Loading...

“รถเข็นไฟฟ้าเพื่อผู้พิการทางขา” ผลงานนักศึกษาวิศวะฯ ธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลใหญ่ gSIC 2022

นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ.2565

     ทีมนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (Global Student Innovation Challenge (gSIC 2022)) โดย สวทช. ร่วมกับกลุ่มความร่วมมือ CREATe Asia จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ครั้งที่ 15 (i-CREATe 2022) ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ในรูปแบบผสม

     การประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (Global Student Innovation Challenge) หรือ gSIC 2022 มีผลงานสิ่งประดิษฐ์จากนิสิตนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกและเข้าร่วมการประกวดในรอบชิงชนะเลิศจาก 5 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ประเทศไทย สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และไต้หวัน รวมทั้งสิ้น 40 ผลงาน โดยการประกวดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (Technology Category) และผลงานด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (Design Category)

     ผลปรากฏว่าทีมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ Gold Award ด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ในผลงาน “รถเข็นไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่ง่ายต่อการเคลื่อนย้ายผู้พิการทางขา หรือ Movere (New design power wheelchair for easy transfer)” พัฒนาโดย นางสาวธัญรดา วิริยะทรัพย์อุดม ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล, นายสุพศิน สมบุญดี ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และ นายกวิน สิริจันทกุล ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล โครงการ TEP โดยมี ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

     นางสาวธัญรดา วิริยะทรัพย์อุดม เผยถึงแนวคิดว่า เริ่มจากการที่พวกเราเห็นว่าการเคลื่อนย้ายตัวของผู้พิการในปัจจุบันเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะการเคลื่อนที่จากรถเข็นผู้พิการไปยังเก้าอี้หรือชักโครก ซึ่งผู้พิการต้องออกแรงเยอะ ทำให้เราเกิดแนวคิดที่ว่าจะง่ายกว่าไหม หากผู้พิการสามารถเคลื่อนย้ายตัวจากทางด้านหลัง และสามารถเข้าออกรถเข็นได้โดยไม่ต้องยกตัวขึ้น

     นวัตกรรมนี้คือ รถเข็นไฟฟ้าสำหรับผู้พิการส่วนล่าง โดยส่วนบนยังสามารถใช้งานได้อยู่ รถเข็นไฟฟ้านี้สามารถเข้าออกจากทางด้านหลังของผู้ใช้งาน มีระบบปรับยืนเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายของผู้พิการในการใช้ชีวิตประจำวัน และระบบควบคุมรถเข็นไฟฟ้าจากระยะไกลผ่านมือถือ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียกหรือนำรถเข็นออก

     นายสุพศิน สมบุญดี กล่าวถึงจุดเด่นว่า เป็นการเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้พิการในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเพื่อให้ผู้พิการสามารถเข้าออกรถ และสามารถเคลื่อนที่ได้โดยใช้แรงน้อยที่สุด ระบบปรับระดับความสูงเบาะเพื่อให้ผู้พิการสามารถปรับระดับความสูงให้เท่ากับเก้าอี้หรือชักโครกให้เหมาะสมกับการเคลื่อนย้ายตัว และระบบปรับยืนเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวัน

     นายกวิน สิริจันทกุล กล่าวเสริมต่อว่า รถเข็นไฟฟ้านี้ได้ลองนำไปให้ผู้พิการใช้จริงแล้ว โดยทั่วไปสามารถใช้งานได้ดี แต่ยังคงมีจุดบกพร่องที่ต้องปรับปรุง ซึ่งได้เริ่มวางแผนพัฒนาให้รถเข็นมีขนาดเล็กลง สามารถใช้งานได้แม้ในพื้นที่จำกัด ขับเคลื่อนได้ง่ายขึ้น เพราะด้วยตัวผลงานของเราเป็นการขับเคลื่อนล้อหน้าอาจจะต้องใช้ความเคยชินในการขับ และผู้พิการหรือผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงรถเข็นของเราได้ง่ายขึ้น

     “ความรู้สึกแรกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือรู้สึกตกใจครับ แต่พอหายตกใจคือดีใจกันมาก ความเหนื่อยหรือความยากในการทำงานที่ผ่านมาคือหายไปเลยครับ ตอนได้รับรางวัล รู้สึกว่าที่ทำมามีคนได้เห็นประโยชน์ของตัวรถเข็นของพวกเรา และมันคุ้มค่ากับการสร้างรถเข็นขึ้นมาจริง ๆ ครับ” นายกวิน กล่าว

     นอกจากนี้ ทีมนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังคว้ารางวัลชนะเลิศ Gold Award ด้านเทคโนโลยีสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ จากเวทีเดียวกัน ในผลงาน “การออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์กายภาพแขนผ่านกลไกสะท้อนแบบสมมาตร (Design and development of physical therapy upper limb device with symmetrical reflections mechanism)” พัฒนาโดย นายเมธาสิทธิ์ เกียรติ์ชัยภา นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล, นางสาวธันยพร วงศ์วัชรานนท์ นักศึกษาปริญญาเอก วิศวกรรมทางการแพทย์ และ Mr. Abul Kashem Tahmid Shahriar นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล โดยมี ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.พัชรี คุณค้ำชู คณะสหเวชศาสตร์ ภาควิชากายภาพบำบัด เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา