Loading...

ธรรมศาสตร์ เปิดหลักสูตรแพทย์แนวใหม่ สร้างผู้นำทางการแพทย์ กฎหมายการแพทย์-บริหารจัดการ

เปิดหลักสูตรร่วมปริญญาตรี แพทยศาสตรบัณฑิต และปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต เรียน 7 ปี ได้ 2 ปริญญา สร้างปรากฏการณ์ใหม่การแพทย์ไทยใน ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม

วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2564

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคณะแพทยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดหลักสูตรร่วมปริญญาตรี แพทยศาสตรบัณฑิต และปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขา “กฎหมายทางการแพทย์และสุขภาพ” และ สาขา ”การบริหารโรงพยาบาลและธุรกิจสุขภาพ” โดย รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ และ ศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ร่วมกันลงนาม เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564

     หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรร่วมกันของปริญญาตรี แพทยศาสตรบัณฑิต และปริญญาโท กฎหมายทางการแพทย์และสุขภาพ และปริญญาโท หลักสูตรการบริหารโรงพยาบาลและธุรกิจสุขภาพ เป็นการเรียนแบบสหสาขาวิชา โดยใช้จุดเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ คณะนิติศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย
และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ด้านการบริหารจัดการ นำมาจัดการเรียนการสอน เช่น หลักการพื้นฐานทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์ การแพทย์และหลักจริยธรรม กฎหมายสุขภาพ การบริหารโรงพยาบาล กฎหมายนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาทางการแพทย์ กฎหมายธุรกิจทางการแพทย์ นิติเวชศาสตร์ขั้นสูง เป็นต้น นอกจากนี้ การเรียนหลักสูตรนี้ยังส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพขั้นสูง การทำงานวิจัย การสร้างองค์ความรู้ใน
การพัฒนาตนเองเพื่อนำไปใช้การดูแลรักษาผู้ป่วยและพัฒนาองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง เป็นการตอบสนองต่อสังคมไทย

     รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลักสูตรใหม่นี้ ประกอบด้วยทั้งวิชาพื้นฐานทางการแพทย์ และทางกฎหมายทางการแพทย์ เรื่องจริยธรรม การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ฉะนั้นบัณฑิตที่จบหลักสูตรนี้ออกไปจะสามารถเป็นผู้นำทางการแพทย์ได้อย่างแน่นอนในอนาคต การใช้วิชาความรู้ทางด้านการแพทย์ประกอบกับทางด้านกฎหมายอย่างถูกต้อง จะสามารถออกไปทำงานรับใช้ประชาชนได้ ไม่ใช่เฉพาะเพียงการรักษาสุขภาพให้กับคนไข้ผู้ป่วยเท่านั้น จะสามารถนำวิชานี้ออกไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อประโยชน์แก่สังคมได้อย่างยั่งยืน

     รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลักสูตรนี้ถือว่าเป็นการผลิตแพทย์พันธุ์ใหม่ ที่นอกเหนือจากมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านแพทย์แล้ว ยังมีความเข้าใจมีความรู้พื้นฐานทางด้านกฎหมายสุขภาพและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ รวมถึงยังสามารถเลือกที่จะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารจัดการได้อีกด้วย นับว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย เป็นการแพทย์ในฝัน ที่จะเข้ามาตอบสนองความต้องการของสังคมที่ต้องการเห็นแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาหลักของตัวเอง มีความเข้าใจทางด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ทั้งของคนไข้ บุคคลทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ เองด้วย