ธรรมศาสตร์ ผนึก USAID ส่งนักศึกษาฝึกงาน ภาคพลังงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
‘ธรรมศาสตร์’ จับมือ ‘USAID’ ลุยโครงการ ‘E4SEA’ เฟ้นหานักศึกษาเข้าฝึกงานบริษัทพลังงานชั้นนำ หนุน "สตรี-เพศทางเลือก
วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2565
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับโครงการ Enhancing Equality in Energy for Southeast Asia (E4SEA) ขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development: USAID) ที่มีจุดมุ่งหมายส่งเสริมและสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจภาคพลังงานซึ่งประกอบด้วยแรงงานและผู้บริหารเพศชายเป็นส่วนใหญ่
สำหรับโครงการดังกล่าว ธรรมศาสตร์ จะทำหน้าที่ในฐานะผู้ประสานงานระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับการฝึกงานในธุรกิจภาคพลังงาน (Regional Energy Internship Coordinator) ภายใต้โครงการ E4SEA โดยมีบริษัทที่ปรึกษา CORE International เป็นผู้ดำเนินการ โดยสนับสนุนให้ “สตรี” (women workforce) และเพศทางเลือก LGBTQI+ เข้าสู่การทำงานในภาคพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ จะมีการเปิดพื้นที่ Regional Energy Internship Program (ฝึกงาน) ระหว่างมหาวิทยาลัยในภาคี อันประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ ร่วมกับอุตสาหกรรมด้านพลังงาน ซึ่งถือเป็นแกนหลักในโครงสร้างพื้นฐานของทุกประเทศ ที่มี “ตลาดงาน” เติบโตอย่างรวดเร็ว และความต้องการแรงงานที่มีทักษะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเบื้องต้นจะดำเนินโครงการเป็นเวลา 3 ปี (ค.ศ.2020 –2023)
รศ.ดร.สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภาคพลังงาน นับเป็นหนึ่งในธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีปัญหาเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศค่อนข้างมาก ดังนั้นความร่วมมือระหว่าง ธรรมศาสตร์ และ E4SEA จึงคาดหวังที่จะเข้ามาช่วยให้อุตสาหกรรมพลังงานมีความเท่าเทียมทางเพศที่มากขึ้น ทั้งการสนับสนุนในส่วนสำคัญคือองค์ความรู้ และการเข้าไปทดลองฝึกงานในสถานที่ทำงานจริง
"มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งศูนย์ประสานการฝึกงานระดับภูมิภาค โดยเราจะรับสมัครนักศึกษาจากทุกมหาวิทยาลัยในอาเซียน เพื่อไปแลกเปลี่ยนกับบริษัทพลังงานชั้นนำ พร้อมให้ทุนทั้งค่ากิน ค่าอยู่ การเดินทางไปต่างประเทศ รวมทั้งที่พักให้กับนักศึกษา แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้แตกต่าง คือเราจะเน้นความเท่าเทียมทางเพศ และจะไม่มีการใช้อคติทางเพศมาเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์ของการพิจารณา" รศ.ดร.สุรัตน์ กล่าว
รศ.ดร.สุรัตน์ กล่าวว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกาเองนับว่ามีความจริงจังในเรื่องนี้ ซึ่งหากไปดูจากงานวิจัยหลายชิ้น เราจะพบงานศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างบริษัท ธุรกิจที่มีความคล้ายคลึงกัน แต่กลุ่มที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ จะมีผลประกอบการที่ดีมากกว่า เมื่อเทียบกับอีกกลุ่มที่ไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้
Steve Olive, Mission Director of USAID/RDMA เปิดเผยว่า ทิศทางของธุรกิจอุตสาหกรรมที่มุ่งไปสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือธุรกิจสีเขียวที่มีมากขึ้น มีการคาดการณ์ว่าภายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ตลาดของอุตสาหกรรมสีเขียวเหล่านี้จะสร้างโอกาสงานได้ถึงกว่า 20 ล้านตำแหน่ง และหนึ่งในนั้นคือธุรกิจภาคพลังงาน
อย่างไรก็ตาม ด้วยกำแพงของกรอบทัศนคติและวัฒนธรรมในเรื่องของบทบาททางเพศ ทำให้บ่อยครั้งที่เพศหญิงอาจเข้าไม่ถึงการทำงานในบริษัทธุรกิจพลังงาน ที่บริษัทอาจไม่ได้เปิดโอกาสงานให้กับเพศต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายและครอบคลุมเพียงพอ ทั้งที่กลุ่มคนเหล่านี้ก็มีศักยภาพและความสนใจในงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ไม่ต่างจากเพศชาย
Steve กล่าวว่า ดังนั้นงานที่ E4SEA กำลังทำนี้ จะช่วยพัฒนาและเสริมสร้างความเท่าเทียมทางเพศในภาคพลังงาน ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสนับสนุนธุรกิจพลังงานสีเขียวที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังจะเพิ่มโอกาสทางอาชีพ รายได้ สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับคนทุกเพศอย่างเท่าเทียม อันเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการสร้างความมั่นคงภายในภูมิภาคนี้ ที่ USAID ให้ความสำคัญ
"โครงการ E4SEA จะเชื่อมโยงบริษัทธุรกิจพลังงาน กับสถาบันการศึกษาชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสงานในธุรกิจพลังงานสะอาดได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น อันจะส่งผลลัพธ์สู่การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ เพิ่มความแข็งแกร่งทางธุรกิจ มีนวัตกรรมและประสิทธิผลของงานที่มากขึ้น ลดอัตราการลาออกของพนักงาน และจะเป็นหัวใจสำคัญในการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศต่อไป" Steve กล่าว
ด้าน Lois Varrick ผู้รับผิดชอบโครงการ E4SEA จาก CORE International กล่าวว่า จากการทำการสำรวจเชิงลึกในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ได้พบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่นั้นแม้จะมีความตระหนักในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีความสนใจอย่างมากกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด แต่พวกเขากลับยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโอกาสการทำงาน ที่มีอยู่ในภาคธุรกิจพลังงานมากนัก
"โครงการนี้จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่าง เพิ่มความเท่าเทียมทางเพศ เปิดโอกาสการทำงานในภาคธุรกิจพลังงานที่ครอบคลุมทุกคน ซึ่งขณะนี้เรามีแล้ว 2 บริษัทพลังงานชั้นนำ ที่สนใจและเข้ามาร่วมมือ พร้อมที่จะรับนักศึกษาฝึกงานเหล่านี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน และ ธรรมศาสตร์ก็จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม" Lois กล่าว