซะทีเดียว

     แล้ว Soft Power คืออะไรกันแน่ ? วันนี้เรามาพูดคุยกับ ผศ.ดร.พีระ เจริญวัฒนนุกูล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     ก่อนจะมาสู่แนวคิดเรื่อง Soft Power เราต้องทำความเข้าใจเรื่อง Power หรือ อำนาจ ก่อนว่าคืออะไร  อาจารย์พีระ อธิบายว่า ‘อำนาจ’ เป็นแนวคิดหลักของสาขารัฐศาสตร์มาตั้งแต่ดั้งเดิม ‘อำนาจ’ คือความสามารถที่จะทำให้ผู้อื่นปฏิบัติตามในสิ่งที่ผู้ใช้อำนาจต้องการ ฉะนั้น ‘อำนาจ’ จึงมีเครื่องมือหลายแบบ มีทรัพยากรหลายแบบ เช่น อำนาจในรูปแบบการใช้กำลังทหาร การเอาปืนบังคับแล้วบอกให้ผู้อื่นทำตาม ถ้าเกิดเขาทำตามแปลว่าผู้ถือปืนมีอำนาจเหนือกว่า ดังนั้น Power หรือ อำนาจ จะต้องมีผู้ใช้และผู้ถูกใช้  

     ส่วน Soft power มาจากรากคำศัพท์ที่คิดค้นโดยนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ โจเซฟ ไน (Joseph Nye) หมายถึงการใช้อำนาจ ที่ทำให้ผู้อื่นทำสิ่งที่ผู้ใช้อำนาจนั้นปรารถนาได้โดยที่ไม่ต้องใช้กำลังบังคับ ไม่ใช่ด้วยการจ่ายเงิน ไม่ใช่ด้วยการบังคับด้วยปืน แต่ต้องทำให้เขานิยมชมชอบ และทำในสิ่งที่ต้องการได้อย่างสมัครใจ

     โดย อาจารย์พีระ ได้อธิบายถึงองค์ประกอบที่จะทำให้เกิด Soft Power ไว้ 3 ประการได้แก่     

         1. วิธีการ กล่าวคือ จะต้องใช้วิธีการใด ๆ ที่ไม่ใช่การบังคับ   

         2. ทรัพยากร เป็นไปได้หลายแบบ ทรัพยากรสามารถเป็นวัฒนธรรมก็ได้ เป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ก็ได้ หรือทรัพยากรในเรื่องคุณค่าด้านต่าง ๆ ที่เราทำเป็นตัวอย่างให้เห็นออกมา (Lead by example) ก็ได้เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของการใช้ Soft Power  

         3. การประเมินผลลัพธ์ การจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Soft Power ขึ้นมาได้เราต้องมีการประเมินว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นสามารถตอบเป้าประสงค์ของผู้ใช้ Soft Power หรือไม่      
     ดังนั้นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น ข้าวเหนียวมะม่วง อาหารไทย ต้มยำกุ้ง มวยไทย ทั้งหลายนี้ สิ่งเหล่านี้คือ ทรัพยากร ที่ยังไม่ถือว่าเป็น Soft Power ร้อยเปอร์เซ็นต์

     อาจารย์พีระ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การจะทำให้เกิด Soft Power จริง ๆ ขึ้นมาได้ในทางรัฐศาสตร์ ผู้ใช้ Soft Power จะต้องมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น สมมติว่าประเทศไทยเป็นผู้ใช้ จะต้องมีการกำหนดเป้าหมายก่อนว่า ประเทศไทยจะใช้ Soft Power เพื่อจุดประสงค์อะไร เราต้องการให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกเขาทำอะไร หรือคิดอย่างไรกับเรา หากเรานิยามเป้าประสงค์ได้แล้ว เราจะสามารถกำหนดได้ว่าต้องใช้ทรัพยากรรูปแบบไหน ใช้การสนับสนุนอย่างไร และควรมี

