Loading...

วิทยาลัยโลกคดีศึกษา ธรรมศาสตร์ จับมือ 4 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ดำเนินโครงการ “พลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน”

 

วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 4 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมดำเนินโครงการ “พลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” ตามแนวปฏิบัติการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2564

     หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน หรือแม้แต่ธุรกิจเอกชน ล้วนตระหนักถึงความ จำเป็นที่ต้องยึดหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ละประเทศต่างมีพันธกิจในการทำให้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อ (Sustainable Development Goal – SDG) ขององค์การสหประชาชาติที่ประกาศในปี พ.ศ. 2558 บรรลุภายในปี พ.ศ. 2573

     อย่างไรก็ตาม ผู้แทนองค์กรระดับโลกอย่าง UNDP และผู้เชี่ยวชาญขององค์การสากลต่าง ๆ แสดง ความเห็นว่า “ยังไม่พบรูปธรรมการนำแนวคิด แนวปฏิบัติว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไปประยุกต์ในระดับรากหญ้าหรือชุมชนในประเทศไทย มีเพียงนักวิชาการ ผู้บริหารหน่วยราชการ และผู้บริหาร องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้นที่กล่าวถึงเรื่องSDGs”

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย วิทยาลัยโลกคดีศึกษา และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงได้ร่วมมือกันดำเนิน โครงการภูมิชุมชนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 - 2563 ใน 4 ภูมิภาค เพื่อพัฒนาชุมชนต้นแบบให้สามารถพึ่งตนเอง และสร้างเครือข่ายชุมชนช่วยเหลือกันและกัน ปรากฏผลลัพธ์การดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ป่า ดิน เพื่อให้อุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน การแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร ข้าวและผักอินทรีย์ สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์และหัวพันธุ์พืชสมุนไพรได้เอง ด้วยพลังชุมชนเชิงบวกเป็นที่น่าพอใจ รวมทั้งยังทดลองทำเรื่องการบูรณาการพลังหมอพื้นบ้าน แพทย์แผนไทย และแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อแก้ไขปัญหาผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้สูงอายุ

     ทั้ง ธรรมศาสตร์ และ กฟผ. เห็นพ้องกันว่า สมควรขยายผลจากพื้นที่ต้นแบบไปยังชุมชนอื่น ๆ ตลอดจนขยาย ผลชุดความรู้ที่ได้จากการดำเนินงานที่ผ่านมาไปยังบุคลากรของหน่วยงานทุกประเภทที่ส่งเสริมให้ชุมชน สามารถแก้ไขปัญหาของตนเองอย่างยั่งยืน อีกทั้งนิสิต นักศึกษาที่สนใจงานด้านนี้ และเพื่อเป็นการเสริมพลัง ของทีมให้แข็งแกร่งขึ้น ทั้งสององค์กรจึงได้เชิญ สมาคมพัฒนาศักยภาพและอัจฉริยภาพมนุษย์ (สพศอ.) และสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เข้ามาร่วมเป็นองค์กรภาคี ดำเนินงาน “โครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” ด้วย โดย สพศอ. จะมาเสริมเรื่อง การพัฒนาเยาวชนและผู้นำชุมชนให้มีความคิดสร้างสรรค์ จนสามารถพัฒนาหรือใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ ในขณะที่ ISMED จะสนับสนุน ด้านการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน การเชื่อมโยงผลผลิตชุมชนกับผู้ประกอบการธุรกิจ

     โดยภาคีทั้ง 4 จะร่วมกันดำเนินงาน ส่งเสริม สนับสนุนให้ชุมชนมีพลังอำนาจในการจัดการ ปัญหาต่าง ๆ ของตนเอง และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมิหวังพึ่งพาความช่วยเหลือแต่ฝ่ายเดียว พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก สามารถใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และ/หรือเทคโนโลยี นวัตกรรม เกิดเป็นต้นแบบที่บรรลุผลตามตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

     โครงการนี้ มุ่งหวังตอบโจทย์เป้าหมาย SDGs ได้ไม่ต่ำกว่า 10 ข้อ (ประเด็น) ได้แก่ การขจัดความ ยากจนรุนแรงในชุมชน (เป้าหมายที่ 1) การยุติความหิวโหย สร้างความมั่นคงทางอาหาร และส่งเสริม เกษตรกรรมยั่งยืน (เป้าหมายที่ 2) การสร้างเสริมสุขภาพ และสวัสดิภาพให้คนในชุมชน (เป้าหมายที่ 3) ส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองตลอดชีวิต (เป้าหมายที่ 4) ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มบทบาทให้ผู้หญิงและเยาวชน (เป้าหมายที่ 5) บริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 6) ส่งเสริมการเข้าถึงพลังงานทดแทนและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (เป้าหมายที่ 7) ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 8) ลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาคในสังคม (เป้าหมายที่ 10) ส่งเสริมรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 12) ดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศและผลกระทบ (เป้าหมายที่ 13) อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน (เป้าหมายที่ 14) ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน (เป้าหมายที่ 15) และสร้างความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 17)

     พื้นที่ดำเนินงานของโครงการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีชุมชนเป้าหมายใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ในเขตตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น และตำบลนาดี อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี ในภาคตะวันออก มีชุมชนเป้าหมายรอบโรงไฟฟ้าบางปะกง ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และในภาคใต้ มีชุมชนใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง และมีพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์กับ กฟผ. ในเขตตำบลสะพานไม้แก่น อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตำบลควนโดน และตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล นอกจากนี้ ยังมีชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง หน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาโดยรอบพื้นที่ในภาคต่าง ๆ เข้ามาเป็นเครือข่ายการทำงานพัฒนาร่วมกันด้วย

     ในส่วนของประเด็นการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ นอกเหนือจากจะยังคงสืบทอดประเด็นเดิมแล้ว จะ เพิ่มเติมเรื่อง การท่องเที่ยวชุมชน การยกระดับมาตรฐานการผลิต การแปรรูป การตลาด การพัฒนาวิสาหกิจ ชุมชน การสร้างผู้นำเดิมและผู้นำใหม่ทุกเพศวัยให้เป็นนักวิจัยชุมชน วิทยากรท้องถิ่น นักพัฒนา นวัตกร ท้องถิ่น และนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนา พัฒนาระบบ/กลไกการป้องกัน รักษา ดูแลสุขภาพ ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ส่งเสริมให้ใช้พลังงานทดแทนในชุมชน พร้อมทั้งสนับสนุนให้ชุมชนเผยแพร่ความรู้แก่ชุมชนอื่น ๆ เป็นแหล่งเรียนรู้/ศูนย์ฝึกอบรม เป็นพื้นที่ฝึกปฏิบัติงานให้แก่นิสิต นักศึกษา นักพัฒนา หรือเจ้าหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ หรือนัก CSR ทั้งจากในและต่างประเทศ

     โครงการฯ ตั้งความหวังว่า ภายในปี พ.ศ. 2566 จะมีตัวอย่างชุมชนชนบท ที่ประกอบด้วยสมาชิกที่มี ความรู้ วิถีชีวิต สร้างกติกาชุมชน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นตัวอย่างให้กับทุกภาคส่วน อย่างแท้จริง คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมอย่างชัดเจน อีกทั้งร่วมมือกับหน่วยงานพัฒนาต่าง ๆ รวมทั้ง หน่วยงานที่ใช้นักพัฒนาชุมชนสร้างมาตรฐานการทำงานกับชุมชน เพื่อให้สังคมไทยมีคนทำงานอย่างมืออาชีพ กับชุมชนมากขึ้น สร้างผลกระทบเชิงบวกได้ดีขึ้น