Loading...

‘3P ปุ๋ยคอกอัดเม็ดผสมจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์’ รักษาโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน ผลงานนักศึกษาธรรมศาสตร์

นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คิดค้นนวัตกรรมปุ๋ยคอกอัดเม็ด รักษาโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียนอย่างครบวงจร

วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2565

     โรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน นับว่าเป็นปัญหาหลักที่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนต้องเผชิญตั้งแต่กระบวนการผลิตในแปลง สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อรา Phytophthora palmivora ที่ระบาดในช่วงฝนตกหนักและมีความชื้นสูง ซึ่งเมื่อทุเรียนเป็นแล้วจะทำให้ยืนต้นตาย ส่งผลต่อผลผลิตและรายได้ที่น้อยลงไป โดยในปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่ทำให้โรครากเน่าโคนเน่านั้นหายขาด     

     การแก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียนที่ถูกหลักจะต้องมีการบำรุงต้น และกำจัดเชื้อให้อยู่ในปริมาณที่ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ เกษตรกรส่วนใหญ่จึงใช้ทั้งการพ่นสารเคมี และใช้ชีวภัณฑ์อย่างไตรโคเดอร์มา แต่วิธีดังกล่าวจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องแรงงานและความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีซึ่งกระทบต่อทั้งคนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นนวัตกรรม ‘3P ปุ๋ยคอกอัดเม็ดผสมจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์’ จึงเข้ามาตอบโจทย์ในการลดปัญหาของเกษตรกรผ่านการใช้ปุ๋ยในครั้งเดียว แก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียนได้อย่างครอบคลุมและตรงจุดทั้งการบำรุงต้นและกำจัดเชื้อ 

     ‘3P ปุ๋ยคอกอัดเม็ดผสมจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์’ เป็นนวัตกรรมจากการคิดค้นของ เทียนนภา รองพนัง และ สุวิจักขณ์ ขาวทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร โดยมีรศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

     จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมนี้ เทียนนภา รองพนัง เล่าว่า เริ่มจากการได้ไปศึกษาดูงานจริงที่สวนทุเรียนของเกษตรกร ซึ่งได้ไปพบเจอกับปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน โรคนี้ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อธุรกิจทุเรียนเป็นอย่างมาก เพราะว่าเมื่อทุเรียนเป็นโรครากเน่าโคนเน่าจะส่งผลต่อทั้งต้น ทำให้ได้
ผลผลิตที่น้อยลงและมีตำหนิต่อลูกทุเรียน การจัดการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่ยังเป็นการใช้สารเคมี ซึ่งเราเล็งเห็นว่าการใช้สารเคมีส่งผลต่อตัวผู้ใช้เองและต่อสิ่งแวดล้อมทำให้เรานำปัญหานั้นกลับมาคิดและแก้ไขปัญหาด้วยชีววิธี

     ส่วนประกอบและหลักการทำงานของนวัตกรรม สุวิจักขณ์ ขาวทอง อธิบายว่า ปุ๋ยคอกอัดเม็ดผสมจุลินทรีย์ฯ มีส่วนประกอบหลักคือตัวปุ๋ยที่เป็นปุ๋ยคอก และตัวเซลลูโลสที่มีหน้าที่ในการกักเก็บอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ โดยเซลลูโลสทำมาจากฟางข้าว ซึ่งเมื่อนำฟางข้าวมาใช้ ก็จะช่วยลดการเผาตอซังข้าวของเกษตรกรที่ปลูกข้าวลงด้วย ตัวเชื้อจุลินทรีย์หลักที่ใช้มี 3 สายพันธุ์ คือ Bacillus subtilis TU-Orga1, Pseudomonas aeruginosa และ Trichoderma Harzianum เชื้อจุลินทรีย์ดังกล่าวมีความสามารถในการจัดการกับโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน ตรึงไนโตรเจนในอากาศและในดิน ย่อยสลายสารประกอบฟอสเฟตและธาตุอาหารต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่พืช

