Loading...

ย้อมสี ‘อสุจิ’ ด้วยสารสกัดข้าวเหนียวดำ นวัตกรรมแก้ปัญหาสำหรับ ‘ผู้มีบุตรยาก’

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะสหเวชศาสตร์ หนุนการแพทย์แม่นยำ คิดค้นนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาสำหรับผู้มีบุตรยาก โดยการย้อมสีอสุจิ ด้วยสารสกัดจากข้าวเหนียวดำ

วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ.2564

     การมีบุตรยากถือเป็นปัญหาแห่งยุคสมัย ด้วยเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐานะ พฤติกรรมเสี่ยงในชีวิตประจำวัน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ทำให้ปัญหาการมีบุตรยาก ยิ่งยากขึ้นไปอีก

     “ถ้าดูจากสถิติของประชากรในปัจจุบัน จะเห็นว่าอัตราการเกิดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุก็มาจากหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยทางด้านสังคม ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือมีกิจกรรมที่ทำให้ประสิทธิภาพในการมีบุตรลดน้อยลง รวมไปถึงการมีบุตรในช่วงอายุที่มากขึ้น หรือการแต่งงานที่ช้าลงกว่าในอดีต

     “ผู้หญิงจะมีช่วงอายุที่มีผลต่อการมีบุตร นั่นคือหากเกิน 35 ปีไปแล้ว ก็จะถือว่ามีบุตรช้าไป โดยเพศหญิงที่เข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ก็จะได้รีบการตรวจดูฮอร์โมน-รังไข่ ส่วนเพศชาย สิ่งที่ส่งตรวจง่ายที่สุดก็คือน้ำอสุจิ” ผศ.ดร.ฌลณต เกษตร อาจารย์ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุ

     สำหรับการตรวจอสุจิ ขณะนี้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในระดับที่ทั่วโลกต้องจับตามอง โดยทีมนักวิจัยจากคณะสหเวชศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้คิดค้นเทคนิค “การย้อมสีอสุจิด้วยสารสกัดข้าวเหนียวดำ” เพื่อประเมินรูปร่าง-ความสมบูรณ์ของอสุจิ พร้อมทั้งประเมินสัดส่วนอสุจิที่สมบูรณ์ว่ามีจำนวนเท่าใด

     การคิดค้นดังกล่าวนี้ มีชื่อผลงานอย่างเป็นทางการว่า “สีย้อม บีอาร์” ผลงานวิจัยของ ผศ.ดร.ฌลณต และ ผศ.ดร.สิรินารถ ชูเมียน โดยล่าสุดเพิ่งคว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติระดับดี ประจำปี 2564 และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศอีก 3 ฉบับ

     “หลักการคือเราใช้สารสกัดจากข้าวเหนียวดำร่วมกับสารเพิ่มประจุบวก เพื่อช่วยในการย้อมสีสารพันธุกรรมในส่วนนิวเคลียสของเซลล์” ผศ.ดร.ฌลณต อธิบาย

     ผศ.ดร.ฌลณต ขยายความว่า การย้อมสีอสุจิเพื่อดูความสมบูรณ์ของอสุจินั้น ถือเป็นเกณฑ์สำคัญที่จะนำไปสู่ขั้นตอนการรักษาที่ตรงจุด ซึ่งสอดรับกับนโยบายการแพทย์แม่นยำ และการใช้เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์เพื่อช่วยแก้ปัญหาการมีบุตรยาก

     “รูปร่างอสุจิจะเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่ามีความพร้อมที่จะมีบุตรหรือไม่ จะมีบุตรง่ายหรือยาก ซึ่งในอดีตจะต้องอาศัยสีสังเคราะห์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น ถึงจะย้อมให้เห็นโครงสร้างของอสุจิทั้งส่วนหัว ส่วนกลาง และส่วนหางได้อย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันธรรมศาสตร์สามารถคิดค้นสีทดแทนได้สำเร็จ และยังมีประสิทธิภาพที่สูงมาก” อาจารย์คณะสหเวชศาสตร์ ระบุ

     ผศ.ดร.ฌลณต อธิบายต่อไปว่า วัตถุประสงค์หลักของการทำวิจัยครั้งนี้ คือต้องการหาสีที่มีประสิทธิภาพสูงเทียบเท่าสีสังเคราะห์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยสีสังเคราะห์เหล่านั้นทำมาจากเปลือกไม้ ซึ่งโรงพยาบาลไม่เพียงใช้ย้อมอสุจิ แต่ได้นำไปย้อมสิ่งอื่น ๆ เช่น ย้อมเนื้อเยื่อด้วย ฉะนั้นในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ที่สีย้อมจะขาดตลาดได้

     “วัตถุดิบที่เรานำมาสกัดนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เม็ดข้าว เพราะสีส่วนใหญ่จะอยู่ที่เปลือกข้าว ฉะนั้นใช้เพียงแค่แกลบหรือรำก็พอ ส่วนเม็ดข้าวเรานำไปหุงได้ ตรงนี้ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับแกลบและรำข้าว” นักวิชาการธรรมศาสตร์ ยืนยัน

     สำหรับความสำเร็จของ “สีย้อม บีอาร์” จะถูกพัฒนาไปสู่การใช้ย้อมตัวอย่างจากสำลีป้ายช่องคลอดในกรณีผู้หญิงถูกกระทำชำเรา เนื่องจากสีชนิดนี้สามารถย้อมได้ทั้งเซลล์ของผู้หญิงและอสุจิ

     ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการทดลองนำสำลีป้ายช่องคลอดที่ตรวจเสร็จมาทดสอบในห้องปฏิบัติการ โดยพบว่าสีที่สกัดจากข้าวเหนียวดำมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับสีที่วางขายในท้องตลาด ซึ่งส่วนนี้ก็จะเป็นตัวอย่างที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางคดีความต่อไป

     มากไปกว่านั้น หลังจากนี้จะพัฒนาสีย้อมจากรูปแบบน้ำให้อยู่ใน “รูปแบบผง” ที่มีคุณภาพสูง และจะนำผงสีมาปรับสูตรที่เหมาะสมกับเซลล์หรือตัวอย่างชนิดต่าง ๆ ยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งสูตร และคู่มือการใช้ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและภาระงานของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลด้วย

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือ ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องตระเตรียมความพร้อมในการปรับตัว โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่นอกจากจะมีหน้าผลิตบัณฑิตออกมารับใช้สังคมแล้ว ยังต้องเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศเพื่อเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงได้อย่างเท่าทัน

     “ภายใต้สถานการณ์ที่เรียกกันว่า VUCA คือผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำเป็นต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์เพื่อจัดการกับความไม่แน่นอนเหล่านั้น ทั้งการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ตลอดจนคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม” รศ.เกศินี ระบุ

     ทั้งนี้ ธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาต่อสังคมไทยและสังคมโลก โดย “สีย้อม บีอาร์” ถือเป็นหนึ่งในรูปธรรมความสำเร็จที่ได้แสดงถึงวิสัยทัศน์ของ มธ. ที่จะมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกเพื่อประชาชน (The World Class University for the People) อย่างชัดเจน

     ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ธรรมศาสตร์จะใช้จุดแข็งในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นในด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มีบุคลากรสายวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่าง ๆ สามารถจัดการศึกษาครอบคลุมในเกือบทุกวิชาสาขาที่สำคัญของประเทศ โดยจะมุ่งเน้นการผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ทันสมัย ตอบสองความต้องการ และสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังโคมโลกอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านสังคม บริการสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน

     สำหรับทิศทางการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมหลังจากนี้ จะส่งเสริมการผลิตผลงานที่สอดคล้องกับนโยบายชาติและจุดเด่นของมหาวิทยาลัย ตลอดจนต่อยอดงานวิจัย/นวัตกรรมเพื่อให้เกิด Startup โดยเฉพาะที่เป็น Social Business ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และให้บริการความรู้สู่การพัฒนาสังคม

     “สีย้อมบีอาร์นี่เป็นหนึ่งในความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของธรรมศาสตร์และประเทศไทย เพราะนอกจากจะช่วยให้คนไทยเข้าถึงการแก้ปัญหาการมีบุตรยากแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นคงให้กับประเทศไทย ประหยัดงบประมาณ และยังช่วยทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศด้วย” ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ ระบุ