Loading...

‘โถปัสสาวะชายเคลื่อนที่ แบบจำกัดกลิ่น’ นวัตกรรมโดยอาจารย์พยาบาล มธ. ลดปัญหาการปัสสาวะในผู้ป่วยจิตเวช

เพราะสุขอนามัยนั้นสำคัญ เรื่องการเข้าห้องน้ำจึงไม่ควรมองข้าม อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ คิดค้นนวัตกรรม เพื่อลดปัญหาผู้ป่วยจิตเวชชายในการปัสสาวะ

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ.2565

     นอกจากการดูแลผู้ป่วยแล้ว ‘พยาบาล’ ที่สามารถมองเห็นปัญหาของผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิดนั้น ต้องเข้าใจ เรียนรู้ และหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งปัญหานั้นหมายรวมถึงเรื่องที่บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่กับผู้ป่วยแล้วหากปัญหานั้นได้รับการแก้ไขจะทำให้คุณภาพการใช้ชีวิตของเขาดีขึ้น รวมถึงเป็นการลดภาระของพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ที่ดูแลได้อีกด้วย

     การเข้าห้องน้ำ นับว่าเป็นอีกเรื่องที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้น้อย จึงทำให้ อาจารย์พิสิฐ รุ่งโรจน์วัฒนศิริ อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คิดค้นนวัตกรรม ‘โถปัสสาวะชายเคลื่อนที่ (mobile urinal) แบบจำกัดกลิ่น’ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อแก้ไขปัญหาการปัสสาวะของผู้ป่วยจิตเวชชายที่ในบางครั้งไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

 

     อาจารย์พิสิฐ เล่าถึงที่มาของนวัตกรรมดังกล่าวว่า มาจากประสบการณ์ที่พบโดยตรงตอนเป็นพยาบาลอยู่โรงพยาบาลจิตเวช ทำให้เห็นปัญหาการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต ซึ่งการควบคุมเรื่องการดื่มน้ำหรือการขับถ่ายจะต้องมีการดูแลเฉพาะ โดยการพาผู้ป่วยอยู่ในห้องจำกัดพฤติกรรม ที่ผู้ป่วยอาจมีการกินน้ำเยอะบ้าง ทำให้มีการขับถ่ายที่อาจดูแลตัวเองได้ไม่ดีในช่วงที่มีอาการ

     “สำหรับคนไข้ผู้ชายนั้นไม่มีโถ หรืออุปกรณ์ที่จะรองรับปัสสาวะของผู้ป่วยได้โดยตรง มีเพียงส้วมเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นส้วมที่อุจจาระได้ด้วยแต่ว่าพอมาใช้ปัสสาวะ อาจทำให้เกิดการเลอะ การหก จึงมองว่าถ้าเรามีโถปัสสาวะ สามารถเคลื่อนที่ได้ ไม่จำเป็นจะต้องติดตั้งเพิ่ม” อาจารย์พิสิฐ กล่าว

     โถปัสสาวะชายเคลื่อนที่ (mobile urinal) แบบจำกัดกลิ่น จึงเป็นนวัตกรรมที่ต้องการนำมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเวชชาย อีกทั้งช่วยลดภาระงานของพยาบาลและเจ้าหน้าที่ของสถาบันหรือโรงพยาบาลจิตเวช  โดยนวัตกรรมนี้ได้รับการออกแบบให้การเคลื่อนย้ายได้สะดวกสำหรับการนำไปทำความสะอาดและลดจำนวนครั้งในการกำจัดสิ่งสกปรกที่เกิดขึ้นจากการขับถ่ายของผู้ป่วย

     นวัตกรรมนี้เป็นการออกแบบร่วมกันของนักวิจัยหลายฝ่ายทั้งคณาจารย์จากในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจากภายนอก โดยมีหัวหน้าโครงการคือ พิสิฐ รุ่งโรจน์วัฒนศิริ อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ และผู้วิจัยร่วมได้แก่

  1) ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์

  2) ดร.กาญจณี พันธุ์ไพโรจน์ นักวิจัย คณะพยาบาลศาสตร์

  3) ผศ.ทิพย์สุดา สำเนียงเสนาะ อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์

  และ 4) พว.วีระ เนริกูล พยาบาลวิชาชีพ สถาบันจิตเวชศาสตร์ สมเด็จเจ้าพระยา

     ทีมงานทุกภาคส่วนได้ร่วมกันคิดและออกแบบว่าจะทำอย่างไรให้โถปัสสาวะ สามารถรองรับปริมาณปัสสาวะได้เยอะ ดับกลิ่นได้ และสะดวกต่อการใช้งานในผู้ป่วยจิตเวช กล่าวคือคนไข้ห้องหอผู้ป่วยหนึ่ง ประมาณ 10 – 20 คน อย่างน้อยโถต้องรองรับได้ประมาณ 20 ลิตร

     โครงสร้างของโถปัสสาวะ อาจารย์พิสิฐ อธิบายว่า ประกอบด้วย      

     1. ส่วนฐาน เป็นที่รองรับน้ำหนักของส่วนโถปัสสาวะที่จัดให้เป็นสุขภัณฑ์เพื่อใช้ในการรองรับปัสสาวะและน้ำชำระ ไปยังถังเก็บปัสสาวะผ่านท่อปัสสาวะมีการติดตั้งตะแกรงดักกลิ่น (Bell Trap) ไว้ภายใน

