Loading...

อุบัติการณ์ “โรคอ้วน” ภัยร้าย! “อาหาร-การกิน” ยังเป็นสาเหตุหลัก แนะระวังภาวะโรคแทรกซ้อน

ปัจจุบันผู้ป่วยโรคอ้วนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในไทย และเป็นทิศทางเดียวกันทั่วโลก ฟังคำแนะนำจากแพทย์ธรรมศาสตร์ เผยสาเหตุหลัก การดูแลตนเอง และการวัดค่า BMI

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ.2565

     ปัจจุบันผู้ป่วยโรคอ้วน เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศไทย และยังเป็นทิศทางเดียวกันกับทั่วโลก ถ้าย้อนไปในปี พ.ศ. 2557 มีประชากรโรคอ้วนอยู่ 32% ซึ่งหมายความว่าทุก ๆ 10 คนที่เดินมามีโอกาสเจอคนที่เป็นโรคอ้วนถึง 3 คน

     แต่ในช่วงวิกฤตการณ์โรคโควิด ยังพบว่าเราเจออุบัติการณ์โรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการสำรวจในปี 2565 นี้ คาดว่าเราจะมีประชากรโรคอ้วนมากถึง 40% ซึ่งในปัจจุบันเรานับเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศมาเลเซีย

     ผศ.พญ.ศานิต วิชานศวกุล อาจารย์แพทย์โภชนศาสตร์คลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เผยสาเหตุหลักของปัญหาโรคอ้วนว่า มีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก สำหรับปัจจัยภายใน คือเรื่องพันธุกรรมเป็นส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งหากมีเพียงเรื่องของพันธุกรรมอย่างเดียว ไม่ได้มีปัจจัยภายนอก อย่างเช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหาร หรือกิจกรรมทางกายที่ลดลง ก็อาจไม่ได้เป็นโรคอ้วนทุกคน ดังนั้น พฤติกรรมอาจเป็นตัวหลักที่ส่งเสริมให้คนหนึ่งคนมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน หรือมีโรคอ้วนเกิดขึ้นได้ ซึ่งเราไม่อาจเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมได้ แต่เราสามารถควบคุมปัจจัยภายนอกที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของเราได้

     “หากถามว่าคนที่เป็นโรคอ้วนหลัก ๆ น่าจะเป็นเหตุจากการใช้ชีวิต คือ การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม รวมถึงมีกิจกรรมทางกายที่ลดลง ซึ่งถ้าประกอบกับการมีพันธุกรรมเดิมที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอ้วน ก็ยิ่งทำให้มีโอกาสเป็นโรคอ้วนมากกว่าคนทั่วไป” ผศ.พญ.ศานิต กล่าว

     หลายคนอาจเข้าใจว่าผู้ที่มีโรคประจำตัว อย่างเช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน จะเป็นกลุ่มความเสี่ยงที่น่าจะเป็นโรคอ้วน แต่ในความเป็นจริงแล้ว บางครั้งโรคอ้วนกลับเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเหล่านั้นเกิดโรคเบาหวาน ความดัน ไขมัน หรือโรคในกลุ่มที่เราเรียกว่า กลุ่มโรคเมแทบอลิก อันจะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้

     สำหรับโรคที่ทำให้เกิดโรคอ้วน แท้จริงแล้วพบได้ค่อนข้างน้อย เช่น กลุ่มโรคที่มีความผิดปกติทางด้านพันธุกรรมตั้งแต่เด็ก หรือกลุ่มโรคทางต่อมไร้ท่อ เช่น โรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ หรือว่ามีเนื้องอกบางชนิดที่ส่งผลให้การควบคุมการรับประทานอาหารผิดปกติ เป็นต้น แต่โดยหลัก ๆ มักเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต

