Loading...

จู่ ๆ ก็วีนเหวี่ยงไม่ทราบสาเหตุ! หาวิธีแก้ PMS ของสาวๆ บำบัดวันหม่นๆ ช่วงก่อนมีประจำเดือน

พาสาว ๆ มาหาทางออกวิธีแก้อาการ PMS กับ พญ.พิชิตา ประสงค์เวช เพื่อบำบัดวันหม่น ๆ ช่วงก่อนมีประจำเดือนไปด้วยกัน แต่รู้มั้ยว่าภาวะ PMS มีอะไรมากกว่าที่คิด!

วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2564

     สาว ๆ หลายคนมักต้องเคยหงุดหงิด ๆ เหวี่ยงวีน ๆ แบบไม่ทราบสาเหตุ แต่ที่ไหนได้ อาทิตย์ถัดมาประจำเดือนก็มาซะงั้น และที่เหวี่ยงที่วีนไปแล้วนั้นก็ Get ขึ้นมาทันทีว่า... “ฉันเป็นเมนส์” นี่เอง!

     วันนี้เลยพาสาว ๆ มาหาทางออกวิธีแก้อาการ PMS กับ อาจารย์ พญ.พิชิตา ประสงค์เวช อาจารย์ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อบำบัดวันหม่น ๆ ช่วงก่อนมีประจำเดือนไปด้วยกัน แต่รู้มั้ยว่าภาวะ PMS มีอะไรมากกว่าที่คิด!

จะวีนจะเหวี่ยง หรือจู่ ๆ รู้สึกเหมือนตัวบวม เป็นอาการของ PMS โดยแท้!

     PMS หรือ Premenstrual Syndrome คือ กลุ่มอาการที่มีความผิดปกติทางร่างกายและทางจิตใจในช่วงระยะเวลาก่อนจะมีประจำเดือนประมาณ 1 สัปดาห์ แต่พอหมดประจำเดือนอาการนั้น ๆ จะหายไป และจะกลับมาเป็นซ้ำได้อีกในรอบเดือนถัดไป ซึ่งภาวะ PMS ยังไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน คาดว่าอาจเกิดจากระดับเซโรโตนินซึ่งเป็นสารในสมองที่มีความผิดปกติ

     อาการของ PMS มีอยู่หลายอาการ เช่น ทางร่างกายทั่วไป มักมีอาการเจ็บคัดตึงเต้านม ท้องอืด ปวดท้อง ปวดหัว ตัวบวม น้ำหนักขึ้น อยากทานอาหารตลอดเวลา หิวบ่อย รวมถึงอาจมีอาการท้องเสีย และท้องผูกได้ในบางราย

     ส่วนในทางสภาพจิตใจ มักมีอาการกระวนกระวายง่ายขึ้น เซนซิทีฟได้ง่าย อารมแปรปรวน ร้องไห้ได้ง่าย โกรธง่ายขึ้น วีนเหวี่ยงผิดปกติ จนคนรอบข้างสังเกตเห็นได้ชัดเจน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง จนถึงขั้นมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

วิธีแก้ PMS ทำยังไงดี?

     การรักษามีทั้งแบบใช้ยาและไม่ใช้ยา ในกรณีที่ไม่ใช้ยา จะแนะนำให้เข้ามาปรึกษากับแพทย์ก่อน เพื่อให้เข้าใจตัวเองเพิ่มขึ้น และเข้าใจเกี่ยวกับอาการ PMS รวมถึงการออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ก่อนเบื้องต้น

     หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องใช้ยาช่วยรักษา ยารักษาที่ใช้มักเป็นยาเกี่ยวกับสารสื่อประสาท ทางการแพทย์เรียกว่า SSRI (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) โดยจะออกฤทธิ์ช่วยเพิ่มระดับสารเซโรโทนินในสมอง ซึ่งจะช่วยให้สารสื่อประสาทสมดุลมากขึ้น หรือยาคุมกำเนิด โดยเฉพาะชนิดที่มี ดรอสไพรีโนน(Drospirenone) ซึ่งจะให้ผลต่ออาการได้ดีกว่าชนิดอื่น ทั้งนี้ ขอแนะนำว่าควรมาพบแพทย์ เพื่อรับคำปรึกษาเรื่องการรักษาก่อน

อาการ PMS อาจมีโรคอื่นแทรกซ้อนอยู่โดยไม่รู้ตัว!

     โดยภาวะนี้ ควรจะต้องแยกอาการก่อนด้วยว่ามีโรคอื่น ๆ ที่แทรกซ้อนด้วยหรือไม่ เช่น มีอาการท้องอืด-ท้องเฟ้อ เป็นประจำ อาจเป็นภาวะลำไส้แปรปรวน หรือแม้แต่ภาวะซึมเศร้า (Depression) และโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ซึ่งต้องรักษากับแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งอาการทางจิตเวชบางประเภทมีความคล้ายคลึงกับอาการ PMS ด้วยเช่นกัน จึงแนะนำให้ใช้การสังเกตร่วมด้วยว่ามีภาวะ PMS เฉพาะช่วงก่อนมีประจำเดือน หรือมีอาการเป็นประจำ/บ่อยครั้ง รวมถึงเคยมีประวัติการใช้ยาบางประเภทที่อาจทำให้เกิดภาวะคล้าย PMS ได้เหมือนกัน เช่น ยาฮอร์โมน หรือยารักษาทางจิตเวชบางชนิด

ปวดท้องประจำเดือน ไม่ใช่ PMS ไม่ต้องทน ทานยาแก้ปวดได้เลย!

     อาการปวดท้องประจำเดือน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะ PMS แต่ส่วนมากจะเป็นอาการของภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งหากปวดไม่มาก ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อยู่ อาจจะรับประทานยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ถ้ามีอาการปวดมาก จนทนไม่ได้ ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ บางรายอาจต้องฉีดยาบรรเทาอาการปวดเป็นประจำ ก็ควรมาพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยอาการและสาเหตุที่ชัดเจนว่ามาจากการปวดท้องในช่วงมีประจำเดือน หรือปวดท้องจากอาการอื่น ๆ แทรกซ้อน ซึ่งในเบื้องต้นจะให้ยาแก้ปวดหรือยาฮอร์โมนเพื่อกดอาการ

     ส่วนใครที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เดือนเว้นเดือน สามารถมาพบแพทย์ได้ ซึ่งอาจมีโรคอื่น ๆ แอบซ่อนอยู่ เช่น ฮอร์โมนน้ำนมผิดปกติ หรือโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ รวมถึงความเครียดสะสม พักผ่อนไม่เพียงพอ ก็เป็นอีกปัจจัยเช่นกัน การรักษาในช่วง 3-6 เดือนแรก จะให้ยาเพื่อปรับฮอร์โมน หากยังไม่ดีขึ้นจะต้องมาวินิจฉัยในเรื่องอื่น ๆ เพิ่มเติม

โควิด-19 มีประจำเดือนอยู่ ควรฉีดมั้ย?

     ไขข้อข้องใจของสาว ๆ เรื่องสุดท้าย สำหรับคนที่มีประจำเดือนอยู่ ก็สามารถเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ได้ตามปกติ ไม่ได้เป็นข้อห้าม ไม่ได้อันตราย และไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด แนะนำให้พักผ่อนให้เพียงพอก่อนไปรับวัคซีน