Loading...

ธรรมศาสตร์ จับมือ DITP และ SME D Bank ส่งเสริมแหล่งทุน-พัฒนาผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดสากล

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรมการค้าระหว่างประเทศ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจฯ เสริมศักยภาพการค้าระหว่างประเทศแก่ผู้ประกอบการ SMEs ไทย และเปิดโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน

วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2565

     หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.สายฝน สุเอียนทรเมธี คณบดีวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามความร่วมมือ “การส่งเสริมแหล่งทุนและศักยภาพทางการค้าระหว่างประเทศแก่ผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน” กับกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP) โดย คุณภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ คุณโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ณ ห้องประชุมโดม 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

     ความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อยกระดับการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย พร้อมทั้งขับเคลื่อนและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อส่งเสริมศักยภาพอย่างยั่งยืน รวมถึงสามารถผลักดันให้เกิดการดำเนินกิจการทั้งในรูปแบบของสินเชื่อหรือเงินร่วมลงทุน และการเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ประกอบการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ นำไปสู่การพัฒนากระบวนการทำงานและการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังร่วมกันสร้างสรรค์และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำคัญ เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนในต่างประเทศ

     สำหรับการดำเนินงาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ผศ.ดร.วสิศ ลิ้มประเสริฐ วิทยาลัยสหวิทยาการ และ ดร.ถิรภาพ ฟักทอง คณะเศรษฐศาสตร์ คัดเลือกผู้ประกอบการในประเทศไทย และแบ่งผู้ประกอบการออกเป็น 6 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มต้นแบบ คือ กลุ่มที่มีความพร้อมด้านทักษะ องค์ความรู้ การเงิน และประสบการณ์ส่งออก

2. กลุ่มเร่งผลักดันส่งออก คือ กลุ่มที่มีความพร้อมด้านทักษะ องค์ความรู้ การเงิน แต่ยังส่งออกไม่ได้

3. กลุ่มบูรณาการกิจกรรมมีศักยภาพ คือ กลุ่มที่มีความพร้อมด้านทักษะ องค์ความรู้ หรือด้านการเงิน และมีประสบการณ์ส่งออก

4. กลุ่มบูรณาการกิจกรรม คือ กลุ่มที่มีความพร้อมด้านทักษะ องค์ความรู้ หรือด้านการเงิน อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ยังส่งออกไม่ได้

5. กลุ่มรอสำรวจศักยภาพ คือ กลุ่มที่มีประสบการณ์ส่งอออก แต่ไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมกับ DITP หรือ SME D Bank

และ 6. กลุ่มรอสำรวจ คือ กลุ่มที่ไม่เคยส่งออก และไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมกับ DITP หรือ SME D Bank

     ความร่วมมือนี้ เน้นไปที่การผลักดันผู้ประกอบการกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มบูรณาการกิจกรรม ให้กลายเป็นกลุ่มที่ 2 กลุ่มเร่งผลักดันส่งออก โดยการเข้าร่วมกิจกรรมและรับบริการจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สนับสนุนการขยายช่องทางตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการ พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ที่มีศักยภาพซึ่งต้องการเงินทุน เพื่อก่อตั้ง ปรับปรุง หมุนเวียน พัฒนาธุรกิจหรือนวัตกรรมในกิจการให้มีศักยภาพและความพร้อมในการส่งออก จากนั้นจึงพัฒนาไปเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มที่ 1 กลุ่มต้นแบบ

     ทั้งนี้ คณะผู้บริหารทั้ง 3 หน่วยงาน ได้เยี่ยมชมบูธงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องแนวทางการบ่มเพาะผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทย บูธระบบ Trade Analytics For SMEs จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และบูธจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย