Loading...

‘ธรรมศาสตร์’ จัดงานรำลึก ‘ครบรอบ 46 ปี 6 ตุลาฯ 2519’

ครบรอบ 46 ปี 6 ตุลาฯ 2519 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนืองแน่น ระบุการรำลึกวีรชน 6 ตุลาช่วยย้ำเตือนถึงภารกิจที่ทุกคนจะต้องสืบสาน

วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2565

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน “ครบรอบ 46 ปี 6 ตุลาฯ 2519” ประจำปี 2565 ขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์และแสดงความอาลัยต่อวีรชนผู้สูญเสีย โดยมีนักศึกษา คณาจารย์ ญาติวีรชน ผู้แทนองค์กรทางการเมืองและองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสื่อมวลชน เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

     สำหรับบรรยากาศในช่วงเช้าเป็นไปอย่างคึกคัก เริ่มต้นด้วยพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 19 รูป ณ สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ “ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” จากนั้นเข้าสู่พิธีวางพวงมาลาและดอกไม้ ณ ประติมานุสรณ์ “6 ตุลาคม 2519”

     ผศ.ดร.อดิพล เอื้อจรัสพันธุ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธาน กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานรำลึกวีรชน 6 ตุลา 2519 ต่อเนื่องกันมาทุกปี เพื่อรำลึกถึง เหตุการณ์สำคัญและถือเป็นวาระสำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยภาพการเสียสละของวีรชนที่มุ่งหมายให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาค ด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่ สะท้อนจิตวิญญาณประชาธิปไตยซึ่งเป็นดอกผลจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 อันเป็นคุณูปการล้ำค่าที่ได้เปิดโอกาสให้ประชาธิปไตยเบ่งบานในสังคมไทย

     “ที่ผ่านมาในท่ามกลางวิกฤตการเมือง วิกฤตจากโรคร้าย และการพัฒนาประชาธิปไตยที่แปรเปลี่ยน การรำลึกวีรชน 6 ตุลา ช่วยย้ำเตือนถึงภารกิจที่ทุกท่านจะต้องสืบสานต่อไป ธรรมศาสตร์ซึ่งได้ชื่อว่าดินแดนแห่งเสรีภาพทุกตารางนิ้ว และมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการร่วมรังสรรค์ประชาธิปไตย” ผศ.ดร.อดิพล กล่าว

     นายภัทริศวร์ เกตรามฤทธิ์ อุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อ่านบทกวี “หลับเถิด...หนุ่มสาว ผู้บริสุทธิ์” โดย Homo Erectus และเพียงคํา ประดับความ เพื่อรำลึก “46 ปี 6 ตุลา 2519 และกล่าวแสดงความอาลัยตอนหนึ่งว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นิสิตนักศึกษาและประชาชนต่างถูกปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมและไร้มนุษยธรรมด้วยคำกล่าวหาที่ว่า “เป็นพวกคอมมิวนิสต์” ซึ่งคำกล่าวหานั้นได้คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์มากมาย หลายคนต้องสูญเสียมิตรสหาย ญาติพี่น้อง และต้องหลบหนีใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัว ซึ่งที่ผ่านมาบุคคลเหล่านี้ล้วนยังไม่ได้รับความเป็นธรรมและยังไม่เคยได้รับการเยียวยา ซ้ำยังมีความพยายามจะลบเลือนมันไป

     “การป้ายสีผู้ที่มีจิตใจเชื่อมั่นในประชาธิปไตยจากเหตุการณ์ครั้งนั้น สร้างภาพจำที่ผิดเพี้ยนแก่สังคมจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งผ่านมาเนิ่นนานกว่า 46 ปี ความยุติธรรมยังคงไม่ประจักษ์ ประชาธิปไตยยังคงไม่เบ่งบาน รัฐบาลทรราชยังคงอยู่ แต่พวกเราจะยังคงยืนหยัดในอุดมการณ์ประชาธิปไตย และเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อรุ่งเช้าของวันที่ 6 ต.ค. 2519 ต่อไป” นายภัทริศวร์ กล่าว

     ทางด้าน รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 หัวข้อ “ฆ่า” อย่างไรก็ไม่ตาย : “คนรุ่นใหม่” ในความขัดแย้งทางการเมืองไทยร่วมสมัย ตอนหนึ่งว่า หลังจากเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ผ่านมา 4 ทศวรรษ นักเรียนนิสิตนักศึกษากลับมาเป็นหัวขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้ง ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ในด้านหนึ่ง การหวนคืนสู่สมรภูมิการเมืองของนิสิตนักศึกษาก่อให้เกิดความหวังและกำลังใจในฝ่ายที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ขณะที่อีกด้าน การกลับมาของนิสิตนักศึกษาได้สร้างความหวาดวิตกให้กับผู้ปกครอง เพราะการชุมนุมเคลื่อนไหวครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นไปอย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยเกิดมาก่อน คือประมาณ 40 ครั้ง ในกว่า 60 จังหวัด จัดโดย 100 กลุ่ม ภายในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2563 เท่านั้น หากแต่ที่สำคัญคือ มีการเสนอข้อเรียกร้องที่มุ่งไปยังผู้ปกครองโดยตรง อย่างไม่เคยมีมาก่อน

     “การใช้มาตรการรุนแรงกับผู้ชุมนุมย่อย โดยเฉพาะการตั้งข้อหาดำเนินคดีแกนนำและผู้เข้าร่วมกว่า 1,800 คน ส่งผลให้ฝ่ายที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงบางส่วนเกิดความท้อแท้หรือสิ้นหวัง วิตกกังวลว่านิสิตนักศึกษาจะถูกกดปราบให้ราบคาบอีกครั้ง ขณะที่อีกฝ่ายอาจกระหยิ่มยิ้มย่องลำพองใจ แต่ไม่ว่าจะมองด้วยสายตาของฝ่ายไหน อาจจะเร็วเกินไปที่จะท้อแท้สิ้นหวังหรือกระหยิ่มยิ้มย่อง เพราะเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ได้หายไปไหน ข้อเรียกร้อง เงื่อนไขที่ทำให้นักศึกษามาอยู่หัวขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสมรภูมิการเมืองครั้งนี้ ยังไม่หายไป เขายังไม่ตายไปจากสมรภูมิการเมืองไทยยกใหม่นี้ ไม่ว่าจะมีความพยายามจัดการพวกเขาด้วยวิธีใดก็ตาม” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว

     สำหรับการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา ไม่ได้เกิดจากการชี้นำหรือจัดตั้งของกลุ่มองค์กรใด หรือแกนนำรายใด แต่เกิดจากความฉ้อฉลของผู้มีอำนาจ การได้เห็นเรื่องราวทุจริตต่าง ๆ ของผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะกับผู้ที่อ้างถึงศีลธรรมในการเข้ายึดอำนาจ แต่เมื่อมาบริหารบ้านเมืองก็ยังมีเรื่องฉ้อฉล

     ในตอนท้ายการปาฐกถา รศ.ดร.อนุสรณ์ ย้ำว่า ยุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ประวัติศาสตร์ฉบับท้าทายกลายเป็นหนังสือยอดนิยมแทนที่ตำราเรียนประวัติศาสตร์ และมีสื่อทางเลือกที่เข้าถึงได้นอกเหนือจากสื่อกระแสหลักจนยากเกินกว่าจะยึดกุมความคิดจิตใจผู้คนเหมือนเก่าได้ ทั้งหมดนี้คือกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ตามใจ เป็นจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยที่ฆ่าอย่างไรก็ไม่ตาย

     อนึ่ง ผู้แทนองค์กรที่ร่วมพิธีวางพวงมาลาและดอกไม้ อาทิ ประชาคมธรรมศาสตร์ มูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์ คณะกรรมการญาติวีรชน 6 ตุลา สมาคมญาติและวีรชน 14 ตุลา องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีต 18 ผู้ต้องหา 6 ตุลา ผู้แทนพรรคการเมือง สหภาพและสหพันธ์แรงงาน สมัชชาคนจน มูลนิธินิคม จันทรวิทุร มูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ เครือข่ายเดือนตุลา มูลนิธิ 14 ตุลา คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ฯลฯ