     ในเรื่องพลังและอิทธิพลของ Soft Power ที่มีต่อชีวิตของผู้คนในสังคมนั้น อาจารย์พีระ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องดูแต่ละกรณีไป ตัวอย่างเช่น กรณีของสหรัฐอเมริกา มีคำพูดของนักประวัติศาสตร์พูดไว้ว่า คนตะวันออกกลาง ชอบดื่มโค้ก ชอบกินแมคโดนัล ชอบดูหนังฮอลลิวู้ด แต่ทำไมไม่ชอบสหรัฐอเมริกา นั่นแสดงให้เห็นว่า ต่อให้เอาสินค้าเหล่านี้ไปเผยแพร่ เขาอาจจะชอบแค่เพียงตัวสินค้าเท่านั้น     

     Soft Power จึงไม่ใช่แค่การนำสินค้าต่าง ๆ ออกไปขาย แต่จะต้องมีองค์ประกอบที่ครบถ้วน มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และมีการประเมินผลลัพธ์ ดังนั้น Soft Power จึงไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิด ปรากฏการณ์ที่เกิดกับข้าวเหนียวมะม่วงดังกล่าว จึงเป็นกระแสที่เข้ามาชั่วครู่เท่านั้น และอาจเรียกได้ว่าเป็นการนำทรัพยากรไปเผยแพร่ แต่ยังไม่ใช่ Soft Power

 

     อาจารย์พีระ ยังได้กล่าวถึงทรัพยากร Soft Power ในประเทศไทย ที่สามารถสะท้อนเป็นข้อเสนอแนะทางนโยบาย โดยได้แสดงความคิดเห็นว่า หากเป้าหมายคือต้องการให้ผู้อื่นนิยมประเทศไทยในคุณค่าบางอย่าง ที่ไปเชิดชูสถานภาพของไทยในเวทีระหว่างประเทศ คุณค่าอย่างหนึ่งที่สามารถขายได้ในเวทีโลกก็คือ คุณค่าที่ไทยเป็นชาติที่ปกป้องรักษาสิทธิเสรีภาพของการเลือกการใช้ชีวิต หรือ freedom of choice ซึ่งเป็นสิ่งที่เกือบทั้งโลกถวิลหา และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเราก็ปกป้องเรื่องนี้มาตลอด หากสิ่งนี้คือเป้าหมาย นโยบายที่ภาครัฐควรสนับสนุน ก็คือเรื่องการผ่านกฎหมายให้ LGBTQ สามารถแต่งงานกันได้ เพราะการผ่านกฎหมายนี้จะเป็นการแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยนิยมคุณค่าในเรื่องนี้อย่างแท้จริง โดยก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยมี แคมเปญของการท่องเที่ยวไทย Go Thai Be Free เป็นแคมเปญ ที่เน้นดึงดูดนักท่องเที่ยว LGBTQ ซึ่งไทยเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลกนับว่าเป็นประเทศที่เปิดกว้างเรื่องเพศสภาพมาก แต่หากประเทศเรายังไม่มีกฎหมายฉบับนี้ ก็ยังไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเป็นประเทศที่ให้คุณค่าในเรื่องสิทธิเสรีภาพของการเลือกเพศสภาพอย่างแท้จริง

     อาจารย์พีระ ทิ้งท้ายว่า ยุทธศาสตร์ Soft Power จะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และที่สำคัญ คือภาครัฐต้องให้การสนับสนุน ซึ่ง Soft Power ต้องใช้เวลา ไม่สามารถเห็นผลภายในไม่กี่วัน อย่างประเทศเกาหลีต้องใช้เวลาเป็นสิบปี กว่าที่เราจะรู้จักซีรีย์เกาหลี หรือนิยมเกาหลี เพราะ Soft Power คือการเข้าไปมีผลต่อความคิด ความรู้สึกของผู้คนในสังคม ที่เราต้องสร้างแรงดึงดูด สร้างความหน้าเชื่อถือ ดังนั้นการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ หากเป้าหมายคือเราต้องการให้เขานิยมไทย ถ้าเขานิยมไทยได้จริง ๆ ก็ถือว่าบรรลุผลของ Soft Power นั้นแล้ว