Loading...

อย่าให้ความรักเป็นข้ออ้างของความรุนแรง เข้าใจเรื่อง “รัก” ผ่านเลนส์นักสังคมวิทยาฯ ธรรมศาสตร์

รักไม่ใช่ดวงดาวเมื่อพราวแสง แล้วรักก็ไม่ใช่ความรุนแรง มาทำความเข้าใจเรื่องรัก ผ่านเลนส์นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566

     “ความรุนแรงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความรัก แต่อุดมการณ์ของความรัก โดยเฉพาะความรักแบบโรแมนติก เป็นสิ่งที่เสริมหรือเข้ากันได้ดีกับความรุนแรง”

     ‘ความรักชนะทุกอย่าง’ กลายมาเป็นวาทกรรมที่รวบยอดความสัมพันธ์และพิพากษาไปแล้วว่า ‘ความรัก’ ต้องชนะทุกสิ่งแม้จะเป็นเรื่องของ ‘ความรุนแรง’ ก็ตาม ซึ่งจากข้อมูลของหน่วยงานที่ทำงานด้านการช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงชี้ว่า จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงที่รายงานสู่สาธารณะทุกวันนี้ น้อยกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอย่างมหาศาล

     สาเหตุประการหนึ่งเป็นเพราะ หลายคนไม่อยากให้คนอื่นรับรู้ หรืออาจมองว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติในความสัมพันธ์หรือเป็นส่วนหนึ่งของความรัก

     ทั้งที่ข้อเท็จจริงก็คือรักไม่ใช่ดวงดาวเมื่อพราวแสง และรักก็ไม่ใช่ความรุนแรง ฉะนั้นเนื่องในวันแห่งความรักวาเลนไทน์ พ.ศ. 2566 จึงอยากชวนกันมาทำความเข้าใจ ‘เรื่องรัก’ ผ่านเลนส์นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     ความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของความรักจริงหรือ !!? ผศ.ดร.วิลาสินี พนานครทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า จริง ๆ แล้ว ความรุนแรงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความรัก แต่อุดมการณ์ของความรัก โดยเฉพาะความรักแบบโรแมนติก (romantic) เป็นสิ่งที่เสริมหรือเข้ากันได้ดีกับความรุนแรง

     เธอ ให้ภาพว่า ลองจินตนาการถึงรักโรแมนติก จะพบว่าสิ่งที่มาพร้อมกับอุดมการณ์ของความรักในรูปแบบนี้ คือ การเป็นหนึ่งเดียวของคนรัก ความเป็นชั่วนิรันดร์ของความสัมพันธ์ หรือแม้แต่ความรักที่สามารถชนะและเยียวยาทุกอย่างได้ เป็นส่วนสำคัญทำให้คู่รักที่อยู่ในความสัมพันธ์ที่มีการทำร้ายกันมองว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะเรารักกัน และจะเป็นเพียงแค่ปัญหาในชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ถ้าเราอดทนความรักที่เรามีต่อกันก็จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น

แล้วทำไมถึงเกิดความรุนแรงในความรัก !!?

     สาเหตุที่ทำให้คนทำร้ายกันมาจากหลายๆ ด้าน ถ้ามองในเชิงจิตวิทยา ก็จะอธิบายไปที่ตัวของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเป็นหลัก เช่น อาจเป็นประสบการณ์การถูกกระทำในวัยเด็ก ความเครียด ยาเสพติด ปัญหาทางจิต แต่สิ่งเหล่านี้บางทีมันกลับกลายเป็นข้ออ้าง และข้อแก้ตัวของผู้ทำร้าย ผู้ทำร้ายก็จะอ้างด้วยความรู้สึกว่าที่ทำไปเพราะขาดสติ เพราะเมา หรือวันนั้นลืมตัว ชุดความคิดนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้คนอยู่ในความสัมพันธ์ต่อแม้จะต้องเจอกับความรุนแรงรูปแบบต่าง ๆ