     ผศ.พญ.ศานิต กล่าวถึงอันตรายจากโรคอ้วนว่า โรคอ้วนสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า เช่น โรคนอนกรน ซึ่งอาจจะนำไปสู่การหยุดหายในขณะหลับ หรือนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วน เช่น โรคซึมเศร้า กลุ่มโรคแมทตาบอลิก เช่น ความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ โรคเกาต์ โรคข้อเข่าเสื่อม ข้อสะโพกเสื่อม ปวดหลัง หรืออาจมีกระดูกสันหลังยุบและมีการกดที่เส้นประสาทที่ไขสันหลัง ซึ่งเป็นผลจากการที่ต้องรับน้ำหนักตัวที่เยอะ โรคอ้วนทำให้มีอาการชาตามปลายมือ ปลายเท้า จากการที่มีไขมันเกินกดทับเส้นประสาทได้ เพิ่มโอกาสเกิดโรคไขมันเกาะตับ อันจะนำมาซึ่งภาวะตับแข็ง และมะเร็งตับได้

     “โรคอ้วนยังมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งมากขึ้น 1 ถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับประชากรที่ไม่อ้วน โดยพบว่าผู้หญิงอาจเจออุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูก รังไข่ หากเป็นผู้ชาย อาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้น หากมีภาวะน้ำหนักตัว หรือเป็นโรคอ้วน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโรค และภาวะแทรกซ้อน เพื่อจะได้รับการรักษาทั้งในเรื่องการลดน้ำหนักตัวอย่างถูกต้อง และรักษาภาวะแทรกซ้อน หรือโรคร่วมอื่น ๆ ได้อย่างเหมาะสม” ผศ.พญ.ศานิต กล่าว

     อาหารในยุคปัจจุบันซึ่งมักเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคอ้วนได้ คือ อาหารประเภทอาหารจานด่วน หรือพูดโดยทั่วไป คืออาหารที่มีพลังงานสูง แต่มีคุณค่าทางสารอาหารต่ำ คำว่าพลังงานสูงอย่างเช่น กลุ่มอาหารเบเกอรี ฟาสต์ฟู้ด เนื่องจากอาหารกลุ่มนี้มีแป้งเยอะ และเป็นแป้งที่ขัดสีแล้ว เช่น แป้งขาว ใส่น้ำตาลปรุงรสเยอะ ซึ่งจะมีพลังงานเยอะในขณะที่มีไฟเบอร์ต่ำ รวมถึงมีไขมันชนิดไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งนอกจากจะให้พลังงานสูงแล้วยังนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดหัวใจสูงได้

     “สำหรับผู้ป่วยโรคอ้วน หรือบุคคลทั่วไปที่รู้สึกว่าตนเองมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน แนะนำให้มาพบแพทย์ เพราะว่าเราต้องมาหาปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค รวมถึงต้องมาหาภาวะแทรกซ้อน การรักษาหลัก ๆ จะมุ่งเน้นที่การลดน้ำหนักตัว รวมถึงรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นแล้ว สำหรับการลดน้ำหนักตัว ตามคำแนะนำ คือ ควรลดน้ำหนักตัวลง 10% ของน้ำหนักตัวในเวลา 3 - 6 เดือน จะเห็นว่าโรคต่าง ๆ รวมถึงสุขภาพจะดีขึ้น วิธีการลดน้ำหนักตัว คือการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง โดยจะแนะนำให้พิจารณาเป็นราย ๆ ไป การยึดถือที่จะรับประทานอะไรสักอย่างหนึ่งควรหาแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะว่าบางครั้งอาจส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่า” ผศ.พญ.ศานิต กล่าว

     การลดน้ำหนัก ผศ.พญ.ศานิต กล่าวต่อไปว่า หลักการคือการควบคุมไม่ให้ได้รับพลังงานที่มากเกินไป ด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ คืออาหารที่มีพลังงานไม่เยอะ แต่ได้รับคุณค่าทางสารอาหาร ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนในปริมาณที่สูงขึ้น กลุ่มแป้งที่ไม่ขัดสี เพื่อที่จะได้ไฟเบอร์ วิตามิน แร่ธาตุ รวมถึงการเลือกรับประทานไขมันดี ยกตัวอย่างเช่น ไขมันจากพืช ได้แก่ กลุ่มน้ำมันพืชต่าง ๆ ในการประกอบอาหาร ยกเว้นน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันปาล์ม เนื่องจากน้ำมันทั้งสองชนิดนี้ มีกรดไขมันอิ่มตัวสูงจึงเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะคอเลสเตอรอล หรือ LDL สูงได้ ซึ่งไม่เหมาะสมกับผู้ที่เป็นโรคอ้วน สำหรับกลุ่มไขมันดีอื่น ๆ ที่สามารถเลือกรับประทานได้ เช่น ไขมันจากเมล็ดธัญพืช ถั่วเปลือกแข็งต่าง ๆ เพราะกลุ่มนี้มีไฟเบอร์และมีวิตามินสูง

     การที่ทานอาหารที่ถูกต้องในปริมาณที่เหมาะสม ตามคำแนะนำกระทรวงสาธารณสุขอย่างง่าย คือ Food Plate Model หรือรูปแบบจานอาหาร 2:1:1 คือ ครึ่งจานควรจะเป็นผักใบเขียว อีก 1 ใน 4 ของจานควรจะเป็น ข้าว แป้งที่ไม่ขัดสี และอีก 1 ใน 4 ของจานควรจะเป็นโปรตีนที่ดี เช่น เต้าหู้และไข่ขาว ถ้าจากเนื้อสัตว์ ต้องเป็นเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน หากทานได้ตามคำแนะนำจะได้รับพลังงานที่ไม่เกิน รวมถึงได้สารอาหารที่ครบถ้วน และแนะนำให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ 3-4 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลาครึ่ง ถึงหนึ่งชั่วโมง

     ส่วนการคำนวณค่า BMI หรือค่าดัชนีมวลกาย ด้วยตนเอง และยังเป็นค่าที่ไว้วินิจฉัยโรคอ้วนอย่างคร่าว ๆ คือการคำนวณโดยใช้น้ำหนักตัวของเราที่หน่วยเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูง หากหน่วยเป็นเมตรให้หารสองครั้ง เช่น ถ้าหนัก 50 กิโลกรัม สูง 150 เซนติเมตร ให้นำ 50 หาร 1.5 สองรอบ

     “สำหรับคนเอเชีย ค่าดัชนีมวลกายปกติจะอยู่ในค่าที่ 18.5 – 22.9 โดยตัวเลขของคนเอเชียเทียบกับคนตะวันตกจะไม่เหมือนกัน เอเชียถ้ามีค่าดัชนีเกิน 22.9 จะถือว่าน้ำหนักตัวเกิน ถ้าเกิน 25 เราจะวินิจฉัยว่าน่าจะมีภาวะโรคอ้วน แต่ทั้งนี้ การที่จะมีค่าดัชนีมวลกายเกิน จะต้องมาดูก่อนว่าที่เกินนั้นมาจากการที่มีไขมันสะสมเยอะกว่าปกติของร่างกายหรือไม่ วิธีโดยง่ายแนะนำให้วัดเส้นรอบเอว ถ้าเส้นรอบเอวเกินส่วนสูงหารสอง เช่น สูง 150 เซนติเมตร ถ้าวัดเส้นรอบเอวเกิน 75 เซนติเมตร ถือว่ามีภาวะเส้นรอบเอวเกิน การประกอบกันระหว่างดัชนีมวลกายและเส้นรอบเอวที่เกิน สามารถบ่งบอกว่าผู้ป่วยมีภาวะเป็นโรคอ้วนได้ แนะนำว่าควรมาพบแพทย์ เพื่อหาภาวะแทรกซ้อน หรือหาสาเหตุเพื่อรักษาต่อไป” ผศ.พญ.ศานิต กล่าว