Loading...

‘ธรรมศาสตร์’ ยืนหนึ่ง 4 ปีติด คว้ารางวัล ‘Friendly Design Awards 2022’

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัล ‘Friendly Design Awards 2022’ จากมหกรรมอารยสถาปัตย์ฯ ระดับชาติ ทุกพื้นที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล พร้อมเดินหน้าจัดทำ Guiding Block บนทางเท้า 100%

วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเลือกให้เป็น “องค์กรส่งเสริมอารยสถาปัตย์แห่งปี” (Tourism for All) จากมหกรรมอารยสถาปัตย์และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2565  (Thailand Friendly Design Expo 2022) โดยสามารถคว้ารางวัล Friendly Design Awards 2022 ในฐานะองค์กรที่มีความโดดเด่นด้านการส่งเสริมและสร้างอารยสถาปัตย์ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียม เป็นมิตรกับคนทั้งมวล ซึ่งนับเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันที่ได้รับรางวัลดังกล่าว

     รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยได้เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ หนึ่งในนั้นคือการให้โควตาพิเศษแก่นักศึกษาพิการในรูปแบบการรับตรง โดยกำหนดสัดส่วนไว้ที่คณะละ 1% สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 10 เรื่องการลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ (Reduce inequality within and among countries) ด้วย

     รศ.ดร.ชุมเขต กล่าวว่า นอกเหนือจากการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค และการให้บริการทางวิชาการ มหาวิทยาลัยยังเดินหน้าในการปรับปรุงอาคารสถานที่ ตลอดจนการสร้างอารยสถาปัตย์ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและปลดล็อกข้อจำกัดของนักศึกษาพิการ ซึ่งจะเอื้อต่อการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น

     รศ.ดร.ชุมเขต กล่าวอีกว่า บนเนื้อที่ของมหาวิทยาลัยทั้งหมด 1,200 ไร่ เป็นที่ตั้งของอาคารเกือบ 100 แห่ง โดยปัจจุบันทุกอาคารจะมีทางลาดสำหรับรถวีลแชร์ มีลิฟต์ ห้องน้ำ ที่จอดรถ สำหรับนักศึกษาพิการ ขณะที่ถนนภายในมหาวิทยาลัยก็มีการติดตั้งสัญญาณเตือนสำหรับนักศึกษาหูหนวก ตาบอด ซึ่งนับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการติดตั้งระบบนี้ ส่วนหอพักนักศึกษา ได้ออกแบบขึ้นมาเป็นพิเศษภายใต้มาตรฐานสากล เช่นเดียวกับสถานที่ออกกำลังกาย อาทิ ฟิตเนส หน้าผาจำลอง สระว่ายน้ำ ก็มีการออกแบบไว้ให้นักศึกษาพิการเข้าถึงได้ทั้งหมด ขณะที่การเดินทางในมหาวิทยาลัยก็มีการติดตั้งทางลาด (Ramp) ในรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าทุกคัน

     “ขณะนี้เราอยู่ระหว่างการปรับปรุงทางเท้าทั้งหมด ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยจะจัดทำเป็นพื้นผิวสำหรับนำทาง (Guiding Block) สำหรับนักศึกษาพิการทางสายตาเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่จะขยายเพิ่มให้ได้ 100%” รศ.ดร.ชุมเขต กล่าว

     โครงสร้างขั้นพื้นฐานและอาคารที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์สำหรับผู้พิการส่งผลโดยตรงกับผลการเรียนของนักศึกษา โดยปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนักศึกษาพิการรวมทั้งสิ้น 75 ราย ซึ่งหากย้อนกลับไปในอดีตเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน หรือใน พ.ศ. 2548 มีการสำรวจพบว่านักศึกษาพิการมีผลการเรียนอยู่ในระดับต่ำ แต่หลังจากมีการปรับปรุงสถานที่เรื่อยมาก็พบว่าผลการเรียนเฉลี่ยของนักศึกษาพิการดีขึ้นเรื่อย ๆ โดย 80% ของนักศึกษาพิการสำเร็จการศึกษาและมีงานทำ

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์ผู้พิการในปี 2563 พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการ 2.05 ล้านคน ในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่ง หรือ 49.61% เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย โดยตัวเลขที่น่าสนใจก็คือ จากกว่า 2 ล้านคนข้างต้น พบว่ามีเพียง 21,980 คน เท่านั้นที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ขณะที่จบชั้นมัธยมศึกษาเพียง 172,780 คน

     รศ.เกศินี กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้การศึกษาของผู้พิการไม่ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการออกแบบที่ไม่เอื้อให้เข้าถึงการศึกษา เช่น การไม่มีทางเท้า การไม่มีทางลาด การไม่มีลิฟต์ ฯลฯ ตลอดจนความพร้อมของอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอน ความเข้าใจของบุคลากร ฉะนั้นสถานศึกษาทุกระดับจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ สำหรับมหาวิทยาลัยได้จัดสรรงบประมาณมากกว่า 10 ล้านบาทต่อปี เพื่อปรับปรุงอาคารสถานที่ ซึ่งที่สุดแล้วทำให้ผลการเรียนของนักศึกษาพิการดีขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันอยู่ในระดับดีเยี่ยม นักศึกษาจำนวนมากจบการศึกษาออกไปในระดับเกียรตินิยม

     “มหาวิทยาลัยได้พัฒนาให้นักศึกษาพิการเป็น Change Agent หรือผู้ที่ส่งเสริมและสนับสนุนความเปลี่ยนแปลง คือไม่ได้รอรับการสงเคราะห์เพียงอย่างเดียว ซึ่งทุกวันนี้นักศึกษาพิการหลายคนจบการศึกษาไปเป็นทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย นักกฎหมาย ผู้ประกาศข่าว หรือข้าราชการในกระทรวงต่าง ๆ ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เพียงทำให้นักศึกษาพิการได้รับโอกาสทางการศึกษา แต่ยังสร้างบัณฑิตให้เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างแท้จริง” รศ.เกศินี กล่าว