     หากมองลึกไปกว่าแค่ตัวผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ จะเห็นว่าอุดมการณ์ของความรักที่ครอบงำผู้คนนั้นเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดความรุนแรงและการทำร้าย คู่รักมักอธิบายการทำร้ายกันภายใต้เหตุผลของความรัก อย่างเช่น ‘ที่ทำไปเพราะความหึงหวง ถ้าเป็นคนอื่นเราก็คงไม่ทำแบบนี้…’ ‘ยอมทำสิ่งที่ไม่ชอบ เพราะรัก’

     “ในความรักความสัมพันธ์เรามักจะรู้สึกว่าเรามีสิทธิในการก้าวก่ายซึ่งกันและกัน เป็นอุดมการณ์หนึ่งของความรักที่เน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคู่รัก แต่ความเป็นจริงมักจะมีฝ่ายหนึ่งได้ ฝ่ายหนึ่งเสียเสมอ เช่น บางทีคนหนึ่งอยากดูหนัง คนหนึ่งอยากชอปปิง โดยเมื่อไหร่ที่เป็นความรักกลายเป็นว่าต้องทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เราต้องเลือกกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมชาติของความสัมพันธ์ที่นำไปสู่ความขัดแย้งได้ แต่ถ้าก้าวมาสู่ขั้นที่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องยอมอยู่เสมอในทุก ๆ เรื่อง อาจทำให้เกิดการเริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง นี่คือสัญญาณที่ทำให้เริ่มขัดแย้งมากขึ้นและอาจนำไปสู่การความรุนแรงได้” ผศ.ดร.วิลาสินี กล่าว

ว่าด้วยเรื่อง...ความรุนแรงกับความขัดแย้งในความรัก

     ผศ.ดร.วิลาสินี อธิบายว่า ความรุนแรงในความสัมพันธ์มีหลายรูปแบบ ทางกาย ทางใจ ทางอารมณ์ เรามักตระหนักถึงความรุนแรงทางกาย แต่จริง ๆ ความรุนแรงหรือการทำร้ายทางอารมณ์ส่งผลสำคัญอย่างมากต่อความรุนแรงทางกาย เช่น ใช้ความหึงหวงในฐานะของความรักแล้วห้ามเราคบหากับคนอื่น ควบคุมไม่ให้ออกไปไหน ส่วนใหญ่ความรุนแรงในรูปแบบเหล่านี้คนมักจะมองข้าม และไม่คิดว่าเป็นความรุนแรงในความสัมพันธ์

     “ความรุนแรงในเชิงจิตใจมีผลสำคัญอย่างมากต่อความรุนแรงทางกาย อย่างงานศึกษาสัมภาษณ์กรณีที่ภรรยาฆ่าสามีเสียชีวิต พบว่าเหตุผลส่วนใหญ่มาจากการได้รับความรุนแรงทางใจ คือเมื่อไหร่ที่ถูกสามีทำร้ายทางร่างกายทนได้ แต่ถ้าสามีไปมีเมียน้อยหรือมีผู้หญิงคนอื่นหรือสามีทำร้ายจิตใจกลับกลายเป็นเรื่องที่เขาทนไม่ได้ และนำไปสู่ความรุนแรงที่มากขึ้น” ผศ.ดร.วิลาสินี กล่าว

     แล้วขั้นไหนถึงจะเรียกว่า toxic ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า ‘ความรุนแรงกับความขัดแย้งในความสัมพันธ์ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน’

     ความขัดแย้งในความสัมพันธ์มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ เป็นธรรมชาติของความสัมพันธ์ที่คู่รักใช้เวลาร่วมกันแล้วมีความเห็น ความคิดที่ไม่ตรงกัน แต่ความขัดแย้งไม่ได้มีเรื่องอำนาจและความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งความขัดแย้งอาจจะนำไปสู่การเรียนรู้และปรับตัวเข้าหากันได้

     แต่เมื่อไหร่ที่ความขัดแย้งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และเริ่มมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ต้องยอมอยู่เสมอ ละทิ้งตัวตน ละทิ้งความรู้สึกตนเอง รู้สึกถึงการด้อยอำนาจในการตัดสินใจในความสัมพันธ์ จนทำให้เกิดคำถามกับตัวเอง สงสัยในตัวเอง อันนี้เริ่มเป็นสัญญาณที่บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความขัดแย้งในความสัมพันธ์แล้ว แต่เริ่มเป็นการทำร้ายทางอารมณ์ เริ่มเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ หรือ Toxic relationship

     “ถ้าถามว่า รักอย่างไรจึงจะไม่ทำร้ายกัน คือ รักให้เป็น เข้าใจว่าความขัดแย้งในความสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่สำคัญต้องแยกให้ออกว่าความขัดแย้งไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับความรุนแรง และความรักก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับความรุนแรงเช่นเดียวกัน อย่าใช้เหตุผลว่าทำร้ายกันเพราะรัก หรืออ้างความรักในการก้าวก่ายควบคุมอีกฝ่าย” ผศ.ดร.วิลาสินี กล่าว

รู้ทั้งรู้ว่าโดนทำร้าย แต่ก็ยังออกจากความสัมพันธ์ไม่ได้

     อาจมีหลากหลายเหตุผลที่ทำให้หลายคนไม่สามารถออกมาจากความสัมพันธ์นั้นได้ เช่น ขาดที่พึ่งพิง หรือ กลัวครอบครัวไม่ยอมรับ ผศ.ดร.วิลาสินี อธิบายว่า โดยส่วนใหญ่ความรุนแรงในความรักมักมีลักษณะเป็นวงจร ทำให้น้อยคนที่จะสามารถเดินออกจากความสัมพันธ์ทันทีหลังโดนทำร้ายครั้งแรก เพราะในวงจรของความรุนแรง สิ่งที่ตามมาหลังจากการทำร้ายกันคือ ความรักหลังการทำร้าย ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้คนยังอยู่ในความสัมพันธ์ การขอโทษที่แสดงการสำนึกผิดของคนรัก ทำให้อีกฝ่ายที่ถูกทำร้ายให้อภัย และมองว่าเป็นแค่ความลืมตัว อีกทั้งในช่วงนี้ต่างฝ่ายต่างพยายามควบคุมตัวเองเพื่อประคับประคองความสัมพันธ์ พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่จะนำไปสู่ความรุนแรง การแสดงความรักหลังการทำร้ายจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนยังอยู่ในความสัมพันธ์นั้น และมองความรุนแรงเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วขณะเท่านั้น

     ถ้าวันหนึ่งเพื่อนของเรามีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์แล้วเดินเข้ามาหาเรา แล้วบอกว่า เฮ้ย! ฉันมีปัญหา ฉันขอคำปรึกษา แต่ท้ายที่สุดถ้าเขากลับไปหาแฟน หรือคนในความสัมพันธ์นั้น จะมีประโยคที่ฮิตพูดกันว่า ‘จากเพื่อนกลายเป็นหมาแล้ว…’ ซึ่งจริง ๆ อยากให้เข้าใจและมองว่า ในความรักความสัมพันธ์ มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหลุดออกมาได้อย่างทันทีทันใด มันต้องใช้เวลาในการตัดสินใจ

     ใครมีเพื่อนหรือคนรู้จักกำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่รุนแรงมาขอความช่วยเหลือหรือคำปรึกษา คือให้คำปรึกษาแก่เขาและอาจจะชี้ให้เขาเห็นทางเลือก แต่ท้ายที่สุดต้องปล่อยให้การตัดสินใจเป็นของเขาเอง และต้องเข้าใจว่าความรักมันไม่ได้เป็นเรื่องที่มันสามารถหลุดพ้นออกมาได้อย่างง่าย มันมีเรื่องของอารมณ์ เรื่องต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง มันไม่ได้เป็นแค่เรื่องส่วนตัวเพียงอย่างเดียว” ผศ.ดร.วิลาสินี กล่าวทิ้งท้าย