Loading...

ธรรมศาสตร์ จัดแข่งขัน U2T HACKATHON 2021 ระดับภูมิภาค ภาคกลาง ระดมความคิดขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

เวที U2T HACKATHON 2021 เป็นการพัฒนาทักษะระดมความคิดสร้างสรรค์ หาแนวทางแก้ปัญหาขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ชิงเงินรางวัลรวม 250,000 บาท

วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2564

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแฮกกาธอน (U2T Hackathon) ระดับภูมิภาค ภาคกลาง พัฒนาทักษะการระดมความคิดสร้างสรรค์ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้านนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับบริบทในพื้นที่ ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ระดับภูมิภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ภายใต้โจทย์ “แนวทางแก้ปัญหา (Solution) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) Creative Economy 2) Technology/Health Care 3) Circular Economy และ 4) Art and Culture

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจัดการแข่งขันของภูมิภาคภาคกลาง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันครั้งนี้ จะช่วยให้เกิดความร่วมมือของเครือข่ายสถาบันในพื้นที่ภาคกลาง ในการช่วยให้ผู้ได้รับการจ้างงานได้ระดมความคิดอย่างสร้างสรรค์ บนปัญหาและความต้องการในพื้นที่จริง เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยนวัตกรรม ที่ตอบโจทย์กับบริบทในพื้นที่ ผ่านการเรียนรู้และปฏิบัติจริงในชุมชน (Community-integrated Learning) กิจกรรมเหล่านี้นับว่าเป็นกิจกรรมที่ดีอย่างยิ่งในสังคมแห่งยุคดิจิทัลที่จะได้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งนอกเหนือจากการแข่งขันแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพ ที่มีประสบการณ์ทั้งในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และด้านธุรกิจ นั่นคือโอกาสที่ดีในการนำประสบการณ์ที่ได้ไปปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริงต่อไป

    รศ.ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า การดำเนินงานจัดการแข่งขันแฮกกาธอน (U2T Hackathon 2021) มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาทักษะแก่ผู้ได้รับการจ้างงาน ให้สามารถเข้าใจปัญหา คิดวิเคราะห์ และระดมความคิดสร้างสรรค์ผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่มีโจทย์หรือความต้องการในพื้นที่ภาคกลาง เป็นศูนย์กลางหรือเป้าหมาย (Problem-based Learning) รวมถึงพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาเชิงนวัตกรรมผ่านกิจกรรมการแข่งขันแฮกกาธอน (Hackathon) ในพื้นที่เครือข่ายสถาบันการศึกษาภาคกลาง และท้ายที่สุดเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับชุมชนในพื้นที่ภาคกลาง

    ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมาได้มีการเปิดรับสมัครและคัดเลือกรอบแรก ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนมิถุนายน 2564 มีทีมที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 112 ทีม จาก 18 สถาบันการศึกษา ในพื้นที่ในการดำเนินงานทั้งหมด 18 จังหวัด 753 ตำบล ซึ่งในแต่ละทีมประกอบด้วยบัณฑิต นักศึกษา ประชาชน ผู้แทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน/ผู้ประกอบการ ผู้สืบทอดภูมิปัญญา และผู้นำชุมชนในพื้นที่/ตำบล นอกจากนั้น ยังได้จัดกิจกรรม Coaching เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำความรู้มาพัฒนาโครงการให้ดียิ่งขึ้น สำหรับเตรียมความพร้อมในการแข่งขันรอบคัดเลือกรอบ 40 ทีม และรอบสุดท้ายคือ รอบทีมสุดยอดภาคกลาง เมื่อวันที่ 7 - 9 กรกฎาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ application zoom และ ผ่านการถ่ายทอดสดบนสื่อออนไลน์  FACE BOOK LIVE STREAM : FPH Thammasat เพื่อเป็นตัวแทนภาคกลางในการแข่งขันในระดับประเทศต่อไป

   การแข่งขันที่ผ่านมาได้รับเกียรติจากคณะกรรมการคัดเลือกผลงานรอบตัดสินในระดับภูมิภาค ภาคกลาง จากผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้ง 11 ท่าน ประกอบด้วย

     1) นายแพทย์ปรีดา แต้อารักษ์ ประธานกรรมการรองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

     2) นายวิจารย์ สิมาฉายา กรรมการผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

     3) นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง กรรมการอดีตรองปลัดกรุงเทพมหานคร

     4) รศ.สิงห์ อินทรชูโต กรรมการหัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

     5) นายทวีสุข พันธุ์เพ็ง กรรมการที่ปรึกษาคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     6) นางพรพิมล มฤคทัต กรรมการผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

     7) นายสนามชัย แพนดี กรรมการนักส่งเสริมนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

     8) นางสาวทิพวัลย์ เวชชการัณย์ กรรมการนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สป.อว.

     9) นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ กรรมการผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สป.อว.

     10) นายชวลิต ครองสิน กรรมการ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี

     11) นางสาววิลานี แซ่แต้ กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อยและองค์กร ธนาคารออมสิน

     โดยทีมที่ได้รับคัดเลือกทั้ง 5 ทีม ที่จะได้เป็นตัวแทนทีมภาคกลาง เข้าแข่งขันต่อในระดับประเทศพร้อมได้รับโล่เชิดชูเกียรติและเงินรางวัลต่อยอดกิจกรรม ทีมละ 50,000 บาท ประกอบด้วย 1) ทีมถางใยรัก (Plant pot) จากวิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร 2) ทีมผลไม้แปลงร่าง จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 3) ทีม หัตถสานบ้านต้นตาลสุ่มปลายักษ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ 4) ทีมแอบแซ่บแก่งกระจาน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี 5) ทีม See U บางลาภูล่าง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

     เพื่อนำแนวทางการพัฒนา ในรูปแบบไอเดียไปทดลองทดสอบในพื้นที่จริง ภายใต้คำแนะนำของพี่เลี้ยงและผู้นำชุมชน เป็นเวลา  3 เดือน เพื่อพัฒนาเป็น “ตัวต้นแบบ” หรือ ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ก่อนเข้าสู่การเฟ้นหา  5 สุดยอดแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในการแข่งขันระดับประเทศ ในเดือน พฤศจิกายน 2564 ชิงเงินรางวัลสนับสนุนทีมละ 100,000 บาทพร้อมรับโล่เชิดชูเกียรติเพื่อต่อยอดและพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมชุมชนในต่อไป