Loading...

‘DMii’ แพลตฟอร์มการเรียนรู้สมัยใหม่ ‘มหา’ลัย’ ต้องทลายกำแพง เพราะ ‘ความรู้’ ล้าสมัยเร็ว!

มหาวิทยาลัยต้องทลายกำแพงห้องเรียน เพราะถนนทุกสายไม่ได้มุ่งสู่มหาวิทยาลัยอีกต่อไป คนรุ่นใหม่มีทางเลือกในการพัฒนาตัวเอง โดยไม่ต้องเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

วันพุธที่ 13 กันยายน พ.ศ.2566

     มหาวิทยาลัยต้องทลายกำแพงห้องเรียนเพราะ ‘ถนนทุกสายไม่ได้มุ่งสู่มหาวิทยาลัยอีกต่อไป’ นี่เป็น Landscape ของการเรียนรู้ที่ไม่ได้หยุดแค่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น คนรุ่นใหม่มีทางเลือกในการพัฒนาตัวเอง เติมทักษะ หาความรู้ประกอบอาชีพ โดยไม่ต้องเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ‘มหาวิทยาลัยจะไม่ได้ผูกขาดความรู้อีกต่อไป’

แล้ว มหา’ลัย มีหน้าที่อะไร?

     มหาวิทยาลัยจะมีหน้าที่เป็น Facilitator ของการเรียนรู้ เช่น คุณมีเป้าหมายอะไร เราจะช่วยคุณคิดว่าคุณต้องทำอะไร คุณควรเรียนตัวนี้เพิ่ม ควรฝึกงานที่ไหน คุณขาดอะไรมหาวิทยาลัยเติมให้ ‘มหาวิทยาลัยจะมีหน้าที่สร้างองค์ความรู้ แต่ไม่ใช่ไปครอบนักศึกษาด้วยวิธีคิดของเรา’

     รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า มหาวิทยาลัยต้องทำตัวให้เป็น Platform ให้คนสามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ และให้โอนมาเป็นหน่วยกิตได้ ฉะนั้นระบบเครดิตแบงก์ (Credit Bank) จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของสถาบันอุดมศึกษาสมัยใหม่ แปลว่า คนสามารถสะสมการเรียนรู้ได้ตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ระหว่างเรียนในมหาวิทยาลัย รวมถึงแม้หลังจบจากมหาวิทยาลัยไปแล้ว เพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นทุกที่ ทุกเวลา ตลอดชีวิต เราต้องเปิดให้สามารถใช้สิ่งที่เรียนรู้นอกห้องเรียนมาเป็นเครดิตสะสมได้

     เมื่อความรู้ไม่ได้อยู่ที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น ผู้สอนต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ และใช้ประโยชน์จาก Learning Resources ซึ่งมีอยู่ในที่ต่าง ๆ มากมาย โมเดลการศึกษาใหม่นี้เรียกว่า DMii’ : Discover, Master, Integrate และ Innovate เป็นการเรียนรู้สมัยใหม่ในโลกที่การศึกษาเปลี่ยนไปสิ้นเชิง อธิบายได้ดังนี้

     1. Discover เรียนเพื่อค้นหาศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัว ซึ่งการค้นหานี้มักจะไม่เกิดขึ้นถ้าเราเรียนตามระบบที่กำหนดให้เราเรียนไปเรื่อย ๆ ตามลำดับขั้น ตามหลักสูตรที่ออกแบบไว้ล่วงหน้าให้ทุกคนเรียนเหมือน ๆ กัน ในทางตรงกันข้าม การเรียนสมัยใหม่ ช่วงปีต้น ๆ จะต้องมีวิชาเรียนที่ยากมาประสม เพราะหากเราเริ่มต้นเรียนโดยต้องเจอสถานการณ์ยุ่งยาก เจอปัญหาต่าง ๆ ที่ไม่เคยเจอ สิ่งเหล่านั้นจะทำให้เราดึงศักยภาพที่มีในตัวออกมาใช้โดยอัตโนมัติ ทำให้เราค้นพบว่า เราถนัดเรื่องนั้น เราทำเรื่องนี้ได้ดี เรามีฉันทะกับเรื่องไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักไม่เกิดขึ้นหากเราเรียนเรื่องง่าย ๆ ไปตามลำดับ

