Loading...

“เคล็ดลับการดูแลสุขภาพจิตใจ” ตามสไตล์ของอาจารย์สาขาจิตวิทยา ธรรมศาสตร์

อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอแชร์วิธีการดูแลสุขภาพจิตใจของตนเอง ในแบบของอาจารย์ ลองไปปรับใช้ให้เข้ากับตัวเองดูค่ะ

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2564

     ไม่ว่าในแต่ละวันคุณจะผ่านเรื่องราวอะไรมาบ้าง หรือต้องพบปะกับผู้คนมากกว่า เจอเรื่องราวดีบ้าง ร้ายบ้าง หรือสถานการณ์ที่มันบั่นทอนความรู้สึกของคุณ แต่สิ่งหนึ่งคือขอให้คุณอย่าลืมว่า คนที่คุณต้องแคร์และดูแลใจ ก็คือ “ตัวเอง”

     อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอแชร์วิธีการดูแลสุขภาพจิตใจของตนเอง ในแบบของอาจารย์ ลองไปปรับใช้ให้เข้ากับตัวเองดูค่ะ

     ผศ.ดร.พัฒนกิจ ชอบทำกิจ - “เปิดใจยอมรับ เปิดรับความช่วยเหลือ แชร์คนรอบข้าง” นอกจากการดูแลสุขภาพกายแล้ว สุขภาพใจก็เป็นสิ่งสำคัญ หมั่นสังเกตและสำรวจใจของตนเอง ถ้าพบความผิดปกติ ความเครียด ความทุกข์ใจ ขอให้เปิดใจยอมรับความคิดความรู้สึก เปิดรับความช่วยเหลือ พูดคุย ปรึกษา แชร์กับคนรอบข้างที่ไว้วางใจ ให้เขารับฟังเรื่องราวของเรา

    อาจารย์บุรชัย อัศวทวีบุญ – “แนวคิดให้ชีวิตมีสุข” ในแต่ละวัน พยายามหาความสุขในปัจจุบัน อย่ามีเงื่อนไขในชีวิตให้มากนัก ว่าต้องมีสิ่งนั้น สิ่งนี้ ชีวิตถึงจะมีสุข เพราะเวลาได้สิ่งต่าง ๆ ที่คาดหวังมาแล้ว เราก็จะแสวงหาสิ่งอื่นต่อไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ ความสุขที่ได้มามันก็อยู่ไม่นาน ไม่นานก็หายไป อาจจะไม่คุ้มค่ากับการเสียเวลาในปัจจุบัน เสียสิ่งต่าง ๆ ในปัจจุบันเพื่อให้เรามีสุขในอนาคตที่ไม่รู้ว่าจะอยู่กับเรานานแค่ไหน อนาคตที่ไม่รู้ว่าจะมาถึงจริงหรือไม่

    ดังนั้นความสุขที่เกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าสุขนั้นจะเกิดในอดีต เราคิดถึงแล้วมีความสุข หรือเราคาดหวังสุขในอนาคต มันก็เป็นความสุขในตอนนี้เท่านั้น อย่างไรก็ตามในการใช้ชีวิตก็ควรคิดถึงอนาคตร่วมด้วย เพราะความสุขที่แท้ต้องไม่ทำให้เกิดทุกข์ในภายหลัง ไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลยแล้วบอกว่านี่คือสุข อันนี้เรียกรับรู้บิดเบือนไปจากความเป็นจริง แต่เราก็ไม่รู้อยู่ดีว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น จึงควรย้อนกลับมาที่ปัจจุบัน ทำตามหน้าที่ รับผิดชอบตามหน้าที่ ยอมรับในสิ่งที่มี ไม่สร้างเงื่อนไขในชีวิตให้มากเกินไป เงื่อนไขน้อย เราก็เข้าถึงความสุขได้ง่ายขึ้น เมื่อเราเรียนรู้ว่าความสุขมีอยู่ เราก็จะเริ่มเปิดรับและรับรู้ในสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความสุขได้เพิ่มขึ้น

     ผศ.โมนิล เตชะวชิรกุล - “เข้าใจและยอมรับตัวเอง” ในแต่ละวันแบ่งเวลาเพื่อพูดคุยกับตัวเองบ้างซัก 2-3 นาที ว่าเราผ่านอะไรมาด้วยกันบ้าง ขอบคุณตัวเองกับทุกเรื่องที่ผ่านมาได้ด้วยดี และให้อภัยกับเรื่องทีไม่อาจเป็นอย่างใจคิด ใจดีกับตัวเองให้มาก เข้าใจและยอมรับความเป็นตัวเอง โดยไม่ต้องใส่ขั้วบวกขั้วลบลงไปในนั้น เพราะไม่ว่าจะดีหรือร้ายมันก็คือตัวเรา ตัดสินตัวเองให้น้อยลง แต่ยอมรับว่ามันคือส่วนหนึ่งของเรา

     หากเรายอมรับได้จริง คำพูดของคนอื่นก็จะทิ่มแทงเราได้น้อยลง แล้วเราก็ตอบโต้ด้วยการกระทำหรือคำพูดที่รุนแรงน้อยลง เพราะเราจะรู้อยู่แก่ใจเสมอว่า อย่างน้อยก็ยังมีเราหนึ่งคนที่พร้อมจะเข้าใจและยอมรับคน ๆ นี้ได้เสมอ

     ดร.กุลวดี ทองไพบูลย์ - “การอยู่กับปัจจุบัน” การอยู่กับปัจจุบันคือการ focus กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า มีสติรู้เท่าทันความคิดความรู้สึกของตนเอง ตระหนักรู้ในสิ่งที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือควบคุมได้ และทำในสิ่งที่เราสามารถทำได้ หรืออยู่ในความควบคุมของเราในขณะนี้ การอยู่กับปัจจุบันจะช่วยให้เราวางความคิดกังวลซึ่งมักจะผูกอยู่กับสิ่งที่ยังไม่เกิดหรือสิ่งที่ไม่มีคำตอบแน่นอนได้ดีขึ้นด้วย

     อาจารย์อธิชาติ โรจนะหัสดิน - “สงบจิตใจก่อนนอน” ช่วงก่อนนอนเป็นช่วงที่จะมีความคิดด้านลบเข้ามามากทำให้บางคนอาจนอนไม่หลับ หรือหลับยาก การเพ่งพิจารณากับร่างกาย เช่นการฟังเพลงที่ผ่อนคลาย หรือเพ่งความคิดไปที่สิ่งที่มีความสุข ก็จะช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น