Loading...

นักศึกษาสหเวชฯ ธรรมศาสตร์ โชว์ผลงาน “ชุดตรวจหาโรคไต” ทำได้เองที่บ้าน แม่นยำถึง 93%

 

นักศึกษาคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับถ้วยพระราชทานฯ จากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ประจำปี 2565 ด้วยผลงาน HomeKidney

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2565

     นางสาวอารียา ปุณโณปกรณ์ และนางสาวอันนา ทีฆะทิพย์สกุล นักศึกษาเทคนิคการแพทย์ ชั้นปีที่ 4 คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศประเภท INNOVATIVE IDEA และรางวัล Grand Prize ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากงานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ประจำปี 2565 ในผลงาน "แผ่นทดสอบโปรตีนในปัสสาวะสำเร็จรูป สำหรับผู้มีความเสี่ยงโรคไต ที่สามารถตรวจและอ่านผลได้ด้วยตนเอง (HomeKidney)"

     นางสาวอารียา ปุณโณปกรณ์ เปิดเผยว่า นวัตกรรมนี้เริ่มจากที่ศึกษา Case Study ผู้ป่วยเบาหวานท่านหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปสักพักเขาเป็นโรคไตแล้วมีอาการรุนแรงขึ้น จึงฉุกใจคิดขึ้นมาว่าทำไมผู้ป่วยที่รักษาตัวตลอดเวลาถึงเป็นโรคไตได้ โดยตรวจพบอีกทีก็อาการหนักเสียแล้ว เลยมองว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ป่วยไม่มีการตรวจหาความเสี่ยงโรคไตเลย หากไม่ได้เสียเงินจ่ายค่าแพ็กเกจสุขภาพ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ทั้งหมด อีกทั้งโรงพยาบาลก็มักจะตรวจหาความเสี่ยงโรคไตให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงมากหรือมีอาการของโรคที่แสดงแล้ว ทำให้คนธรรมดาที่อยากจะรู้ว่าสุขภาพไตตนเองนั้นทำได้ยากมาก พวกเราจึงเกิดไอเดียที่จะทำชุดตรวจที่สามารถตรวจได้เองง่าย ๆ ใครก็สามารถใช้ตรวจได้ โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล และให้ความแม่นยำเหมือนการตรวจที่โรงพยาบาล และยังสามารถอ่านและแปลผลเองได้ที่บ้าน

     นางสาวอันนา ทีฆะทิพย์สกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจคัดกรองโรคไตจะตรวจวัดสาร 2 ตัวที่ออกมากับปัสสาวะ ได้แก่ Microalbumin และ Creatinine ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาของพวกเรา ได้แก่ ผศ.ดร.ฌลณต เกษตร และ ผศ.ดร.สิรินารถ ชูเมียน ได้แนะนำงานวิจัยมาให้ศึกษา เพื่อให้เป็นแนวทางว่าสามารถสร้างชุดทดสอบแบบไหนได้บ้าง จนนำมาสู่การพัฒนาและออกแบบวิธีที่จะอ่านผลได้ง่ายที่สุด โดยออกแบบให้แผ่นทดสอบเป็นแบบแผ่นตรวจปัสสาวะสำเร็จรูป ที่เพียงแค่จุ่มแผ่นทดสอบลงบนตัวอย่างปัสสาวะของตนเองก็จะสามารถตรวจจับสาร Microalbumin และ Creatinine ที่รั่วออกมาจากไตในกรณีที่มีความเสี่ยงเป็นโรคไตได้

     จากนั้นพวกเราก็ได้นำไปปรึกษากับคุณหมอโรคไตด้วยถึงการนำไปใช้ประโยชน์ในการแพทย์ที่กว้างยิ่งขึ้น มีการศึกษาสารเคมีและทำการทดลองแล้วในส่วนหนึ่ง ขณะนี้ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาให้กลายเป็นชุดตรวจของจริงขึ้นมา และอาจจะต่อยอดเพิ่มเติมโดยมองไปถึงการเก็บข้อมูลอัปเดตลงแอปพลิเคชันที่เชื่อมกับระบบของแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถนัดวันเวลาในการเข้ารับการรักษารวมถึงปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมได้ด้วย

     นางสาวอารียา ปุณโณปกรณ์ อธิบายว่า ชุดทดสอบ HomeKidney เป็นชุดทดสอบสำหรับประเมินการทำงานของไตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ใช้งานได้ทราบถึงแนวโน้มการเป็นโรคไตเรื้อรังในอนาคตได้ ชุดทดสอบ HomeKidney เหมาะสำหรับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคแทรกซ้อนทางไตในอนาคต

     นวัตกรรมนี้สามารถประเมินประสิทธิภาพการทำงานของไตได้โดยการตรวจหาสาร 2 ชนิดที่หลั่งออกมากับปัสสาวะ ได้แก่ Microalbumin และ Creatinine นำมาแปลผลเป็นอัตราส่วน Microalbumin ต่อ Creatinine (Microalbumin:Creatinine ration) ที่จะให้ความแม่นยำถึง 93% ในการทำนายการเป็นโรคไตภายใน 5 ปี (Huda Al-Wahsh et al. 2022) ซึ่งผลิตภัณฑ์ของ HomeKidney ประกอบด้วย ชุดทดสอบ ภาชนะเก็บตัวอย่างปัสสาวะ และคู่มือการอ่านและแปลผล

     สำหรับการชนะเลิศในการแข่งขันในครั้งนี้ นางสาวอันนา ทีฆะทิพย์สกุล กล่าวถึงความรู้สึกว่า รู้สึกดีใจและคุ้มค่ามาก เพราะพวกเราค่อนข้างเต็มที่กับงานนี้ อยากจะนำเสนอแนวคิดที่อาจจะช่วยเหลือผู้อื่นได้ในอนาคต ถึงแม้ว่าตอนนี้นวัตกรรมตัวนี้ยังเป็นเพียงแค่แนวคิดที่อยู่บนหน้ากระดาษ แต่หลังจากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศกลับมา พวกเราก็มีไฟที่อยากให้นวัตกรรมนี้เกิดขึ้นมาจริง ๆ เพราะพวกเราอยากให้ทุกท่านได้เห็นว่าแนวคิดของพวกเราจะสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้คนได้อีกมากมายที่สนใจรักษ์สุขภาพไต เพื่อที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้ใช้ชีวิตกับคนที่พวกเขารักไปนาน ๆ ค่ะ