Loading...

รู้จัก ‘ตาแดง’ โรคที่มาแรงในหน้าฝน

จ้องตากันจะติดตาแดงไหม? เข้าใจสาเหตุ การป้องกัน และการรักษาโรคตาแดงอย่างถูกต้อง จากจักษุแพทย์ ธรรมศาสตร์

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ.2565

     ฝนตกอีกแล้ว... คืนนี้คงหนาวกว่าคืนไหน ๆ... หน้าฝนหากไม่ดูแลสุขภาพให้ดีโรคภัยไข้เจ็บอาจจะมาเยือนเราโดยไม่รู้ตัว ‘โรคตาแดง’ เองก็เป็นหนึ่งในโรคที่มักระบาดหนักช่วงหน้าฝน แล้วอะไรคือสาเหตุของโรคนี้ ความเชื่อที่ว่าถ้าจ้องตาคนที่เป็นตาแดงจะติดโรคนั้นจริงหรือไม่ เราจะดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคตาแดงอย่างไร

     วันนี้ รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าศูนย์ตาธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมาอธิบายเพื่อไขข้อข้องใจถึงสาเหตุ การป้องกัน และการรักษาโรคตาแดง   

     สาเหตุของโรคตาแดงหรือโรคเยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis)

     รศ.นพ.ศักดิ์ชัย อธิบายว่า โรคตาแดง เกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยมีตั้งแต่การเป็นตาแดงจากโรคภูมิแพ้ ตาแดงจากการติดเชื้อ ทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย แต่สำหรับหน้าฝนจะเป็นช่วงที่โรคตาแดงชนิดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสมีการระบาดค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสที่เราเรียกว่า ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) ซึ่งสามารถติดต่อกันได้ง่าย

     สมัยก่อนเราจะได้ยินว่ามันมีการติดต่อผ่านแมลงหวี่ เนื่องจากแมลงหวี่อาจไปตอมตาของคนที่เป็นโรคตาแดงแล้วก็มาตอมตาเราจึงทำให้มีการแพร่เชื้อค่อนข้างเร็ว บางทีเด็กเป็นทั้งโรงเรียนหรือผู้ใหญ่ก็เป็นกันทั้งที่ทำงานได้ แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีแมลงหวี่มาเป็นตัวพาหะนำโรคแล้ว แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตาแดงจากเชื้อไวรัสมักเกิดจากการสัมผัสโดยตรงที่ขี้ตาหรือน้ำตาของคนที่เป็นโรคตาแดงนั้น

     รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อไปว่า สมมุติว่าคนแรกไปใช้น้ำที่ไม่สะอาดมีการปนเปื้อนของเชื้อแล้วมาสัมผัสที่ตาตัวเองก็จะทำให้เกิดโรคตาแดงจากเชื้อไวรัส หลังจากนั้นถ้าผู้ป่วยไม่มีสุขอนามัยที่ดีพอ จับตาตัวเองแล้วก็อาจจะไปจับโดนตาคนอื่นหรือสัมผัสโดยอ้อม เช่น ไปจับที่โต๊ะ คนอื่นไม่ทราบก็มาจับตรงตำแหน่งที่มีการปนเปื้อนอยู่ แล้วก็เผลอจับตาตัวเองก็จะติดเชื้อได้ โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้ สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป ตามโต๊ะ ตามผ้าเช็ดหน้าหรือแม้แต่บนหมอนที่เราหนุน ถ้าใช้หมอนร่วมกันกับผู้ป่วยเชื้ออาจจะอยู่ได้เป็นวัน ๆ แล้วก็ทำให้เกิดอาการตาแดงระบาดได้

     “ความเชื่อสมัยก่อนที่บอกว่าถ้าเจอคนตาแดงให้เราแลบลิ้นใส่ คิดว่าคงเป็นกลยุทธ์ของคนยุคนั้นให้เด็กไม่เล่นกันเวลาเป็นตาแดง เพราะว่าจริง ๆ แล้วการมองตากันไม่ทำให้ติดโรคตาแดง การติดโรคได้นั้นต้องมีการสัมผัส ทั้งทางตรง และทางอ้อม”  รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวเพิ่มเติม

