Loading...

“ทีมกายภาพบำบัด” เบื้องหลังความสำเร็จนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย By ศิษย์เก่า สหเวชฯ ธรรมศาสตร์

การแข่งขันโอลิมปิกที่โตเกียว 2020 ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ได้เป็นส่วนหนึ่งและได้มาบอกเล่าเรื่องราวของการเป็นนักกายภาพบำบัดประจำทีมเทควันโดทีมชาติไทย

วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2564

     กว่าจะคว้าเหรียญแห่งความสำเร็จได้เบื้องหลังของนักกีฬานั้น บางครั้งอาจจะต้องเผชิญอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

     “ทีมนักกายภาพบำบัด” คือ หนึ่งในผู้ดูแลร่างกายนักกีฬา เพื่อให้สามารถฝึกซ้อมในช่วงเก็บตัวก่อนการแข่งขันได้อย่างเต็มที่ คอยดูแลรักษาอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากการฝึกซ้อม ฟื้นฟูจากอาการบาดเจ็บ และทำงานร่วมกับผู้ดูแลนักกีฬาด้านอื่น ๆ เพื่อให้นักกีฬาพร้อมสำหรับการแข่งขันที่สุด

     สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกที่โตเกียวปี 2020 เหล่าศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ของเราก็ได้เป็นส่วนหนึ่งและได้มาบอกเล่าเรื่องราวของการเป็นนักกายภาพบำบัดประจำทีมเทควันโดทีมชาติ

     นนท์ - ศนนท์ จิวรากรานนท์ นักกายภาพประจำทีมเทควันโดทีมชาติไทย ศิษย์เก่าคณะสหเวชศาสตร์ สาขากายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เล่าให้ฟังถึงหน้าที่ของการเป็นนักกายภาพบำบัดในทีมเทควันโดทีมชาติไทยว่า เราจะให้การรักษาอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากการซ้อมในทุก ๆ วัน และออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูจากอาการบาดเจ็บ เพื่อให้นักกีฬาสามารถซ้อมในช่วงเก็บตัวได้อย่างเต็มที่ก่อนไปแข่งขันโอลิมปิก และทำงานร่วมกับทีมโค้ช ทีมแพทย์ นักจิตวิทยา นักโภชนาการ และนักวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่ออัปเดตอาการบาดเจ็บและความพร้อมของนักกีฬาและวางแผนการรักษาต่าง ๆ ด้วยครับ

     มีอยู่ช่วงนึงน้องเทนนิสเจ็บสะโพกจากการซ้อม และน้องกังวลว่าจะส่งผลต่อการซ้อมและการแข่งขันในอนาคต ซึ่งเราก็ต้องรักษา อธิบายคอย Support น้องว่ามันเกิดจากอะไร จะรักษาอะไรได้บ้างและจะส่งผลต่อการซ้อมยังไงบ้าง ส่วนน้องจูเนียร์ก็ลุ้นทุกวันว่าจะเจ็บอะไร เพราะถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากให้น้อง ๆ เจ็บอะไรเลย ในทุก ๆ วันที่เข้าไปหาน้อง ๆ ต้องเต็มที่ ต้องวิเคราะห์การบาดเจ็บให้ออก และออกแบบการรักษาให้ตรงจุด เพื่อให้น้องฟื้นตัวได้เร็วที่สุด และกลับไปซ้อมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเรามีทีมงานกันหลายคนด้วยครับ

     เจน - วิภาดา ทวีนิธิกร นักกายภาพประจำทีมเทควันโดทีมชาติไทย ศิษย์เก่าคณะสหเวชศาสตร์ สาขากายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าให้ฟังถึงหน้าที่ของนักกายภาพประจำทีมเทควันโดทีมชาติไทยอีกว่า เราต้องดูแลน้อง ๆ ทุกคนเลยค่ะ รักษา ฟื้นฟู และป้องกันการบาดเจ็บต่าง ๆ จากการฝึกซ้อมเพื่อการเตรียมร่างกายน้อง ๆ ให้พร้อมที่สุด สามารถใช้ศักยภาพที่มีได้มากที่สุด ทั้งนักกีฬาและคู่ซ้อม โดยเฉพาะน้องเทนนิสกับจูเนียร์ ที่ต้องสังเกตอาการทุกวัน เพื่อประเมินความรุนแรงของอาการ โดยเวลาที่ต้องเตะเข้าคู่กันก็จะเจ็บเยอะหน่อย คนละหลายที่เลยค่ะ

     หัวใจสำคัญในการทำงานตรงนี้สำหรับเจน คือ การทำความเข้าใจ ทั้งเราเข้าใจนักกีฬาและนักกีฬาก็ต้องเข้าใจอาการบาดเจ็บ กระบวนการซ่อมแซมต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อลดความกังวล สร้างความมั่นใจ ตระหนักถึงข้อห้ามข้อควรระวังต่าง ๆ และดูแลตัวเองได้ดีที่สุดค่ะ อีกอย่างที่สำคัญคือการทำงานร่วมกันของสหวิชาชีพ ทุกคนมีความเชี่ยวชาญที่ต่างกัน การให้ข้อมูลการปรึกษากันก็ทำให้น้องได้รับการดูแลที่ดีที่สุด

     เฟม - วรภาส จริยาวุฒิพงศ์ นักกายภาพประจำทีมเทควันโดทีมชาติไทย ศิษย์เก่าคณะสหเวชศาสตร์ สาขากายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงการทำงานในสายนักกายภาพบำบัดว่า งานกายภาพบำบัดเป็นงานที่สนุกและใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันรวมถึงการดูแลคนรอบข้าง เราไม่ได้มีบทบาทแค่ในทางการกีฬา แต่เรายังมีอีกหลายบทบาทในการเป็น health provider ไม่ว่าจะทางกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบประสาท งานกายภาพในเด็กและงานกายภาพทรวงอก

     “สำหรับตัวผม ผมมองว่างานกายภาพบำบัดมีอนาคตที่ดี เนื่องจากความต้องการบุคลากรทางด้านนี้ยังเป็นที่ต้องการอยู่ ผมอยากฝากถึงน้อง ๆ ที่สนใจอยากเรียนทางด้านนี้ว่า ลองมาดูงาน หรือเข้าร่วมกิจกรรม open house ของทางมหาวิทยาลัยดูก่อน ว่าเราจะชอบมันมั้ย ถ้าน้อง ๆ ชอบ พวกพี่คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยินดีต้อนรับกับน้อง ๆ ทุกคนครับ”

    และในการเก็บตัวครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นโค้งสุดท้ายที่ได้ดูแลนักกีฬาหลัก 2 คนที่ไปโอลิมปิกครับ คือ เทนนิส และจูเนียร์ ร่วมกับนักกีฬาคู่ฝึกซ้อมทุกคนจากการบาดเจ็บ ส่วนใหญ่งานจะเป็นการรักษาอาการบาดเจ็บ ร่วมกับการดูแลนักกีฬาในทุก ๆ ช่วงของการซ้อมทุกวัน