Loading...

นักศึกษาธรรมศาสตร์สร้างชื่อ คว้าชัยซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนาม กวาด 16 เหรียญรางวัล

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มอบทุนการศึกษาแก่นักศึกษาธรรมศาสตร์ นักกีฬาตัวแทนประเทศไทย คว้าชัยกวาด 16 เหรียญรางวัล จากการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนาม

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2565

     สำหรับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ (SEA GAMES) ครั้งที่ 31 ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีกีฬาที่จัดการแข่งขันจำนวน 40 ชนิดกีฬา มีสมาชิกส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 11 ประเทศ ในส่วนของประเทศไทย ได้จัดส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 819 คน ซึ่งนักกีฬาจำนวน 17 คน เป็นนักกีฬาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันจำนวน 6 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย กรีฑา กีฬาฟินสวิมมิ่ง กีฬาฟันดาบสากล กีฬาเทควันโด กีฬายิมนาสติก และกีฬากระโดดน้ำ ซึ่งนักกีฬาสามารถคว้าเหรียญรางวัลจำนวน 16 เหรียญ ประกอบด้วย 1 เหรียญทอง  9 เหรียญเงิน และ 6 เหรียญทองแดง 

     เพื่อเป็นการแสดงความยินดีและเชิดชูความสำเร็จของนักกีฬา เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัด “พิธีมอบทุนการศึกษาเพื่อเชิดชูเกียรติแก่นักกีฬาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31” เพื่อมอบทุนการศึกษาเป็นขวัญและกำลังใจให้กับนักกีฬาที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานในพิธีมอบทุนการศึกษา ทั้งหมดจำนวน 17 ทุน รวมจำนวนเงินทั้งสิ้น 144,000 บาท ประกอบไปด้วย

1.ทุนการศึกษา 10,000 บาท จำนวน 10 ทุน ได้แก่

เหรียญเงิน      
1. วรกันต์ ศรีนวลนัด คณะสหเวชศาสตร์ นักกีฬาฟันดาบ : เซเบอร์บุคคลชาย และเซเบอร์ทีมชาย        
2. พิชามญชุ์ ลิ้มไพบูลย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี นักกีฬาเทควันโด : พุมเซ่ทีมหญิง     
3. ปัณฑิตา ทองสอง คณะศิลปศาสตร์ นักกีฬายิมนาสติก : กรุ๊ปเอ็กเซอร์ไซด์หญิง      
4. วุฒิภัทร สงวนวงศ์  คณะสหเวชศาสตร์ นักกีฬาฟินสวิมมิ่ง : ผลัด SF 4x100 เมตร ทีมชาย   
5. ชลธิชา คะบุตร คณะสหเวชศาสตร์ นักกรีฑา : กระโดดค้ำถ่อ

เหรียญทองแดง 
1. นวนิตย์ อินทรวิเชียร คณะสหเวชศาสตร์ นักกีฬาฟินสวิมมิ่ง : ผลัด SF 4x200 เมตร ทีมหญิง 
2. กิตติสุข ดำดี คณะสหเวชศาสตร์ นักกีฬาฟินสวิมมิ่ง : ผลัด SF 4x200 เมตร ทีมหญิง
3. นุชวรา วิจักษณาพงษ์ คณะศิลปศาสตร์ นักกีฬาฟินสวิมมิ่ง : ผลัด SF 4x200 เมตร ทีมหญิง  
4. ธีรุตม์ เย็นคงคา คณะเศรษฐศาสตร์ นักกีฬาฟินสวิมมิ่ง : ผลัด Bi – Fins 4x100 เมตร ทีมผสม         
5. เทวา เบ้าจูม คณะวิศวกรรมศาสตร์ นักกีฬาฟินสวิมมิ่ง :  ผลัด Bi - Fins 4x100 เมตร ทีมผสม

ทุนการศึกษา 8,000 บาท จำนวน 4 ทุน ได้แก่

เหรียญทอง     
1. ณฐวรรธ เอี่ยมอุดม คณะสหเวชศาสตร์ นักกรีฑา : ผลัด 4x100 เมตร ทีมชาย