     2. ส่วนชำระล้าง ที่ชำระล้างโดยการนำน้ำสะอาดที่เก็บอยู่ในถังเก็บน้ำสะอาด มาฉีดทำความสะอาดที่หัวฉีดผ่านท่อน้ำสะอาด

     3. ส่วนควบคุม ควบคุมการทำงานของส่วนชำระล้าง ซึ่งทำงานร่วมกับเซนเซอร์ที่มีไว้สำหรับตรวจจับระยะห่างของวัตถุ และควบคุมระบบตรวจสอบระดับน้ำในถังเก็บน้ำสะอาดและถังเก็บปัสสาวะ

     4. ส่วนฐาน มีการติดตั้งล้อเลื่อนด้านล่าง และส่วนอำนวยความสะดวก ที่ประกอบด้วยราวจับ ซึ่งมีฉากบังภายในราวจับเพิ่มเติม

     ภายนอกของโถต้องการทำให้คล้ายกับโถปัสสาวะติดผนังในท้องตลาดให้มากที่สุด เพื่อให้รู้สึกว่าใช้ง่าย friendly กับคนที่ใช้ และไม่รู้สึกแปลกแยกออกไป เพราะถ้าเราไปปัสสาวะในรูปร่างหน้าตาที่มันแตกต่างออกไป มันอาจทำให้มีอุปสรรคได้

     การประดิษฐ์ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดให้เป็นโถปัสสาวะชายเคลื่อนที่แบบจำกัดกลิ่น ที่ช่วยแก้ปัญหาของโถปัสสาวะชายเคลื่อนที่รูปแบบเดิม ที่มีปัญหาเรื่องกลิ่นไม่พึงประสงค์ ซึ่งยังช่วยให้ผู้ป่วยเพศชายสามารถปัสสาวะได้โดยสะดวก และสามารถเคลื่อนย้ายโถปัสสาวะไปใช้งาน ณ สถานที่ต่าง ๆ ได้แม้สถานที่นั้นจะขาดระบบไฟฟ้า ประปา หรือสุขาภิบาล ส่งผลให้มีสุขอนามัยในการขับถ่ายมากขึ้น ลดปัญหาระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล ลดจำนวนคนและระยะเวลาการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

     อาจารย์พิสิฐ เล่าต่อไปว่า จากจุดเริ่มต้นที่ทำก็คือคนไข้จิตเวช แต่พอเราทำแล้ว มันยังตอบโจทย์ได้กับกลุ่มผู้สูงอายุผู้ชาย ที่อาจจะต้องมีการปัสสาวะในห้องนอนซึ่งห้องน้ำอาจอยู่ไกล ก็สามารถนำไปติดตั้งในห้องนอนได้โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องต่อท่อน้ำ หรือว่าทำอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างของบ้าน ในอนาคตหวังว่าจะสามารถต่อยอดในเชิงของธุรกิจได้ เจาะเข้าไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุทางบ้าน เพื่อเอาไปตอบโจทย์การปัสสาวะภายในที่พักที่ง่ายขึ้น จะได้เป็นทางเลือกให้กับผู้สูงอายุหรือคนที่ต้องการใช้ภายในบ้านจริง ๆ  

     ในการทำนวัตกรรมแต่ละชิ้นนั้น อาจารย์พิสิฐ กล่าวว่า ไม่สามารถที่จะจบภายในครั้งเดียวได้ กล่าวคือ เราทำ เราทดลองใช้ เราจะเจอข้อบกพร่องเยอะมาก ก็ต้องทดลองปรับไปเรื่อย ๆ ปรับอย่างต่อเนื่อง และต้องให้การดูแลมันตลอด มันไม่สามารถจะหยุดที่จะพัฒนาได้ เพราะฉะนั้นทีมที่เราร่วมงานด้วยมันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทีมทั้งวิศวะฯ พยาบาล ทีมนักวิจัย ล้วนมีส่วนทำให้นวัตกรรมเหล่านั้นมันเกิดขึ้น แล้วก็นำไปใช้ได้จริง ๆ กับผู้ป่วย

     การใส่ใจในปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ในผู้ป่วยก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถหาทางแก้ไขให้ดีขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกิน การนอน การเข้าห้องน้ำ การดูแลตัวเอง การทำกิจวัตรประจำวัน เราสามารถที่จะพัฒนาสร้างนวัตกรรมได้ทุกปัญหา หากเรามองว่ามันแก้ได้ด้วยการพัฒนาด้วยนวัตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากกับการดูแลผู้ป่วย

     “นวัตกรรมมีความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เมื่อผู้ป่วยมีปัญหา หรือว่ามีสิ่งที่อยากให้พยาบาลช่วย ถ้าเราออกแบบคิดค้นประดิษฐ์ พัฒนาตัวนวัตกรรม ก็จะตอบโจทย์ปัญหาได้ อย่างของผมเป็นเรื่องของการปัสสาวะ มันก็สามารถที่จะลดปัญหาเรื่องของการดูแลที่ยุ่งยาก ลดปัญหาอุบัติเหตุ การเดินเข้าห้องน้ำได้”อาจารย์พิสิฐ กล่าวทิ้งท้าย