Loading...

“ธรรมศาสตร์โมเดล” โครงการเพื่อวิสาหกิจชุมชนไทย คว้ารางวัลระดับนานาชาติหนึ่งเดียวในอาเซียน

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งโครงการวิสาหกิจชุมชนคลองน้ำหูผ้าหมักน้ำนมข้าว ใน “ธรรมศาสตร์โมเดล” คว้ารางวัล Silver Award จาก Association of MBAs

วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 

     คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่ง “ธรรมศาสตร์โมเดล” คว้ารางวัล Silver Award ด้าน "Best Lifelong Learning Initiative 2021" จาก Association of MBAs (AMBA) องค์กรรับรองคุณภาพระดับสากลจากสหราชอาณาจักร สำหรับหลักสูตรบริหารธุรกิจระดับบัณฑิตศึกษา และ Business Graduates Association (BGA) องค์กรรับรองคุณภาพระดับสากลของ Business School จากสหราชอาณาจักร  

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันการศึกษาเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยและอาเซียนที่ติด 1 ใน 6 ของผู้ท้าชิงรอบสุดท้าย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ได้แสดงให้คณะกรรมการเห็นถึงการพลิกโฉมนวัตกรรมการเรียนการสอนที่แผ่ขยายประสิทธิผลไปมากกว่าเพียงแค่นักศึกษา แต่รวมไปถึงในระดับคณะ องค์กร และชุมชนภายนอก ช่วยส่งเสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่ชุมชน เพื่อยกระดับอาชีพและคุณภาพชีวิตภายใต้แนวคิดของ “ธรรมศาสตร์โมเดล” และสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้เราได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้ชนะรางวัล Best Lifelong Learning Initiative ประจำปี 2021

     ศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ส่งเสริมให้นักศึกษาและบัณฑิตนำความรู้ออกไปพัฒนา ขับเคลื่อนสังคมโลก หล่อเลี้ยงธุรกิจในทุกแขนง รวมไปถึงการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน เพื่อสร้าง Impact ให้กับสังคมโลกอย่างทั่วถึงและยั่งยืน ดังนั้นเราจึงได้จับมือกับธนาคารออมสิน และสมาคมเพื่อนชุมชน จังหวัดระยอง ร่วมกันสร้าง“ธรรมศาสตร์โมเดล” ขึ้นมาเพื่อเป็นแม่แบบและแนวทางในการยกระดับชีวิตของวิสาหกิจชุมชน โดยหัวใจสำคัญของโมเดลนี้คือการเรียนรู้ตลอดชีวิตและยั่งยืน แม้นักศึกษาจะจบโครงการไปแล้วชุมชนก็ยังต้องสามารถเลี้ยงตัวเองต่อไปได้ ปัจจุบัน เราได้ส่งนักศึกษาลงชุมชนมามากกว่า 170 โครงการ

     “ผมภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาธรรมศาสตร์เป็นคณะแรกและคณะเดียวในไทยและภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ Silver Award ด้าน "Best Lifelong Learning Initiative 2021" จาก Association of MBAs (AMBA) องค์กรรับรองคุณภาพระดับสากลจากสหราชอาณาจักร สำหรับหลักสูตรบริหารธุรกิจระดับบัณฑิตศึกษา และ Business Graduates Association (BGA) องค์กรรับรองคุณภาพระดับสากลจากสหราชอาณาจักร ซึ่งเราได้รับการคัดเลือก ได้แสดงให้เห็นถึงการพลิกโฉมนวัตกรรมการเรียนการสอนที่แผ่ขยายประสิทธิผลไปมากกว่าเพียงแค่นักศึกษา แต่รวมไปถึงในระดับคณะ องค์กร และชุมชนภายนอกอีกด้วย” คณบดี กล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่า

     ตัว “ธรรมศาสตร์โมเดล” มีหัวใจหลัก 3 อย่าง ด้วยกัน หากปราศจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งใน 3 สิ่งนี้ ก็จะทำให้การพัฒนาชุมชนสะดุด ไม่ราบรื่น ธรรมศาสตร์โมเดล เป็นหนึ่งในวิชาของโครงการ IBMP หรือหลักสูตร 5 ปี เราจะให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ที่มีความรู้ทักษะทางด้านธุรกิจและการบัญชีในระดับหนึ่งแล้วไปลงชุมชน โดยมีคณาจารย์เป็นที่ปรึกษาโครงการ ส่วนนี้เองคือหัวใจส่วนแรก หรือก็คือทักษะความรู้จากนักศึกษาคณะพาณิชย์ นักศึกษาจะได้นำความรู้ในห้องเรียนไปประยุกต์ใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง ลงมือแก้ปัญหาจริง โดยมีชุมชนเป็นโจทย์ที่ท้าทายของพวกเขา  

     หัวใจที่สองก็คือชุมชน หรือ ภูมิปัญญาท้องถิ่น กล่าวคือทักษะและความชำนาญในด้านอาชีพ ตัวชุมชนเองก็ต้องมีทักษะเชิงปฏิบัติที่พร้อมและทันสมัย ที่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างประสบผลสำเร็จเช่นกัน

     และส่วนสุดท้าย ภาคอุตสาหกรรม คือการที่องค์กรภาคอุตสาหกรรมที่เป็นพันธมิตรกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จะได้นำความชำนาญและประสบการณ์ตรงในสายงานมาเผยแพร่และพัฒนาอาชีพให้กับชุมชน

     “โครงการที่เราส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัลคือ วิสาหกิจชุมชนคลองน้ำหู ผ้าหมักน้ำนมข้าว จ.ระยอง โดยสินค้าของชุมชนเริ่มต้นจากผ้าไทยหมักน้ำนมข้าว และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ในระยะเวลา 6 เดือนที่นักศึกษาได้ลงชุมชน นักศึกษาได้ทำการวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ การตลาด ด้านบัญชีและช่องทางการจัดจำหน่าย นักศึกษาได้เข้าไปสร้างแบรนด์และแตกไลน์ผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยและกระเป๋าผ้าที่มีดีไซน์ที่ทันสมัยขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าที่อายุน้อยลง รวมถึงสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายทางออนไลน์ และสอนชุมชนให้คำนวณต้นทุนและวางระบบบัญชี ที่น่าชื่นชมมาก ๆ ก็คือ ชุมชนได้มีการส่งหน้ากากผ้าไปขายที่เยอรมนี และฝรั่งเศส โดยถือว่าเป็นครั้งแรกของชุมชนที่มีการส่งออกสินค้าไปขายยังต่างประเทศ” คณบดี กล่าว

     ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนคลองน้ำหู ผ้าหมักน้ำนมข้าว อําเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีปณิธานที่จะสืบสานและสร้างมูลค่าให้แก่ผ้าไทย นำไปสู่การคิดค้นกระบวนการหมักผ้าด้วยน้ำนมข้าวขึ้น ทำให้ผ้าที่ผ่านกระบวนการหมักนั้นมีความนุ่มลื่นเป็นพิเศษ และมีกลิ่นหอมของน้ำนมข้าว ตอบโจทย์วิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันที่นิยมสวมใส่เสื้อผ้าที่เบาสบาย เนื้อผ้าเหมาะกับสภาพอากาศในประเทศไทย ใส่ได้ทุกเพศทุกวัย รวมถึงผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายและผู้ป่วยติดเตียง ภายใต้แบรนด์ Sansenfay โดย สานเส้นฝ้าย