Loading...

CICM จับมือ Central Lab Thai เพิ่มขีดความสามารถวิเคราะห์ทดสอบพืชเศรษฐกิจใหม่

วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ ร่วมมือกับ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาด้านการวิจัยทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร

วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2564

     วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CICM) นำโดย ศ.ดร.นพ.อดิศว์  ทัศณรงค์ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด (Central Lab Thai) โดยได้รับเกียรติจาก นายชาคริต เทียบเธียรรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

     ความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการวิเคราะห์ทดสอบด้านการวิจัยทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจประเมินเพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร อีกทั้งพัฒนาด้านการตีพิมพ์และสิทธิบัตรร่วมกันในด้านการวิจัยและพัฒนาด้านการตรวจวิเคราะห์เชิงการเกษตร รวมถึงฝึกอบรมบุคลากรและนักศึกษาเพื่อการวิจัยและการพัฒนาด้านการศึกษา

     ศ.ดร.นพ.อดิศว์ ทัศณรงค์ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมกิจกรรมตามภารกิจ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนาขีดความสามารถการวิเคราะห์ทดสอบของทั้งสองฝ่าย ให้สอดคล้องต่อความต้องการของประเทศ และเตรียมความพร้อมในการขยายตลาดไปต่างประเทศในอนาคต โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจใหม่ที่สร้างมูลค่า อย่างเช่น กัญชงและกัญชา ที่ต้องมีการปลูกและการเก็บเกี่ยวตามหลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านการเพาะปลูกที่ดี หรือ GAP (Good Agricultural Practice; GAP: Propagation and Cultivation) ซึ่งจะทำให้ได้วัตถุดิบที่ดีปราศจากสารปนเปื้อนและมีจำนวนที่เพียงพอ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการแบบครบวงจร

     นายชาคริต เทียบเธียรรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า Central Lab Thai ถือได้ว่าเป็นห้องปฏิบัติการที่มีศักยภาพการวิเคราะห์ทดสอบระดับโลก ซึ่งการทำงานร่วมกันระหว่าง Central Lab Thai กับวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ เชื่อว่าจะเป็นการผนึกกำลังในการเพิ่มศักยภาพการพัฒนาด้านการวิเคราะห์ทดสอบของประเทศไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อการสนับสนุนการวิจัย การวิเคราะห์ทดสอบ และการบริการให้มีมาตรฐานสากลตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงการบูรณาการการทำงานร่วมกันทางด้านการวิเคราะห์ทดสอบจะเป็นการเพิ่มความมั่นใจกับผลการวิเคราะห์ทดสอบมากยิ่งขึ้น และทำให้วิธีการวิเคราะห์ทดสอบเป็นไปตามหลักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ซึ่งสามารถช่วยสร้างเครือข่ายการวิเคราะห์ทดสอบให้ครอบคลุมจนสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างฐานความรู้ของประเทศได้ต่อไปในอนาคต