Loading...

CICIM ได้รับบริจาคชุด PPE จาก Suntory Pepsico

วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับบริจาคชุด PPE จากบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) ในโครงการ Less Plastic Thailand

วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565

     วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับบริจาคชุดป้องกันเชื้อไวรัส (ชุด PPE) จากบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) ในโครงการแยกขวดช่วยหมอ (Less Plastic Thailand) เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์นำไปใช้ในสถานการณ์ COVID-19 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ อาคารเรียนและปฏิบัติการรวม ชั้น 10 วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     ศ.ดร.นพ.อดิศว์ ทัศณรงค์ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในขณะนี้สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย มีความรุนแรงเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบให้มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือมีชุด PPE  จำนวนมากที่ต้องถูกใช้ในแต่วัน เนื่องจากไม่เพียงแต่บุคคลากรทางการแพทย์เท่านั้นที่มีความต้องการที่จะใช้ชุด PPE แต่ยังมีบุคลากรหน้าด่านอื่น ๆ เช่น ผู้ที่ขับรถรับส่งผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พยาบาลผู้มีหน้าที่ตรวจเชื้อ Covid 19 ไปจนถึงพนักงานทำความสะอาดและพยาบาลในโรงพยาบาลสนามต่าง ๆ

     ศ.ดร.นพ.อดิศว์ กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาภาวะโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมายที่เกิดขึ้นจากขยะพลาสติก โดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจากขวดน้ำพลาสติก ซึ่งเป็นขยะที่มีคนทิ้งในทุก ๆ วันและไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้เนื่องจากมีการสัมผัสสารคัดหลังหรือน้ำลาย

     “จากทั้งสองปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ผมจึงอยากขอบคุณทางบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) ที่เล็งเห็นว่า ขยะขวดพลาสติกนี้ สามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อสร้างประโยชน์ได้โดยการนำไปแปรรูปเป็นชุด PPE สำหรับบุคลลากรณ์ทางการแพทย์และบุคคลากรด่านหน้า” ศ.ดร.นพ.อดิศว์ กล่าว

     นางสาวเพียงจิต ศรีประสาธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคลและบรรษัทสัมพันธ์บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า โครงการ LESS PLASTIC THAILAND นำขวดพลาสติกจำนวน 18 ขวด สามารถสร้างชุด PPE ได้หนึ่งชุดและสามารถนำไปซักล้างและนำมาใช้ใหม่ได้มากถึง 20 ครั้ง ซึ่งขวดพลาสติกที่นำไปสร้างชุด PPE ได้ในนั้นมีเพียงแค่ประเภท PET 1 เท่านั้น ดังนั้นขวดพลาสติกชนิดอื่น ๆ ที่มีผู้บริจาคมาผ่านโครงการของเรา จะถูกนำไปขายและนำเงินที่ได้จากการขายนั้นไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อชุด PPE ให้กับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์และโรงพยาบาลที่ขาดแคลนซึ่งมีการร้องขอชุดมาผ่านทางโครงการ Less Plastic Thailand