Loading...

นักวิจัยธรรมศาสตร์ บูรณาการข้ามศาสตร์ เพิ่มมาตรฐานการผลิตทุเรียนไทย

 

ทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเครือข่าย ร่วมสร้างผลงานวิจัย ความหวังทุเรียนไทย ผ่านการวิจัยและนวัตกรรม

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2565

     รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้บริหารจัดการโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ Smart Farmer (กรณีศึกษาการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเพื่อการส่งออก)” ได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

     โดยโครงการวิจัยนี้ มีนักวิจัยหลากหลายความเชี่ยวชาญ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่ รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ (ผู้บริหารจัดการโครงการวิจัยฯ), รศ.ดร.สุเพชร จิรขจรกุล, รศ.ดร.ธนิท เรืองรุ่งชัยกุล, ผศ.ดร.เรวัตร ใจสุทธิ, ผศ.ดร.วิลาวรรณ์ เชื้อบุญ และอาจารย์ ดร.พฤกษ์ ชุติมานุกูล โดยมี คุณปิยะพงษ์ สอนแก้ว และคุณธนัชชา ชัยดา นักวิจัยจากสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิจัยจากต่างสถาบัน รศ.ดร.เกริก ภิรมย์โสภา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มาบูรณาการข้ามศาสตร์เพื่อมุ่งเน้นผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และแก้ไขปัญหาได้จริงอย่างทันท่วงที ทั้งเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคมชุมชน และเชิงนโยบาย โดยเฉพาะ “ทุเรียน” ซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจหลักของประเทศ

     รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้บริหารจัดการโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า ผลงานวิจัยนี้ อยู่ภายใต้กรอบการวิจัยหลักการเพิ่มผลผลิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี พัฒนางานวิจัยต่อยอดเป็น knowledge platform ที่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ในการเพิ่มคุณภาพการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้แรงงานด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ เชิงบูรณาการ รองรับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี มุ่งเน้นทำให้เกษตรกรเข้าถึงองค์ความรู้ และแก้ไขปัญหาการผลิต เพื่อให้เกษตรกรพัฒนาผลผลิตที่มีคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลบนมาตรฐาน GAP

     “การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี Smart Farmer เข้ามามีส่วนช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบปฏิบัติทางการเกษตร Good Agricultural Practice: GAP ที่ให้เกษตรกรสามารถกรอกข้อมูลผ่านการพูดผ่าน แอปพลิเคชันในโทรศัพท์เคลื่อนที่ แอปพลิเคชันดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการประเมินสถานะของแปลงปลูกพืชในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงการประเมินการใช้สารเคมีเกษตร ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และการปรับฮอร์โมนให้เหมาะสมกับพืชที่ผลิต พร้อมทั้งระบบตรวจติดตามสภาพแปลงปลูกพืชแบบ real-time และนวัตกรรม Basin Fertigation Model เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ทุเรียนมีคุณภาพสูง (premium grade) ระบบ GIS-smart farming-iOT นวัตกรรมการจัดการโรครากเน่าโคนเน่า (Phytophthora sp) ทดสอบโรคหลังการเก็บเกี่ยว และนวัตกรรมการส่งออกทุเรียน​ผลสด​ ภายใต้อุณหภูมิต่ำด้วยนวัตกรรมภาชนะเก็บกลิ่นทุเรียนแกะเนื้อสดเพื่อการส่งออก ด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ ก่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนทั่วทุกภูมิภาคและผู้ประกอบการส่งออกของไทยในระดับประเทศให้มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อยอดสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” รศ.ดร.วรภัทร กล่าวทิ้งท้าย