เหรียญเงิน      
1. สุรบดี แสงแก้ว คณะรัฐศาสตร์ นักกีฬาฟินสวิมมิ่ง : ผลัด SF 4x100 เมตร ทีมชาย  
2. อภิสรา พิริยะพฤทธิ์ คณะสหเวชศาสตร์ นักกรีฑา : ผลัด 4x400 เมตร ทีมหญิง      
3. ดารารัตน์ สร้อยสุวรรณ คณะสหเวชศาสตร์ นักกรีฑา : ผลัด 4x400 เมตร ทีมหญิง

เหรียญทองแดง 
1. สุรบดี แสงแก้ว คณะรัฐศาสตร์ นักกีฬาฟินสวิมมิ่ง : ผลัด Bi-Fins 4x100 เมตร ทีมผสม

ทุนการศึกษา 4,000 บาท จำนวน 3 ทุน ได้แก่

1. ศุภรดา ฤทธิ์เจริญ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน นักกีฬาฟินสวิมมิ่ง เข้าร่วมการแข่งขัน    
2. ขวัญชนก ขุนบุญจันทร์  คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี  นักกีฬากระโดดน้ำ เข้าร่วมการแข่งขัน
3. จุฬานันท์ ขันติกุลานนท์  วิทยาลัยนวัตกรรม นักกีฬาเทควันโด  เข้าร่วมการแข่งขัน   

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในพิธีว่า วันนี้เป็นวันดีของมหาวิทยาลัยอีกวันหนึ่งที่ได้รับทราบข่าวอันน่าชื่นใจ ที่นักศึกษาของเรานั้นเป็นนักกีฬาตัวแทนของประเทศไทย ไปเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 31 แล้วได้รับรางวัลกลับมามากมาย จึงต้องขอขอบคุณพวกเราทุกคนที่ทุ่มเททั้งด้านกีฬาและการเรียน เรื่องของกีฬาเป็นเรื่องที่ยาก เหนื่อยมาก แต่เราก็ยังสามารถคว้าเหรียญกลับมาได้ เพราะฉะนั้นการเรียนก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับพวกเราเช่นกันถ้าเราพยายามทำให้ดี

     “สิ่งเหล่านี้ ที่นักศึกษาผ่านมา ความดีใจเรื่องของกีฬา การทำประโยชน์เพื่อสังคม เรื่องของการเรียนที่เป็นประโยชน์ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จะหล่อหลอมชีวิตและจิตใจของพวกเรา ให้มีความสุขและมีความก้าวหน้า ก็อยากให้นักศึกษาได้ทั้งการเรียนก็ดี กีฬาก็ดี เราก็ต้องรักษาเรื่องดี ๆ ไว้กับตัวเรา” รศ.เกศินี ทิ้งท้าย

     นับว่าความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และของประเทศไทย แต่กว่าน้อง ๆ จะสามารถก้าวมาเป็นตัวแทนของประเทศไปแข่งขันในกีฬาประเภทต่าง ๆ จนได้รับชัยชนะกลับมาได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องพึ่งทั้งแรงกายและแรงใจ วันนี้เรามาพูดคุยกับนักกีฬาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังสู่การคว้าชัย

     กันต์ - วรกันต์ ศรีนวลนัด นักศึกษาคณะสหเวชศาสตร์ สาขาการจัดการกีฬา ตัวแทนประเทศไทยแข่งขันกีฬาฟันดาบสากล คว้าสองเหรียญเงินจากกีฬาฟันดาบประเภทเซเบอร์บุคคลชาย และเซเบอร์ทีมชาย        

     สำหรับกีฬาฟันดาบ วรกันต์ เผยว่า กีฬาฟันดาบแบบเซเบอร์ เป็นดาบประเภททั้งฟันและแทงได้ สำหรับนักกีฬาแล้วความยากคือการรักษาสภาพร่างกาย และไหวพริบปฏิภาณ เพราะเวลาแข่งจริง บางทีเราอาจจะซ้อมมาเต็มร้อย แต่วันที่เราแข่งกลับกลายเป็นว่าเราไม่สามารถเล่นเหมือนที่เราซ้อมได้ ซึ่งกีฬาฟันดาบแต่ละนัดใช้เวลาตั้งแต่ 5 – 10 นาที ก็จบเกมส์ บางนัดที่เก็บ 5 แต้ม ใช้เวลาเพียง 30 วินาทีเท่านั้น ซึ่งเราต้องมีสมาธิมาก สิ่งที่นักกีฬาฟันดาบต้องมีคือสมาธิและการแข่งกับตัวเอง ว่าเราจะเล่นอะไรบ้าง แล้วการตอบสนองของเราเป็นยังไง

