Loading...

SDGs จะบรรลุได้ต้องมี “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ผลึกคิดจากเวทีเสวนาวันปรีดี พนมยงค์ ปี 2565

วงเสวนาวิชาการวันปรีดี พนมยงค์ ปี 2565 เห็นพ้อง ประเทศไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ จำเป็นต้องมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ก่อน เพราะประชาธิปไตยเป็นแพลตฟอร์มเดียวทางการเมืองที่เปิดให้คนทุกกลุ่มมีโอกาสมาร่วม

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2565

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดกิจกรรม “วันปรีดี พนมยงค์ ปี 2565” ขึ้น เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2565 เพื่อร่วมรำลึกถึงคุณูปการของ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยมาสู่ระบอบประชาธิปไตย และยังเป็นผู้วางอิฐก้อนแรกเกี่ยวกับรากฐานการศึกษาด้านการเมืองการปกครอง ด้วยการก่อตั้งและประศาสน์การ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง” ในปี 2477

     สำหรับกิจกรรมในช่วงเช้า จัดขึ้น ณ ลานปรีดี พนมยงค์ หน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ประกอบด้วยพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศล ศ.ดร.ปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ พิธีมอบโล่รางวัล “ปรีดี พนมยงค์” ประจำปี 2565 แก่นักศึกษาดีเด่น พิธีมอบรางวัลทุนการศึกษา “ทุนปาล พนมยงค์” ประจำปี 2565 พิธีวางพานพุ่มอนุสาวรีย์

     ถัดจากนั้นมีการจัดงานเสวนา PRIDI Talks ครั้งที่ 15 “มุมมอง SDGs เพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยสมบูรณ์” ในวาระ 122 ปี ชาตกาล ศ.ดร.ปรีดี โดยมีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองใน 4 ประเด็น ได้แก่   1. ภาพรวมของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 2. นโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจ 3. การพัฒนาการศึกษา และ 4. เรื่องกฎหมายไทยในปัจจุบัน

     ผศ.ชล บุนนาค อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) เปิดเผยว่า เป้าหมายการพัฒนาแบบยั่งยืนเป็นเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่องค์การสหประชาชาติ (UN) เสนอขึ้นมาและประเทศสมาชิกทุกประเทศรวมถึงประเทศไทยได้รับรองเมื่อปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเป้าหมายจะมีอายุ 15 ปี โดยความสำคัญของ SDGs อยู่ที่การเป็นบรรทัดฐานการพัฒนาของโลก กล่าวคือ เป็นเป้าหมายที่บอกว่าการพัฒนาของแต่ละประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ดีหรือไม่ดี

     “SDGs จะบรรลุได้ต้องมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เพราะว่า ปัญหาที่อยู่ใต้ SDGs มีความซับซ้อน ไม่มีใครแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ทั้งหมด ต้องมีการร่วมมือกันทุกภาคส่วน รวมถึงประชาธิปไตยน่าจะเป็นแพลตฟอร์มเดียวทางการเมืองที่เปิดให้คนทุกกลุ่มมีโอกาสมาร่วมให้ความเห็นและขับเคลื่อนสังคมร่วมกัน     ซึ่งถ้าทำได้แบบนี้ SDGs ก็มีส่วนช่วยในการพัฒนาประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เช่นกัน” ผศ.ชล ระบุ

     นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจในไทยขณะนี้มีจุดร่วมกันกับแนวคิดของอาจารย์ปรีดี ที่ต้องการต่อต้านการผูกขาด ต้องการค่าจ้างที่เป็นธรรม ฯลฯ ซึ่งสอดคล้องในหลายเรื่องของ SDGs ด้วยเช่นกัน

     อย่างไรก็ดี การจะบรรลุเป้าหมายในการมีประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจนั้น คือการที่ประชาชนส่วนใหญ่มีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าต้องมีประชาธิปไตยในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ทางการเมือง ทัศนคติ ฯลฯ

     นอกจากนี้ การใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) เป็นเกณฑ์ในปัจจุบัน จริง ๆ ไม่ได้สะท้อนว่าคนส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร แต่ต้องไปดูที่รายได้ของคนส่วนใหญ่จริง ๆ ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง เหล่านี้สะท้อนว่าการจะทำให้เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจได้จริงต้องดูเรื่องกระบวนการในกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจด้วย

     นายพริษฐ์ วัชรสินธุ CEO StartDee กล่าวว่า ประเด็นด้านการศึกษาเป็นประเด็นที่สำคัญทั้งสำหรับ SDGs ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ 4 จากเป้าหมายทั้งหมด 17 ข้อ และความคิดของอาจารย์ปรีดีที่มองว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ อันสะท้อนผ่านการเป็นหนึ่งในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รวมถึงจุดที่ร่วมกันอีกอย่างหนึ่งคือการไม่ได้มองว่าการศึกษาเป็นเป้าหมายในตัวเอง แต่เป็นกลไกที่สำคัญในการพัฒนาประเทศในเรื่องอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

     “การศึกษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศใน 3 ทิศทางหลัก 1. การทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต คือ ถ้าเรามีการศึกษาที่มีคุณภาพ ก็จะทำให้ประชาชนมีทักษะที่จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2. การจัดสรรอย่างเป็นธรรม คือ การลดความเหลื่อมล้ำที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นโดยให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้   3. การมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ คือ การปลูกฝังค่านิยมทางประชาธิปไตยให้กับเด็ก” นายพริษฐ์ กล่าว

     นายเอกชัย ไชยนุวัติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ความไม่สมบูรณ์ในระบอบประชาธิปไตยคือความสวยงามในระบอบประชาธิปไตย และความสวยงามในระบอบประชาธิปไตยคือการมีมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์อยู่ ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ คือ ทุกคนสามารถแสดงออกได้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไรได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีการตรวจสอบอยู่ตลอดเวลาถึงความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ในการตัดสินใจ

     ทั้งนี้ SDGs ได้ระบุไว้ในเอกสารว่า ทุกคนต้องอย่า Pick and Choose แต่ต้องมี 1. การบูรณาการ (Integrated) 2. แบ่งแยกไม่ได้ (Indivisible) 3. ต้องมีความสมดุล (Balance) รวมถึงคำนึงถึง 3P ที่เป็นประโยคแรกในคำนำของเอกสาร คือ ประชาชน (People) ธรรมชาติ (Planet) ความเจริญรุ่งเรือง (Prosperity)

     “ต้องพยายามตั้งหลักเรื่อง SDGs ให้ถูก คือเราไม่สามารถมี SDGs ได้ ถ้าเราไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ รวมถึงต้องมีความเป็นธรรมด้วย” นายเอกชัย ระบุ