Loading...

ส่องกฎหมาย ‘สุราก้าวหน้า’ ปลดล็อคตรงไหน ใครจะได้ประโยชน์

หาก ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ถึงฝัน ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร พูดคุยกับอาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ.2565

     ปัจจุบัน ‘สุรา’ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท ถูกผูกขาดการผลิตอยู่กับทุนรายใหญ่เนื่องจากพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กำหนดให้เพียงผู้ที่มีกำลังการผลิตปริมาณมากเท่านั้นที่จะสามารถขออนุญาตผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ โดยเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติผ่านวาระแรกของ “ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า" ที่นำเสนอโดย ส.ส.เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่พยายามเปิดช่องให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถขออนุญาตผลิตและจำหน่ายสุราได้  

     พูดคุยกับ รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึง “ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า" หากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลอย่างไร และข้อเสนอต่อกฎหมายสุราในปัจจุบัน

     กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสุราในปัจจุบัน รศ.ดร.ปกป้อง อธิบายว่ามี 3 ส่วน ดังนี้ 

   ส่วนที่ 1 พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายที่ดูแลโดยกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ที่ว่าด้วยเรื่องการขออนุญาตผลิตหรือมีเครื่องกลั่น การขออนุญาตนำเข้า การขออนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเรียกเก็บภาษี

   ส่วนที่ 2 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายที่ดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุข ที่มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมมิให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนสร้างปัญหาให้สังคม จึงควบคุมการกำหนดคำเตือนที่บรรจุภัณฑ์ การห้ามโฆษณา ห้ามจำหน่ายในบางสถานที่หรือบางเวลา ห้ามขายกับเด็ก ห้ามส่งเสริมการขาย    ห้ามดื่มในบางสถานที่

   ส่วนที่ 3 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 กฎหมายฉบับนี้ว่าด้วยเรื่องกฎจราจรทั่วไป และมีอยู่ส่วนหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องของการลงโทษผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้วไปขับขี่ยานพาหนะ ซึ่งจะถูกลงโทษตามกฎหมายจราจรทางบก ที่เราเคยได้ยินว่า ‘ดื่มแล้วไม่ขับ’

     ในส่วนของ “ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” ที่กำลังพิจารณากันอยู่ในสภานั้น รศ.ดร.ปกป้อง อธิบายว่า จริงๆแล้วไม่ใช่ร่างกฎหมายสุราเสรี แต่เป็นร่างกฎหมายที่เปิดให้ผู้ผลิตรายเล็กสามารถขออนุญาตผลิต ขายสุราและเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ เพราะในปัจจุบัน พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ได้เปิดช่องให้เพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่มีปริมาณผลิตจำนวนมากเท่านั้น ที่จะสามารถขออนุญาตในการผลิต จำหน่ายสุรา และเสียภาษีได้ “ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า" ที่พิจารณาในสภานี้จึงเป็นการพูดถึงการแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดื่มแล้วไม่ขับขี่ ซึ่งมีกฎหมายใช้บังคับอยู่แล้วในปัจจุบัน

     รศ.ดร.ปกป้อง กล่าวว่า การเปิดให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถขออนุญาตผลิตและขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และเป็นการเพิ่มรายได้ทางภาษีให้กับรัฐบาล ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการดื่มมากหรือดื่มน้อย เพราะไม่ว่าจะมีกฎหมายสุราก้าวหน้าหรือไม่ คนก็บริโภคจากผู้ประกอบการรายใหญ่หรือจากที่นำเข้าอยู่แล้ว ควรไปเพิ่มมาตรการของกฎหมายในเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกฎหมายจราจรทางบกเรื่องดื่มไม่ขับน่าจะดีกว่า 

     ในเรื่องของการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รศ.ดร.ปกป้อง พูดถึงอีก 2 ประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งไม่เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ก็คือเรื่องพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีมาอยู่แล้ว และการบังคับใช้กฎหมายจราจรทางบกกับผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

     ประเด็นแรก พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีการห้ามการโฆษณาเกี่ยวกับสุรา แต่ในปัจจุบันกลับยังมีการพบเห็นการโฆษณาแฝงหลากหลายมากมาย ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการใช้ตราของตนโฆษณาผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยตรง เช่น การโฆษณาขายน้ำดื่ม โดยยังคงนำเสนอผ่านแบรนด์ที่ใช้รูปแบบเดียวกับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในส่วนนี้เองจึงเป็นเรื่องที่พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างครบถ้วน ไม่ให้สามารถอาศัยช่องว่างในการโฆษณาได้

     ประเด็นที่สอง ในส่วนของกฎหมายจราจรทางบกนั้น การลงโทษคนที่ดื่มแล้วขับมีอยู่แล้ว คือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และยังมีโทษปรับ แต่ปัญหาอยู่ที่สภาพบังคับ ซึ่งเกิดการตั้งคำถามว่า สภาพบังคับควรทำอย่างไรที่เราจะทำให้คนที่ดื่มสุรามีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ดื่มแล้วขับ แล้วทำอย่างไรที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายสามารถที่จะป้องกันมิให้ดื่มแล้วขับขี่ ซึ่งหากทำได้จะทำให้ท้องถนนของเราปลอดภัย

     ยกตัวอย่างในประเทศฝรั่งเศส รศ.ดร.ปกป้อง เล่าว่า เมื่อศาลมีการลงโทษผู้ที่ดื่มแล้วขับ ศาลอาจสั่งให้ติดตั้งอุปกรณ์ไว้ที่รถยนต์ เป็นอุปกรณ์ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ที่เมื่อคนนั้นดื่มแอลกอฮอล์ขึ้นมา รถยนต์ก็จะสตาร์ทไม่ได้ เป็นการตัดและป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้น ตัวอย่างดังกล่าวเป็นนวัตกรรมในต่างประเทศที่เขาใช้แล้วเห็นผลจริง จึงมองว่าในประเทศไทยก็ควรที่จะเอามาปรับใช้บ้างเหมือนกันในกรณีคนที่ถูกลงโทษดื่มแล้วขับและเราต้องการเรียกร้องให้เขามีความรับผิดชอบต่อสังคม

     นี่เป็นข้อเสนอในแง่มุมของนักกฎหมายที่มีต่อกฎหมายสุราในประเทศไทย โดยส่วนของ “ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า" จะผ่านหรือไม่นั้น รศ.ดร.ปกป้อง ย้ำว่า ต้องมาถกเถียง พูดคุยแลกเปลี่ยนกันในทุกฝ่าย เพื่อให้การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสุราในครั้งนี้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง