Loading...

ธรรมศาสตร์ จับมือ BIPA แห่งเกาหลีใต้ หนุนการพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘เมตาเวิร์ส’ ยกระดับวิทยาเขตใหม่ในโลกเสมือนจริง

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จับมือ BIPA สนับสนุนการพัฒนา Thammasat Metaverse Campus เตรียมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้-ให้เงินทุนสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2565

     เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ร่วมกับ Busan IT Industry Promotion Agency (BIPA) หรือหน่วยงานส่งเสริมอุตสาหกรรมไอทีแห่งปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งจะเป็นความร่วมมือส่วนหนึ่งของการต่อยอดการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ยุคใหม่บนโลกเสมือนจริง ให้กับนักศึกษาและสาธารณชน ภายใต้โครงการ Thammasat Metaverse ณ ตึกคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

     รศ.ดร.สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงต้นปี 2565 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการเปิดตัววิทยาเขตแห่งที่ 5 บนโลกเสมือนจริง ที่เรียกว่า Thammasat Metaverse Campus” ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ของโลกในขณะนี้อย่าง “เมตาเวิร์ส” มาพัฒนาเพื่อสร้างแพลตฟอร์มของการเชื่อมต่อการศึกษา การทำธุรกิจ ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเปิดกว้างให้กับนักศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้บริการ ตามเจตนารมณ์ดั้งเดิมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการเป็นมหาวิทยาลัยเปิดให้กับทุกคนมาเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 88 ปีที่แล้ว

     รศ.ดร.สุรัตน์ กล่าวว่า ภายใต้วิทยาเขตใหม่ในโลกเมตาเวิร์สนี้ ได้มีการออกแบบเพื่อตอบโจทย์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1. Immersive Learning Classrooms การยกระดับประสบการณ์การเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่ก้าวล้ำกว่าการเรียนออนไลน์เดิม หรือแม้แต่การเรียนในห้องเรียน 2. VR Museum of History, Culture and Democracy พื้นที่พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และประชาธิปไตย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีมาอย่างยาวนาน ผ่านการใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง หรือ Virtual Reality (VR)

     3. Next Generation Omnichannel Marketplace พื้นที่ตลาดออนไลน์ในการค้าขายและเลือกซื้อสินค้า พร้อมด้วยช่องทางการชำระเงินที่สะดวกและมีประสิทธิภาพ

     4. 88 Sandbox Spaces โครงการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษารวมถึงผู้คนทั่วไปได้เข้ามานำเสนองาน (Pitching) ตลอดจนประชุม และพบปะร่วมกันกับบรรดาที่ปรึกษา (Mentor) และล่าสุดที่เตรียมเพิ่มเข้ามาใหม่คือ

     5. Metaverse Health Center โรงพยาบาลที่จะเปิดให้บริการด้านสุขภาพบนโลกเสมือนจริง

     รศ.ดร.สุรัตน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการพัฒนา Thammasat Metaverse Campus ที่ตั้งอยู่บนแพลตฟอร์ม T-Verse จนถึงขณะนี้ได้มีการออกแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมของส่วนต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างการทดสอบระบบ และพัฒนาระบบการรักษาความปลอดภัย การยืนยันตัวตนต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดใช้งานสู่สาธารณะได้จริงในช่วงราว 3 เดือนข้างหน้า โดยในส่วนของความร่วมมือกับ BIPA นั้นจะเข้ามาช่วยขยายศักยภาพ สนับสนุนองค์ความรู้ ตลอดจนเงินทุนเพื่อต่อยอดการพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ต่อไป

     “ช่วงเวลาหลายปีที่เราต่างเผชิญกับผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 ระบบการเรียนการสอนก็ต้องปรับไปสู่รูปแบบออนไลน์ 100% ทำให้คนขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งเมตาเวิร์สกำลังจะเข้ามาพลิกประสบการณ์การเรียนการสอนขึ้นไปอีกระดับ ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ พบปะกันในโลกเสมือนจริงนี้ได้ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เองก็กำลังเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรก ๆ ที่พัฒนาใช้งานเมตาเวิร์สอย่างเต็มรูปแบบ ทาง BIPA เองจึงให้ความสนใจ และเตรียมที่จะเข้ามามีความร่วมมือเพื่อหนุนเสริมศักยภาพระหว่างกัน” รศ.ดร.สุรัตน์ กล่าว

     ด้าน Mr.Munseob Jeong ประธานของ BIPA กล่าวว่า ทาง BIPA เป็นหน่วยงานที่มีเป้าหมายในการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทางด้านไอที เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ร่วมกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่นเดียวกับโครงการเกี่ยวกับเมตาเวิร์ส ซึ่งกำลังเป็นทิศทางใหม่ของโลกอนาคต โดยทาง BIPA จะให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ให้กับโครงการพัฒนาเมตาเวิร์สที่มีศักยภาพ อย่างเช่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้มีการพัฒนาขึ้นมาอยู่ในขณะนี้

     “เราหวังว่าความร่วมมือนี้จะเป็นการพัฒนาศักยภาพด้านเมตาเวิร์สร่วมกัน ระหว่างเกาหลีใต้กับไทย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่าง ๆ ภายใต้การสนับสนุนทั้งองค์ความรู้ เนื้อหา ไปจนถึงเงินทุน ที่เชื่อว่าจะเป็นการเปิดกว้างให้เทคโนโลยีเมตาเวิร์สในภูมิภาคนี้เติบโตต่อไปในอนาคต” Mr.Munseob กล่าว