     หลักการทำงานของปุ๋ยคอกอัดเม็ดผสมจุลินทรีย์ฯ คือ เมื่อเรานำปุ๋ยไปใส่ต้นไม้แล้วรดน้ำ เซลลูโลสจะปลดปล่อยอาหารออกมา ตัวจุลินทรีย์ก็จะเข้าไปกินอาหารเกิดการเพิ่มจำนวนแล้วทำหน้าที่ต่าง ๆ ของตัวเอง ตัวปุ๋ยคอกก็จะบำรุงดินทำให้ดินที่เสื่อมโทรมจากการใช้สารเคมีดีขึ้นด้วย ดังนั้นเมื่อเราใช้ปุ๋ยคอกอัดเม็ดฯ ก็จะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของทุเรียน รักษาโรครากเน่าโคนเน่า พร้อมกับทำให้ทุเรียนมีภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้การใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรลดลง

     ‘3P ปุ๋ยคอกอัดเม็ดผสมจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์’ จึงเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเหลือเกษตรกรแก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียนอย่างครอบคลุม ที่ช่วยทั้งพืช เกษตรกร และหมายรวมถึงสิ่งแวดล้อม โดย 3P มาจาก protect plant, protect people และ protect world

     ด้าน รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ เล่าว่าได้มีการนำนวัตกรรมปุ๋ยคอกอัดเม็ดฯไปใช้จริงกับสวนทุเรียนในจังหวัดจันทบุรีแล้ว ซึ่งได้ผลดี เกษตรกรยอมรับ ทำให้มีการขยายผลไปกับพืชอื่น ๆ ในไม้ยืนต้น เช่น ส้มโอ รวมไปถึงกลุ่มของพืชผัก พริก ผลลัพธ์คือพืชเป้าหมายที่นำไปใช้ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต โดยพืชเป้าหมายจะเป็นกลุ่มพืชที่มีปัญหาเรื่องโรครากเน่าโคนเน่า เพราะว่าวัตถุประสงค์ของการคิดค้นนวัตกรรมหนึ่งในนั้นคือเรื่องการควบคุมโรคทางดิน

     สำหรับในขั้นถัดไปของการพัฒนาตัวนวัตกรรม จะเป็นการพัฒนามาตรฐาน ซึ่งการจำหน่ายปุ๋ยหรือการกระจายปุ๋ยเหล่านี้ไปให้กับเกษตรกรใช้เชิงพาณิชย์อย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ พ.ศ. 2548, 2551, 2557 ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปุ๋ย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 นอกจากนี้โรงงานที่จะผลิตก็ต้องได้รับรองมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันทุกภาคส่วนลงตัวพร้อมเดินหน้าต่อไปได้ในอนาคต

   

     นวัตกรรมด้านการเกษตรมีความสำคัญอย่างมาก รศ.ดร.ดุสิต อธิบายว่า ประชากรในประเทศไทยมากกว่าครึ่งประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ดังนั้นหากเราต้องการยกระดับ GDP ของประเทศให้สูงขึ้น ทั้งภาควิชาการและภาครัฐควรให้ความสนใจต่อกลุ่มเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นการคิดค้นนวัตกรรมการเกษตรจึงมีความสำคัญที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริม สนับสนุน และแก้ไขปัญหาที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี พืชผลทางการเกษตรมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งตัวเกษตรกรผู้ผลิตและประชาชนผู้บริโภค

     “การคิดค้นนวัตกรรมชิ้นนี้ อีกวัตถุประสงค์หนึ่งคือเพื่อสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ โดยคนรุ่นใหม่จะมีมุมมองแนวคิดที่สดใหม่และหลากหลายมากขึ้น ดังนั้นหากเราส่งเสริม แนะนำแนวทางให้เขาทำงานให้ถูกทาง เริ่มตั้งแต่การตั้งคำถามเพื่อสร้างนวัตกรรมมาแก้ไขอย่างตรงจุดและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ก็จะทำให้ในประเทศของเรามี
นวัตกรรุ่นใหม่ที่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการเกษตรมากขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้มีศักยภาพในการพัฒนาด้านการศึกษา ด้านวิชาการ รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับภาคการเกษตรไทยให้ดียิ่งขึ้น อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย” รศ.ดร.ดุสิต กล่าวทิ้งท้าย

     ทั้งนี้ ผลงาน ‘3P ปุ๋ยคอกอัดเม็ดผสมจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์’ ได้รับรางวัลระดับดีเด่น ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร (ระดับปริญญาตรี) จากเวทีการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษาประจำปี 2565 ที่จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีผลงานเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 155 ผลงาน จาก 33 สถาบัน