     อาการของโรคตาแดง    

     โรคตาแดงจากเชื้อไวรัสมักจะมีอาการค่อนข้างเร็ว รศ.นพ.ศักดิ์ชัย อธิบายว่า อาการของโรคเริ่มจากมีอาการเคืองตา คันตาแล้วก็ตาแดง ซึ่งจะมีน้ำตาไหลค่อนข้างเยอะ โดยภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงจากตาข้างหนึ่งจะลามไปสู่ตาอีกข้างหนึ่งโดยการสัมผัสของตัวผู้ป่วยเอง หลังจากนั้นอีก 1-2 วัน ถ้ายังคงมีการเอามือที่ไม่สะอาดไปสัมผัสดวงตาอีกก็มักจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเข้าไป จะทำให้ขี้ตาซึ่งเป็นน้ำ มีอาการขี้ตาเขียวหรือเหลืองตามมา                  

     โรคตาแดงมีอาการรุนแรงได้ขนาดไหนนั้น รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า โดยทั่วไปถ้าเป็นเชื้อไวรัสตาแดงปกติ มักจะไม่มีความรุนแรงมาก อย่างรุนแรงมากเต็มที่ก็คืออาจทำให้มีกระจกตาดำอักเสบร่วมด้วย ซึ่งจะส่งผลให้มีอาการตามัวในช่วงสัปดาห์แรก แต่ถ้ามีการติดเชื้อของแบคทีเรียซ้ำซ้อนก็อาจจะมีความเสี่ยงต่อการที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อที่ดวงตาได้

     การป้องกันไม่ให้ติดโรคตาแดง   

     สุขอนามัยที่ดีของทุกคนมีความสำคัญมากในการที่จะป้องกันการเป็นโรคตาแดงที่ระบาดในช่วงหน้าฝน โดย รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวถึงวิธีการป้องกันโรคตาแดงไว้ดังนี้
          1. ต้องไม่สัมผัสกับสิ่งของหรือน้ำที่สกปรก เพราะว่าในช่วงหน้าฝนหากคนที่ติดเชื้อไปสัมผัสสิ่งของ หรือโดนน้ำอาจจะทำให้น้ำที่ตกลงมาปนเปื้อนเชื้อไวรัสไทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด        
          2. ต้องหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งในการใช้มือของเราไปสัมผัสที่ดวงตา ทั้งผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการเคืองหรือคันตา หากไม่ไปสัมผัสก็จะไม่ไปแพร่เชื้อให้คนอื่น ในขณะเดียวกันถ้าเรายังไม่ได้ติดเชื้อการที่ไม่เอามือไปสัมผัสดวงตาก็จะทำให้โอกาสที่จะเป็นโรคตาแดงในช่วงหน้าฝนนี้น้อยมาก

     การรักษาโรคตาแดง     

     โรคตาแดงที่เกิดจากเชื้อไวรัสมักจะหายด้วยตัวเองภายในเวลา 2-3 วัน แต่ยังสามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ เพราะฉะนั้นในคนที่เป็นโรคตาแดง ถ้ามีอาการเคืองตา น้ำตาไหลแล้วก็ตาแดง แนะนำว่าให้ไปพบจักษุแพทย์ ก็จะสามารถใช้ยาหยอดตารักษาอาการเคืองตาซึ่งจะทำให้ตาแดงหายเร็วขึ้น

     “ในขณะเดียวกันก็ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการแพร่เชื้อจากเราไปสู่คนในครอบครัวหรือเพื่อน ๆ ทั้งในที่ทำงานหรือโรงเรียนเดียวกัน โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องจับดวงตาของเราเช่นการหยอดยา จะต้องมีการล้างมือทั้งก่อนจับดวงตาและล้างมือหลังจากที่สัมผัสดวงตาไปแล้วเพื่อลดการแพร่เชื้อต่อไป” รศ.นพ.ศักดิ์ชัย เน้นย้ำ