Loading...

ธรรมศาสตร์ ผนึกกำลัง สช. ปั้นนักวิชาการ HIA ช่วยชุมชนประเมินผลกระทบสุขภาพ ลดการเผชิญหน้า – หนุนพัฒนาอย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามความร่วมมือกับ สช. เดินหน้าพัฒนากระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ “HIA” ในพื้นที่ภาคกลาง-ตะวันตก ผ่านเครือข่ายทางวิชาการ สนับสนุนการสร้างบุคลากร-องค์ความรู้-งานวิจัย มุ่งผลักดันการใช้กลไก HIA เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของประเทศ

วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565

     เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิชาการด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ และการจัดการความรู้ด้านประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ภูมิภาคภาคกลาง-ตะวันตก โดยมีขอบเขตความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากร งานวิจัย องค์ความรู้ ที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการนำกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ หรือ Health Impact Assessment (HIA)

     รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์พัทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีการปรับปรุงระบบสาธารณสุขครั้งใหญ่เมื่อตอนที่มีการก่อตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งทั้งสามองค์กรนี้เป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งเป็นความก้าวหน้าที่สอดคล้องกับปรัชญาในการทำเพื่อประชาชนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     “ธรรมศาสตร์ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขมาเป็นเวลานาน ทั้งการผลิตแพทย์ การทำวิจัยระบบสาธารณสุข โดยสิ่งที่คาดหวังต่อไปคือการจัดทำนโยบายสาธารณะซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับประเทศ ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำให้เกิดความร่วมมือครั้งนี้ และเป็นนิมิตหมายดีที่ธรรมศาสตร์เองมีวิทยาเขตที่พัทยา ซึ่งกำลังเริ่มพัฒนาระบบสาธารณสุขแบบดิจิทัล และหาหนทางที่จะทำให้ระบบดิจิทัลลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้” รศ.นพ.กัมมาล กล่าว

     นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวโยงกับมิติทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เราได้เห็นชัดเจนถึงความเชื่อมโยงกันของสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ในขณะที่ประเทศไทยต้องการการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น HIA จึงถือเป็นเครื่องมือทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน และจะนำมาสู่การลดความขัดแย้ง ลดการเผชิญหน้าของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

     “เครื่องมือ HIA จะต้องอาศัยองค์ความรู้ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันต้องมีนักวิชาการที่มีใจสาธารณะเป็นผู้ดำเนินการสนับสนุน และที่สำคัญจะต้องมีสถาบันทางวิชาการซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในพื้นที่ ซึ่งธรรมศาสตร์เป็นศูนย์กลางทางวิชาการของภูมิภาคกลางและภาคตะวันตก ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก” นพ.ประทีป กล่าว

     นพ.ประทีป กล่าวว่า ความสำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อการพัฒนา HIA นอกจากบทบาทในแง่การผลิตและพัฒนาศักยภาพของกำลังคนแล้ว ยังทำหน้าที่ในแง่การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ที่จะกำหนดการพัฒนาในพื้นที่ ในขณะที่บทบาทของ สช. และภาคียุทธศาสตร์ จะมีบทบาทในการจัดทำหลักเกณฑ์และแนวทาง HIA สนับสนุนการพัฒนาวิชาการและกำลังคน ผ่านกลไกเครือข่ายสถาบันวิชาการ (HIA Consortium) รวมทั้งการสื่อสารและเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อให้รับรู้และใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ HIA

     ขณะที่ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการพัฒนาระบบกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อน HIA นั้นดำเนินการโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ภายใต้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งกำลังมีทิศทางการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการหนุนเสริมกลไกต่าง ๆ ให้สามารถนำ HIA ไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีกลไกด้านวิชาการ การสร้างองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ

     “เรามุ่งเน้นการสร้างเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันวิชาการ ทั้งในระดับภาคและระดับชาติ มาเป็นกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อน HIA ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ในบ้านเมือง หากนักวิชาการได้ร่วมกันออกมาขับเคลื่อน สนับสนุน และมีส่วนในการแก้ไขปัญหา จะทำให้บ้านเมืองมีดุลยภาพและความสงบสุข การลงนามความร่วมมือครั้งนี้จึงมีความสำคัญ ที่จะขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาว สร้างความเป็นธรรมในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” นพ.ชูชัย กล่าว

     ด้าน รศ.ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในส่วนของข้อตกลงความร่วมมือนี้ มีขอบเขตการดำเนินงานที่ชัดเจน อาทิ การสนับสนุนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการจัดอบรมด้าน HIA ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เชื่อมโยงการศึกษาในหลักสูตรที่เปิดสอนในคณะ สนับสนุนการทำงานวิจัยและการพัฒนาองค์ความรู้ด้าน HIA ทั้งจากการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา และจากงานวิจัยของนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาที่เป็นเครือข่ายในภูมิภาค รวม 16 สถาบัน 18 คณะ

     นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายที่ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ซึ่งจะเป็นตัวแทนของภาคประชาชนในพื้นที่เขต 4 และเขต 5 โดยเครือข่ายทั้งหมดนี้จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุดความรู้ด้าน HIA รวมถึงการจัดการความรู้ร่วมกัน รวมถึงส่งเสริมการนำกระบวนการ HIA ไปใช้เป็นเครื่องมือการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ โดยมี สช. เป็นพี่เลี้ยงและสนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการยกระดับและเพิ่มศักยภาพการสร้างองค์ความรู้ ผลงานวิจัย และนวัตกรรม พร้อมกับคณะที่จะมีการจัดตั้งเป็นศูนย์วิชาการด้าน HIA ต่อไปในอนาคต