Loading...

8 ปี แห่งการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด คณะวิทยาการเรียนรู้ฯ มธ. มุ่งบ่มเพาะนวัตกรคนรุ่นใหม่

ครบรอบ 8 ปี ก่อตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างสังคมแห่งการเคารพและเรียนรู้ร่วมกัน สานต่อการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด

วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2565

     เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานวันคล้ายวันสถาปนาคณะฯ ครบรอบ 8 ปี ภายใต้ชื่องาน “LSEd - Endless Learning 8 ปี การเรียนรู้ไม่สิ้นสุด” มีการเสวนาในหัวข้อ “การเรียนรู้ไม่สิ้นสุดบนโลกแห่งความแตกต่างหลากหลาย” จาก
ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) พร้อมเปิดตัว วารสารวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ (Journal of Learning Sciences and Education) และชมนิทรรศการ 8 ปี 8 นวัตกรรมการเรียนรู้ ณ ลานวงกลม อาคารสิริวิทยลักษณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า คณะวิทยาการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557 เพื่อสร้าง “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” ที่มี จิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนรู้ ทั้ง ชุมชนครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ชุมชนนักเรียน นักศึกษา ชุมชนเครือข่ายในนิเวศการเรียนรู้รอบด้าน ทั้งผู้ปกครอง นักการศึกษา องค์กรภาคส่วนต่าง ๆ และประชาชนผู้ใช้ประโยชน์ ร่วมเป็นเสาหลักประกอบสร้างสถาบันทางการศึกษาที่มีค่านิยม “สร้างสังคมแห่งการเคารพและเรียนรู้ร่วมกัน” มุ่งสู่วิสัยทัศน์  สถาบันการศึกษาชั้นนำที่ขับเคลื่อนสังคมด้วยการเรียนรู้

     ผศ.ดร.อดิศร กล่าวอีกว่า คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งมั่นอยู่บนแก่นแท้ของการศึกษาที่เชื่อว่าการศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนามนุษย์อย่างเป็นองค์รวมให้เต็มตามศักยภาพของตัวเอง มีวิถีใหม่ของกระบวนการเรียนรู้ 3 ด้าน คือ 1. วิถีการเรียนรู้ด้วยหัวใจ 2. ปฏิบัติด้วยปัญญา และ 3. สร้างนวัตกรรมขับเคลื่อนสังคม          

     คณะวิทยาการเรียนรู้ฯ เป็นชุมชนการเรียนรู้ “สหวิทยาการ” เชื่อมโยงบูรณาการศาสตร์เพื่อสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ โดยนำมุมมองศาสตร์และศิลป์ที่หลากหลายมาพัฒนาการเรียนรู้ของมนุษย์ และก้าวข้ามข้อจำกัดมายาคติของศาสตร์ด้านการศึกษา เข้าสู่แก่นแท้เชิงปรัชญาของการพัฒนามนุษย์

     ด้าน ผศ.ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ กล่าวถึง วารสารวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ว่า วารสารวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ฉบับนี้ ถือเป็นฉบับปฐมฤกษ์ที่จะเป็นพื้นที่ทางวิชาการ แหล่งรวมของสรรพศาสตร์หลากหลายแขนง โดยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาการเรียนรู้และการศึกษาศาสตร์ พื้นที่แห่งนี้จึงถือเป็นแหล่งสมาทานของผู้ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการบูรณาการองค์ความรู้สู่การพัฒนามนุษย์เพื่อสร้างสังคมสันติสุขและยั่งยืน

     ผศ.ดร.ไอยเรศ กล่าวต่อว่า เป้าหมายและแนวทางของการจัดทำวารสารวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่งานวิชาการของบุคลากรทั้งภายในและภายนอก สนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การถกเถียงทางวิชาการและวิชาชีพ อีกทั้ง มุ่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทางการวิจัยด้านวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ และศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

     นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายเพื่อให้วารสารฉบับนี้ได้ก่อเกิดเป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาผลงานของนักปฏิบัติผู้ขับเคลื่อนชุมชนหรือสังคมด้วยการเรียนรู้ในทุกระดับให้เกิดเป็นงานวิจัย-วิชาการที่มีคุณภาพ สามารถเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้ยอมรับในแวดวงวิชาการ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป

     วารสารฉบับปฐมฤกษ์ฉบับนี้จะนำเสนอมิติด้าน “พื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space)” ที่ต้องการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้ที่สามารถเกิดได้ทุกพื้นที่ ทุกหน ทุกแห่ง ดังนั้น บทความภายในวารสาร จึงประกอบด้วยเรื่องราวที่สะท้อนถึงพื้นที่การเรียนรู้หลากหลายมิติ หลากหลายมุมมอง อาทิ พื้นที่การเรียนรู้ในเชิงแนวคิด (concept) ที่ได้รับการอธิบายเชื่อมโยงอย่างมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ทางกายภาพกับบริบท ในขณะเดียวกัน พื้นที่ภายใต้มโนสำนึกของตัวเรา ก็ถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่สามารถขัดเกลาเพื่อธำรงตนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้เช่นกัน

     ทั้งนี้ภายในงานฯ มีการนำเสนอเส้นทางของการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ กับนิทรรศการ 8 ผลงานนวัตกรรมการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด ดังนี้ 1. นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้  2. การเรียนรู้ส่วนบุคคล (personalized learning) รร.สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3. นิเวศการเรียนรู้ รร.สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4. วิจัยมายาคติทางการศึกษา  5. ก่อการครู: ครูบันดาลใจจุดไฟการเรียนรู้ 6. นวัตกรรมออกแบบเกม ออกแบบสังคม 7. นวัตกรรมการศึกษาขับเคลื่อนชุมชน สังคม และ 8. ความเท่าเทียม และความแตกต่างหลากหลาย