     นายวรกันต์ เล่าถึงการฝึกซ้อมก่อนการแข่งขันและการแบ่งเวลาว่า ทุกวันในช่วงเช้า วันจันทร์ วันพุธ วันศุกร์ จะเป็นการฝึกเรื่องร่างกาย  วันอังคาร วันพฤหัสฯ จะเป็นการฝึกเรื่องเทคนิค ส่วนช่วงเย็น วันจันทร์ถึงวันเสาร์ จะเป็นการฝึกใช้เทคนิคซ้อมจริงกับเพื่อน ๆ บางวันจะมีเทคนิคเสริมเข้ามาด้วย  

     ในเรื่องการแบ่งเวลาเรียน ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทางคณะจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งอาจารย์จะมีการบันทึกวิดีโอการสอนไว้ให้  สามารถมาเรียนย้อนหลังได้ ประกอบกับทางอาจารย์ของคณะสหเวชศาสตร์ มีความเข้าใจในการเป็นนักกีฬา จึงไม่ยากในการสื่อสาร บางทีเราไม่เข้าใจบทเรียนนี้ เราอ่านเองตอนกลางคืน เราทักไปถามอาจารย์ อาจารย์ก็สามารถให้คำปรึกษาเราได้

     นักกีฬาทุกคนเป้าหมายสูงสุดก็คือการแข่งขันโอลิมปิก ถ้าคุณได้คัดเลือกไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกแล้ว ก็ถือว่าเป็นเป้าหมายและรางวัลที่สำคัญที่สุด เพราะว่าโอลิมปิก ไม่ใช่ว่าใครจะไปได้ นายวรกันต์ คิดว่าหากตนได้ไปโอลิมปิก ตนอาจจะทำให้กีฬาฟันดาบของประเทศไทยดังขึ้น เป็นที่นิยมมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ฐานนักกีฬาวงการฟันดาบแข็งแรงมากขึ้น เพื่อที่ในอนาคตเมื่อจบภารกิจทุกอย่าง ตนจะสามารถช่วยผลักดันกีฬาฟันดาบไทยให้ไปสู่ระดับโลกได้ เพราะตอนนี้กีฬาฟันดาบในไทย น้อยคนที่จะรู้จัก น้อยคนที่ได้เข้าถึง

     วรกันต์ เล่าให้ฟังว่าตนเล่นกีฬาฟันดาบมากว่า 13 ปี โดยในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่ถูกคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันซีเกมส์ ซึ่งตนรู้สึกดีใจมากในทุก ๆ ครั้ง แต่ครั้งนี้สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือความคาดหวังว่าจะได้เหรียญทอง ที่ผ่านมาเป็นเจ้าพ่อเหรียญเงิน ครั้งนี้พอมันพลาด ไม่ได้อย่างใจนึก ก็พยายามบอกตัวเองว่าไม่เป็นไรถือว่าเป็นบทเรียนอีกครั้งหนึ่ง  

     “ฝากถึงทุก ๆคนที่เป็นนักกีฬา และไม่ใช่นักกีฬาก็ตาม ถ้าเราผิดพลาดไม่ได้หมายความว่าเราจะกลับไปแก้ไขไม่ได้ เราผิดพลาด เรานำเอาความผิดพลาดนั้นมาเป็นบทเรียนของเรา เราต้องทำมันใหม่ ทำมันซ้ำ ๆ แล้วครั้งต่อไปคุณจะได้ไม่ผิดพลาด ไม่ต้องถามว่า ‘ทำไม’ เราถึงแพ้ ต้องถามว่า ‘เพราะอะไร’ เราจะได้รู้เหตุผลว่าเราแพ้หรือผิดพลาดเพราะอะไร แล้วเราก็จะสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ ทุกครั้งที่ผมแพ้ ผมก็จะกลับมาดูว่า เพราะอะไรผมถึงแพ้ ผมก็จะหาสาเหตุเป็นข้อ ๆ แล้วผมก็จะกลับไปเพื่อฝึกซ้อม เพื่อที่จะกลับมาชนะได้ในครั้งต่อไป” วรกันต์ กล่าวทิ้งท้าย

     ปันปัน - ปัณฑิตา ทองสอง นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ตัวแทนประเทศไทยแข่งขันกีฬายิมนาสติกลีลา ได้เหรียญเงิน ประเภทกรุ๊ปเอ็กเซอร์ไซด์