     2. Master เมื่อเราค้นพบว่าเราชอบอะไร ถนัดอะไร ทำอะไรได้ดี ก็ควรเลือกเส้นทางเดินหน้าลงลึกพัฒนาทักษะเหล่านั้นให้เก่ง ให้เชี่ยวชาญ ในระดับที่เราสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง สามารถบอกสอนคนอื่นได้

     3. Integrate ในโลกอนาคตเก่งเรื่องเดียวไม่พอ แต่ต้องเก่งให้ได้ซักเรื่องหนึ่งก่อน แล้วค่อย ๆ ขยายไปบูรณาการความรู้ และทักษะอื่นมาเติม แต่จะให้เก่งทุกอย่างก็เป็นไปไม่ได้ ความเป็นจริงคือ การทำงานใด ๆ เรามักไม่ได้ทำคนเดียว การทำงานใหญ่ การทำงานยาก ต้องใช้ทีมที่ประสมประสานความเชี่ยวชาญกัน ดังนั้น อย่างน้อยเราต้องเก่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งในระดับที่ทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ แล้วคนอื่น ๆ ในทีมก็จะมาเติมเต็มในส่วนที่เราขาด เราก็เติมเต็มในส่วนที่ทีมขาด ทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่นจึงสำคัญมากในโลกอนาคต

     4. Innovate เมื่อเชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว สามารถบูรณาการความรู้อื่น ๆ มาประสมประสานได้แล้ว ระดับสุดท้าย ก็คือการนำความรู้ และทักษะต่าง ๆ ที่มีไปต่อยอด สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ แก้ปัญหาเดิมด้วยวิธีใหม่ ๆ สร้างนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาให้ชีวิตคนดีขึ้น สังคมดีขึ้น

     ในส่วนของการวัดผล ไม่ควรให้ความสำคัญกับการสอบเท่านั้น หากแต่ควรวัดผลจากการลงมือปฏิบัติ การแก้ไขปัญหา การเรียนรู้ต้องออกมาในรูปแบบของ Project เพื่อดูความสำเร็จ และทำออกมาได้จริง เป็นการเรียนรู้ที่สร้างประโยชน์ให้คนอื่นได้จริง ซึ่งการเรียนรู้ตามแนวทางนี้ควรเป็น Project-based, Problem-based หรือ Community-based เป็นต้น

     “สถานศึกษาควรเลือกชุมชนให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนโดยรอบ หรือบริเวณอื่นที่เห็นว่าเหมาะสม แล้วใช้พื้นที่นั้น ๆ เป็นแหล่งเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติของนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง ลงมือทำในพื้นที่เดิม จนสามารถพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จนเห็นความสำเร็จ เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม ซึ่งก็จะทำให้การเรียนรู้ในพื้นที่นั้น ๆ กลายเป็นต้นแบบการเรียนรู้สำหรับ Project อื่น ๆ ต่อไปนอกจากนี้ การเรียนรู้แบบ Community-based นี้ยังช่วยสร้างสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม สร้างความผูกพันกับชุมชน ปลูกฝังวิธีคิดในการสร้างประโยชน์ที่ใหญ่กว่าเพื่อตนเองให้กับนักศึกษาได้อย่างมีประสิทธิผล” รศ.ดร.พิภพ เสนอแนะ

     รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. กล่าวว่า ธรรมศาสตร์ ผลักดันวิชาที่มีความซับซ้อนต้องใช้ทักษะที่หลากหลายในช่วงปีต้น ๆ เพื่อจะช่วยให้เด็กค้นพบตัวเองได้ตั้งแต่ในชั้นปีที่ 1 ทำให้เด็กเรียนรู้ว่าตัวเองถนัดอะไร นอกจากนี้ยังมีกลไกประเมินเพื่อให้หน่วยกิต ไม่ว่าจะเป็นการทำ Project ได้สำเร็จ หรือแข่งขันได้รางวัล โดยหากให้หน่วยกิตกับการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนอกห้องเรียน นอกมหาวิทยาลัย ก็จะสะท้อนการเรียนรู้ที่ครบถ้วนมากขึ้น และทำให้เรียนน้อยลง จบออกไปทำงานได้เร็วขึ้น ซึ่งสำคัญมาก ๆ ในโลกยุค ‘ความรู้อายุสั้น แต่คนอายุยาว’ แปลว่าสิ่งที่เราเรียนรู้ไปนั้น ไม่เพียงพอให้เราใช้ได้ตลอดชีวิต พอความรู้เปลี่ยนเร็ว เราไม่ควรเก็บเด็กไว้ในมหาวิทยาลัยนาน ๆ ไม่เช่นนั้น ก่อนเด็กจบ ความรู้จำนวนไม่น้อยก็อาจล้าสมัยแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่เราควรทำ คือให้เด็ก เรียนเท่าที่จำเป็นและใช้ได้จริง แล้วจบออกไปเร็วที่สุด

     “แต่ถามว่าความรู้นั้นพอไหม คำตอบคือ ไม่พออยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อออกไปเจอปัญหา เจอเรื่องที่ต้องใช้ทักษะใหม่ ก็ต้องเปิดช่องทางให้กลับเข้ามาใหม่ได้โดยง่าย โดยสะดวก มหาวิทยาลัยต้องทลายรั้ว ทลายผนังห้องเรียน เปิดให้คนกลับเข้ามาเรียนรู้ได้ทุกรูปแบบ อยากกลับมาเฉพาะเรื่องหัวข้อที่สนใจ อยากพัฒนาทักษะเฉพาะเรื่อง ก็สามารถมาได้เลย อยากเรียนเท่าไรก็ได้ สามารถเก็บเป็นเครดิตแบงก์ได้ ไม่จำเป็นต้องเรียนตามหลักสูตรทั้งหมด เรียนเฉพาะทักษะขาด เรียนเฉพาะสิ่งที่อยากรู้ แต่ถ้าอยากได้ปริญญาด้วย ก็เก็บหน่วยกิตให้ครบถ้วน ทำให้ครบเงื่อนไขก็สามารถยื่นขอรับปริญญาได้” รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. กล่าว

     รศ.ดร.พิภพ เผยว่า ความฝันคืออยากเห็นการศึกษาก้าวหน้าไปถึงขั้นเปิดให้คนออกแบบปริญญาตัวเองได้ หรือ Design Your Own Degree’ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีอาชีพเกิดใหม่มากมาย เช่น Algorithm Bias Auditors, Growth Hacker, Haptic Planner, Data Detective, Cyber Security Planner, Man-Machine Manager และ Financial Wellness Coach อาชีพเหล่านี้ไม่เคยมีมาในอดีต และในอนาคตก็จะเกิดอาชีพใหม่ ๆ อีกมากมาย แล้วมหาวิทยาลัยจะสอนอะไร? เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอาชีพอะไร ต่อให้รู้ เราก็ไม่รู้ว่ามันใช้ทักษะอะไร

     ดังนั้น ทักษะที่เราต้องสอนให้เด็กคือ ‘ทักษะต่อยอดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง’ สอน How to learn ไม่ได้สอนให้แค่คิดเป็นเท่านั้น แต่สอนให้สามารถสอนตัวเองให้เรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ด้วยตัวเองได้ และเรื่องใหญ่ที่สุดคือ การปลูกฝังมุมมองว่าเขาควรมองโลก มองสังคมอย่างไร เราต้องสอนให้เขาเข้าใจว่าความหลากหลาย คือ ธรรมชาติของโลก โดยใช้หลัก 3R โดยต้องเริ่มจาก 1. Recognize คือตระหนัก และเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายในมิติต่าง ๆ ของโลก ของสังคม 2. Respect คือเคารพในความแตกต่างหลากหลายนั้น ไม่ดูถูกดูแคลน หรือรังเกียจเพียงเพราะเห็นว่าแตกต่างไปจากความคุ้นชินของตนเอง และ 3. Reciprocate คือต่างตอบแทน อยากได้รับการปฏิบัติต่อแบบไหน ก็ต้องปฏิบัติต่อคนอื่นในแบบนั้น

     ในเมื่อการศึกษาเริ่มถูกปรับเปลี่ยนมากขึ้น ผู้เรียนมีแนวคิดที่เปลี่ยนไป และสิ่งที่ผู้สอนควรมีต่อจากนี้  คือ 1. Open Minded ผู้สอนต้องเปิดใจว่า ‘อย่าคิดว่า ไม่สอนแล้วเด็กจะไม่รู้’ เพราะเด็กในปัจจุบันมีทรัพยากรเรียนรู้ด้วยตนเองเยอะมาก ต้องมุ่งให้เด็กแต่ละคนพัฒนาต่อยอดไปให้ไกลที่สุดตามศักยภาพของตนเอง ไม่ดึงเด็กไว้ให้ไปพร้อม ๆ กัน

     2. Listening Skill ต้องมีทักษะการฟัง โดยรับฟังทั้งสิ่งที่เด็กพูดและไม่ได้พูด หลายครั้งสิ่งที่เด็กไม่ได้พูด อาจจะสำคัญกว่าสิ่งที่เด็กพูด ต้องฟังด้วยความตั้งใจ ให้เกียรติ เพื่อจะข้าใจวิธีคิด และมุมมองที่แท้จริงของเด็ก เราจึงจะสามารถช่วยพัฒนาและแนวทางให้เด็กได้อย่างเหมาะสม

     3. Individualized Learning Design ผู้สอนต้องมีความสามารถในการออกแบบ วางแผนการเรียนรู้เป็นรายบุคคล และทำหน้าที่เป็น Coach หรือเป็นที่ปรึกษารายบุคคล โดยนำความต้องการและความคิดของสิ่งที่เด็กเป็นตัวตั้ง นอกจากนี้ผู้สอนต้องมีเครือข่ายที่กว้างขวาง เพื่อแนะนำให้เด็กสามารถไปใช้ Learning Resources ที่มีอยู่มากมายในที่ต่าง ๆ ได้

     ท้ายสุด ธรรมที่ผู้สอนพึงมีประจำใจ คือ พรหมวิหาร 4 คือ ‘เมตตา’ เพราะเด็กจะสัมผัสได้ว่า คำสอน ข้อแนะนำเกิดจากความรักและความปรารถนาดีของครู ‘กรุณา’ ครูต้องลงมือช่วยเหลือเมื่อเด็กเกิดปัญหา หรือเป็นทุกข์ ไม่ว่าจะทุกข์จากการเรียน หรือเรื่องอื่น ๆ ‘มุทิตา’ ครูต้องชื่นชมยกย่องเมื่อเด็กประสบความสำเร็จ และพึงต้องทำทุกครั้งที่มีโอกาส เพื่อให้เด็กได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และ ‘อุเบกขา’ คือต้องรู้จักวางใจให้เป็นกลาง ไม่เอียงด้วยรัก หรือชัง ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้ปัญญา เช่น เมื่อเด็กต้องทำงานยาก แต่เด็กจะได้เรียนรู้ ก็ต้องฝึกให้เขาทำ ไม่ใช้เมตตา หรือสงสารมาปิดกั้นจนทำให้เด็กไม่เกิดการเรียนรู้