Loading...

ตอกย้ำความสำเร็จ ‘นวัตกรรม-วิชาการ’ คว้า 18 รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ปี 2562

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี 2562 สูงสุด 18 รางวัล เดินหน้ายกระดับการศึกษาและทุนสนับสนุน เชื่อมโยงมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างประเทศ

วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562

   

          สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มอบรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปีนี้ จำนวน 17 ท่าน ซึ่งมีผลงานโดดเด่นทั้งในด้านวิชาการและประเทศชาติ ในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

          รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมให้ล้ำหน้าตอบโจทย์การพัฒนาทั้งในด้านสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ และอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง มุ่งนำผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ส่งเสริมบูรณาการบุคลากร คณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ โดยร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภาคเอกชน และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

          “การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติมากถึง 19 รางวัลในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพทางวิชาการ ความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกภาคส่วน ทั้งเรื่ององค์ความรู้และทุนสนับสนุน โดยงานวิจัยทั้งหมดเป็นผลงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ” รศ.เกศินี กล่าว

          ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ทันตแพทย์หญิง ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า นโยบายขับเคลื่อนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งเน้นกระบวนการที่มีคุณภาพและมาตรฐานตั้งแต่ระดับต้นน้ำคือบุคลากร ห้องปฏิบัติการ เครื่องมือที่ทันสมัย ฯลฯ และปลายน้ำ คือสนับสนุนให้บทความวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ

          “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเป้าหมายความสำเร็จ คือสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง พร้อมส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ ภายใต้แนวทางที่ท้าทายในการเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์และสังคม เพื่อให้งานวิจัยของเราเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริง” ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ กล่าว

          สำหรับปีนี้ นักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล สาขานิติศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา สาขาเศรษฐศาสตร์ และศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ สาขาสังคมวิทยา

          ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล คณะนิติศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่น สาขานิติศาสตร์ กล่าวว่า ผลงานวิจัยที่ศึกษาส่วนใหญ่เป็นงานด้านกฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะเกี่ยวกับบทบัญญัติของกฎหมายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น รวมทั้งการนำเสนอบทบัญญัติของกฎหมายที่ควรแก้ไขก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย และแนวทางในการปฏิบัติที่เป็นสากล โดยคำนึงถึงบริบททางสังคมของประเทศไทยเพื่อให้การอยู่ร่วมกันภายใต้กรอบของกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยผลงานที่โดดเด่น คืองานวิจัยของสำนักงานอัยการสูงสุดเรื่องความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล โดยได้ศึกษาตัวอย่างใน 10 ประเทศอาเซียน ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2561 ให้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายตามข้อเสนอของงานวิจัยชุดนี้ รวมถึงผลงานวิจัยเรื่องการบันทึกภาพและเสียงในห้องพิจารณาความอาญา ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมนำไปทดลองปฏิบัติแล้ว

          ศาสตราจารย์ ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา คณะเศรษฐศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ผลงานวิจัยที่ได้ศึกษา ล้วนเป็นผลงานวิจัยพื้นฐานและวิจัยเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับมาตรการทางเศรษฐกิจที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ต้องแข่งขันกันโดยใช้ทักษะความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น และมีการบริหารจัดการให้เกิดระบบการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมและเหมาะสมสำหรับประชาชนทั่วไป อีกทั้งยังสร้างงานวิจัยที่เกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาสังคมใน 4 มิติ ได้แก่ 1) มิติด้านการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากนโยบาย Thailand 4.0 2) มิติของทิศทางการพัฒนาเชิงนโยบายการเงินและการคลังเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในอนาคต 3) มิติในส่วนของพัฒนาการของปัจจัยสถาบันหลัก ๆ ในสังคมที่มีผลต่อการบริหารจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำในระยะยาว และ 4) มิติเกี่ยวกับผลกระทบภายนอกต่อคนยากจนในสังคม

          ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา เปิดเผยว่า รางวัลนี้ถือเป็นกำลังใจสำหรับการทำงานที่นอกเหนือจากผลงานที่งอกเงยเป็นประโยชน์ในทางวิชาการ โดยได้ศึกษางานวิจัยในหลายด้าน ทั้งด้านมานุษยวิทยาพันธุ์ศาสตร์ ชาติพันธุ์ศึกษา และมานุษยวิทยาศิลปะ ประวัติศาสตร์ศิลปะ โดยงานวิจัยในระยะแรกส่วนใหญ่เป็นการศึกษาวิวัฒนาการของความผิดปกติทางพันธุกรรมของเม็ดเลือดแดง ประเภทที่พบบ่อยในประชากรพื้นเมืองของเอเชียอาคเนย์ และนำไปสู่การสืบประวัติการตั้งถิ่นฐานและแพร่กระจายของผู้คนในภูมิภาคดังกล่าว ผ่านการวิเคราะห์หลักฐานทาง DNA งานวิจัยที่ได้ศึกษาค้นคว้านั้น มักเป็นการเปิดพื้นที่ค้นคว้าใหม่ ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งทางด้านวิชาการและทางความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ

          นอกจากนี้ นักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้รับรางวัลประเภทต่าง ๆ ได้แก่ รางวัลผลงานวิจัย จำนวน 5 รางวัล รางวัลวิทยานิพนธ์ จำนวน 4 รางวัล และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จำนวน 6 รางวัล ทั้งนี้ ในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562 ยังมีการแสดงนิทรรศการผลงานรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาทิ อาษาเฟรมเวิร์ค, อุปกรณ์ IWalk ช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง, อุปกรณ์วัดการหายใจและนำช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน และเครื่องวัดการต้านอนุมูลอิสระ ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงาน นักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นจำนวนมาก

รางวัลผลงานวิจัย จำนวน 4 รางวัล ได้แก่

1. ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ รางวัลระดับดีมาก ผลงานวิจัยเรื่อง “จิตรกรรมพุทธศาสนา สมัยพุกาม : รูปแบบและความหมายของศิลปะแห่งศรัทธา”

2. ศาสตราจารย์ ดร.วิมลสิทธิ์ หรยางกูร และคณะ รางวัลระดับดีมาก ผลงานวิจัยเรื่อง “การสร้างสรรค์เอกลักษณ์สถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่”

3. ศาสตราจารย์ ดร.เกศรา ณ บางช้าง และคณะ รางวัลระดับดี ผลงานวิจัยเรื่อง “โครงการวิจัย เพื่อพัฒนายาต้านมะเร็งท่อน้ำดีจากโกฐเขมาในระยะก่อนคลินิกเพื่อนําไปสู่การวิจัยทางคลินิก”

4. ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต และคณะ รางวัลระดับดี ผลงานวิจัยเรื่อง “การทุจริต เชิงนโยบาย : มาตรการในทางกฎหมายเพื่อควบคุมและป้องกันปัญหาการทุจริตเชิงนโยบายในประเทศไทย”

 

รางวัลผลงานวิจัย (อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นนักวิจัยร่วม) 1 รางวัล ได้แก่

1. ศาสตราจารย์ ดร.จงรักษ์ ผลประเสริฐ และ ดร.วรุณศักดิ์ เลี่ยมแหลม รางวัลระดับดี ผลงานวิจัยเรื่อง “การป้องกันผลกระทบจากสารอันตรายตกค้างของโลจิสติกส์สินค้าเกษตรและอาหารจากการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) : ระบบเฝ้าระวังและตรวจสอบย้อนกลับยาสัตว์ตกค้างและวัตถุเจือปนอาหารในสินค้ากลุ่มสัตว์น้ำ กลุ่มปศุสัตว์ และผลิตภัณฑ์”

 

รางวัลวิทยานิพนธ์ จำนวน 4 รางวัล ได้แก่

1. ดร.ประพิมพ์ฝัน เชียงกูล รางวัลระดับดีมาก วิทยานิพนธ์เรื่อง “การครองอำนาจนําและ การต่อต้าน การครองอํานาจนําในระบบเกษตรกรรมและอาหารในประเทศไทย (1990-2014)”

2. ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์ รางวัลระดับดี วิทยานิพนธ์เรื่อง “วัตถุมงคลทางดนตรีไทยในสังคมไทย ร่วมสมัย : การสร้างความหมายและบทบาท”

3. ดร.ธนาธร ทะนานทอง รางวัลระดับดี วิทยานิพนธ์เรื่อง “กรอบพัฒนาระบบเฝ้าระวังและติดตาม ผู้ป่วยโรคหัวใจแบบต่อเนื่องในชีวิตประจําวันผ่านเครือข่ายเซ็นเซอร์ร่างกายแบบไร้สาย”

4. ดร.กาญจณี พันธุ์ไพโรจน์ รางวัลระดับดี วิทยานิพนธ์เรื่อง “การพัฒนาโปรแกรมการเปิดรับ ประสบการณ์เพื่อเสริมสร้างความฉลาดทางวัฒนธรรมของนักศึกษาพยาบาล : การวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้าง แบบส่งผ่านพหุระดับ”

 

รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จำนวน 4 รางวัล ได้แก่

1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาษา ตั้งจิตสมคิด รางวัลระดับดีมาก ผลงานประดิษฐ์คิดค้นเรื่อง “อาษาเฟรมเวิร์ค”

2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ และคณะ รางวัลระดับดี ผลงานประดิษฐ์ คิดค้นเรื่อง “อุปกรณ์ช่วยฝึกเดินสําหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง : IWalk”

3. อาจารย์สุภาวดี ทับกล่ำ รางวัลระดับดี ผลงานประดิษฐ์คิดค้นเรื่อง “อุปกรณ์วัดการหายใจและ นําช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน”

4. รองศาสตราจารย์ ดร.นภาพร ยังวิเศษ และคณะ รางวัลประกาศเกียรติคุณ ผลงานประดิษฐ์ คิดค้นเรื่อง “เครื่องวัดการต้านอนุมูลอิสระ 3 วิธีพร้อมกัน”

 

รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น (อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นร่วม) 2 รางวัล ได้แก่

1. รองศาสตราจารย์ ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต รางวัลระดับดีมาก ผลงานประดิษฐ์คิดค้นเรื่อง “กล้องจุลทรรศน์สมาร์ตโฟน : ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่บนสมาร์ตโฟน”

2. ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช รางวัลระดับดี ผลงานประดิษฐ์คิดค้นเรื่อง “ชุดสาธิตกังหันลมแบบไฮบริดขนาดเล็กสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า และเทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพด้วยวงแหวนแม่เหล็กถาวร”