     ปัณฑิตา เล่าว่า รู้สึกดีใจที่ได้เป็นตัวแทนของคนไทยไปแข่งขันซีเกมส์ที่เวียดนาม และภูมิใจมากที่ได้รับเหรียญกลับมาให้กับประเทศและสมาคมกีฬายิมนาสติกแห่งประเทศไทย เหมือนได้นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศ

     ซึ่งในการเตรียมตัวไปแข่งขันรอบนี้ ปัณฑิตา เผยว่าเป็นการซ้อมที่ค่อนข้างหนัก ซ้อมวันละ 2 เวลา เช้าก่อนเรียนเวลา 7.00 – 9.00 น. และเย็นหลังเลิกเรียนเวลา 17.00 – 22.00 น. ถือเป็นการซ้อมที่หนักที่สุดตั้งแต่เป็นนักกีฬา แต่ในรอบนี้ดีตรงที่ว่าเป็นการเรียนแบบออนไลน์ ไม่ต้องเดินทางไปเรียนถึงมหาวิทยาลัย ทำให้สามารถทุ่มเทกับการซ้อมได้มากยิ่งขึ้น

     ปัณฑิตา เล่าถึงกีฬายิมนาสติกว่าเป็นกีฬาที่เน้นความสวยงามต้องเล่นผิดพลาดให้น้อยที่สุด เพราะฉะนั้นการซ้อมในรอบนี้จึงต้องทำยังไงก็ได้ให้ผิดพลาดน้อยที่สุดในแต่ละวัน และต้องผิดพลาดน้อยลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั้งวันแข่งขันจะต้องไม่ผิดพลาดเลย ซึ่งผลการแข่งขันก็ออกมาค่อนข้างดี สมกับการซ้อมมาอย่างหนัก

     “ถ้าใครจะเดินสายกีฬา แนะนำให้แบ่งเวลาให้ดี ต้องรู้จักแบ่งเวลาซ้อมและเวลาเรียนให้สมดุลกันค่ะ ยอมรับเลยว่าถ้าการเป็นนักกีฬาเหนื่อยมาก แต่ทุกการประสบความสำเร็จนั้นเหมือนเป็นแรงผลักดันให้เรายังอยู่ตรงจุดนี้อย่างภาคภูมิใจค่ะ” ปัณฑิตา กล่าว

     พีเจ้น - วุฒิภัทร สงวนวงศ์  นักศึกษาคณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา ตัวแทนประเทศไทยแข่งขันกีฬาฟินสวิมมิ่ง คว้าเหรียญเงินจากประเภท ผลัด SF 4x100 เมตร ทีมชาย

     วุฒิภัทร เล่าว่า กีฬาฟินสวิมมิ่ง เป็นกีฬาว่ายน้ำที่มีอุปกรณ์เพิ่มเข้ามาคือครีบ ทำให้เหนื่อยกว่าการว่ายน้ำทั่วไป เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ทั้งแปลกใหม่และค่อนข้างหนัก สิ่งที่ต้องมีในนักกีฬาฟินสวิมมิ่งจึงเป็นความแข็งแรงของขา แล้วก็ระบบหายใจ ในเรื่องการเตรียมตัวเราจึงต้องแบ่งเวลานอนให้เยอะที่สุด เพราะว่าการพักผ่อนคือสิ่งสำคัญมาก

     การแข่งขันซีเกมส์ครั้งนี้ นายวุฒิภัทร เผยว่า เป็นรอบที่เก็บตัวแล้วซ้อมหนักที่สุดตั้งแต่เป็นนักกีฬาฟินสวิมมิ่งมา ตลอดระยะเวลา 5 เดือนก่อนการแข่งขันซีเกมส์ ต้องซ้อมทุกวันอังคารถึงวันอาทิตย์ ช่วงเช้าประมาณเวลา 7.00 – 11.00 น. ส่วนช่วงเย็นจะเริ่มตั้งแต่ 15.00 น. จนถึงประมาณ 19.00 น. โดยผลงานในครั้งนี้นับได้ว่าออกมาดีตามที่ซ้อม

     เรื่องของการซ้อมเราเน้นเรื่องความเร็ว การทำรอบ ตลอดทุกอาทิตย์ต้องแข่งกับตัวเองในการเก็บสถิติ เพื่อดูว่ามีการพัฒนาไปแค่ไหน วุฒิภัทร ยอมรับว่าในตอนซ้อมรู้สึกท้อบ่อย แต่ว่าเราก็ต้องสู้ คนอื่นที่เขาเก่ง ประสบความสำเร็จ เขาก็น่าจะเหนื่อยกว่าเรา

     การคว้าเหรียญเงินกลับมาได้ในครั้งนี้ วุฒิภัทร กล่าวว่ารู้สึกดีใจ และภาคภูมิใจ ที่ได้ทำตามความฝันตัวเองตอนเด็ก ที่อยากจะเป็นนักกีฬาตัวแทนทีมชาติแล้วได้เหรียญกลับมา ทำให้มองว่าการซ้อมหนักที่ผ่านมาถือว่าคุ้มค่ามากกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น โดยคาดหวังว่าเมื่อปีนี้ได้เหรียญเงินกลับมา ปีหน้าก็อยากทำให้มันดีกว่านี้

     “น้อง ๆ หรือว่าพี่ ๆ คนไหนที่กำลังมาในเส้นทางนักกีฬา ก็อยากให้สู้แล้วก็พยายาม เพราะว่าเส้นทางนี้มันเหนื่อยมาก แต่ว่าถ้าเราตั้งใจและทำมันให้ดีที่สุด ผลตอบแทนน่าจะออกมาดี ก็อยากให้ทุกคนสู้ ๆ”
วุฒิภัทร กล่าว

 

     และ ออย - นวนิตย์ อินทรวิเชียร นักศึกษาคณะสหเวชศาสตร์ สาขาการฝึกสอน ตัวแทนประเทศไทยแข่งขันกีฬาฟินสวิมมิ่ง คว้าเหรียญทองแดง จากประเภทผลัด SF 4x200 เมตร ทีมหญิง            

     นวนิตย์ เผยความรู้สึกว่า ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ มันเป็นความรู้สึกที่ต้องผ่านอุปสรรคหลาย ๆ อย่างในชีวิต วัดใจตัวเอง ความพยายาม ความมุ่งมั่น ระเบียบวินัย รู้สึกดีใจภาคภูมิใจกับตัวเองมากที่ได้เป็นตัวเเทนของประเทศและทำลายสถิติตัวเองรวมถึงประเทศไทยด้วย เป็นความรู้สึกที่ในหัวไม่ได้คิดอะไร คิดอย่างเดียวคือจะทำยังไงให้มันดีขึ้นในการแข่งขันแต่ละรอบโดยไม่ให้มีข้อผิดพลาดมากที่สุด ตอนที่ได้เหรียญมารู้สึกคุ้มค่ากับที่เหนื่อยที่ซ้อม ดีใจแบบสุดอารมณ์ประมาณว่าเราทำได้แล้วนะ ความพยายามเราไม่สูญเปล่านะ 

     การเตรียมตัวฝึกซ้อมก่อนไปแข่งขัน นวนิตย์ เล่าว่าเป็นไปตามระบบที่โค้ชทีมชาติจัดให้ โดยระหว่างการฝึกซ้อมสิ่งที่สำคัญคือการกิน นอน พักผ่อน และที่ขาดไม่ได้คือการรักษาร่างกายให้สมบูรณ์มากที่สุด ในเรื่องของการเรียน หากวันไหนที่มีเรียนสามารถขออนุญาตโค้ชเลิกซ้อมไวและไปเรียนตามปกติได้ เวลาส่งงานจะคอยแจ้งอาจารย์ว่าหากวิชานี้ไม่สะดวกส่งหรือไม่สะดวกทำจะชี้แจ้งเหตุผลอาจารย์อีกที และจะคอยติดตามงานสอบถามเพื่อน ๆ ให้เพื่อนคอยช่วย       

     “เวลาทำอะไรมันเหนื่อยทุก ๆ อย่าง แม้กระทั้งกีฬาหากผ่านจุดที่เหนื่อยไปแล้วก็ต้องเจออุปสรรคเจอปัญหาชีวิตเจออะไรแย่ ๆ หลายอย่างคุณก็ต้องจัดการด้วยตัวเอง เพียงแค่ไม่ท้อไม่ถอยพยายามต่อไปอย่าหยุดพัฒนาตัวเองแล้วคุณจะเห็นความสำเร็จ” นวนิตย์ กล่าวทิ้งท้าย