Loading...

ธรรมศาสตร์ - สสส. อบรมให้ความรู้กับชุมชนบางบัว จัดทำ "แผนจัดการ-เผชิญเหตุ" รับมือวิกฤตโควิด-19

คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สสส. พัฒนารูปแบบการเสริมพลังชุมชนรับมือการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้กับชุมชนบางบัว

วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2564

     คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการโครงการพัฒนารูปแบบการเสริมพลังชุมชนการเฝ้าระวังทางสังคมและดูแลช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้โครงการพัฒนาสมรรถนะนักสังคมสงเคราะห์และรูปแบบการดูแลทางสังคม และเสริมพลังชุมชนในการเฝ้าระวัง ดูแล และจัดการทางสังคมสำหรับผู้ป่วยและผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้าไปอบรมให้ความรู้ป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้ชุมชนบางบัว ย่านบางเขนที่มีกว่า 200 ครัวเรือน เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา

     ผศ.รณรงค์ จันใด อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า ในช่วงโควิดระลอกแรก ชุมชนบางบัวมีข้อกังวลคือผลกระทบทางเศรษฐกิจ และปัญหาการสื่อสาร เนื่องจากมีคนตกงานและขาดรายได้ ขณะเดียวกันมีกรณีเฟคนิวส์เกิดขึ้นในชุมชนทำให้เกิดความหวาดกลัวกัน ทางโครงการฯ จึงเห็นควรมีแผนจัดการและแผนเผชิญเหตุรับมือหากมีการระบาดของโควิดอีกระลอก จนถึงขณะนี้ได้ดำเนินกิจกรรมลดรายจ่ายของชุมชน รวมถึงอบรมให้ความรู้สร้างแกนนำสื่อสารชุมชนเพื่อเตรียมรับมือ โดยกระจายความรู้ด้านการสื่อสารให้คนในชุมชนทราบให้มีการจัดการที่ถูกต้อง รวมถึงทำแผนที่บอกทางในชุมชน และทำบ้านกลาง เพื่อเป็นจุดกักตัว

     ด้าน นางตุ๋ย พลอยขาว กรรมการชุมชนบางบัว เปิดเผยว่า ในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกแรก ไม่มีความกังวลเพราะไม่มีคนในชุมชนติด ขณะที่โครงการฯ ได้ เข้ามาอบรมให้คำแนะนำ ในการดูแลรักษาความสะอาดและการใช้ชีวิตประจำวันในครอบครัว โดยมีการสื่อสารอย่างทั่วถึงทั้งชุมชน ซึ่งในช่วงแรกชาวบ้านไม่เชื่อ แต่การระบาดระลอกล่าสุดมีคนในชุมชนติด รวมถึงชุมชนในละแวกใกล้เคียงเสียชีวิตจาก COVID-19 จึงเกิดความหวาดกลัว ออกไปทำมาหากินก็ไม่ได้ มีผลกระทบทางด้านจิตใจ และเศรษฐกิจ ทางชุมชนได้นำสิ่งที่โครงการฯ แนะนำมาใช้กับชีวิตประจำวันซึ่งได้ผลดี นับได้ว่าโครงการฯ เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับชุมชน เพื่อตั้งรับกับสถานการณ์การระบาดของโควิดระลอก 2 และ 3 จึงขอขอบคุณทางโครงการฯ ที่ทำให้ชุมชนมีภูมิคุ้มกันพร้อมรับมือและจำกัดวงของการแพร่ระบาดไม่ให้ลุกลามไปยังผู้สูงอายุและเด็กในชุมชนได้

     ผศ.รณรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การดำเนินการดังกล่าวทำให้ชุมชนไม่ตื่นตระหนก มีความพร้อมที่จะจัดการตนเองในการระบาดระลอก 2 และ 3 และโมเดลที่วางไว้สามารถตอบโจทย์รองรับวิกฤตอื่น ๆ ได้ในอนาคต ซึ่งชุมชนบางบัวมีแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันมาโดยตลอดจึงพร้อมที่จะรับมือต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ชุมชนอื่นจะนำไปเป็นแนวทางได้